Lifestyle

‘Box house – Box office’ สุดยอดไอเดียโฮมออฟฟิศโครงสร้างเหล็ก

นอกจากความรู้ที่นิสิตนักศึกษาจะได้รับจากครูบาอาจารย์ที่มอบให้ในห้องเรียนแล้ว การเข้าร่วมกิจกรรมนอกรั้วมหาวิทยาลัย ที่ส่งเสริมให้นำความรู้ที่ได้เรียนมาใช้ ก็นับเป็นประสบการณ์สำคัญ ที่จะช่วยฝึกฝน และเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษา นำวิชาความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาทดสอบฝีมือก่อนจะเรียนจบออกไปทำงานจริง

บริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด หรือ SYS ผู้ผลิตเหล็กเอชบีม ไวด์แฟลงก์ เป็นอีกหนึ่งองค์กร ที่มีแนวคิดว่าความรู้ไม่ควรจำกัดอยู่เฉพาะในห้องเรียน จึงได้ส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาเปิดโลกการเรียนรู้ ด้วยการจัดประกวดสถาปัตยกรรมโครงสร้างเหล็กภายใต้ชื่อ SYS STUDENT DESIGN CONTEST “STEELABLE:  More Design By Modular”

ผู้บริหาร SYS
นายพงษ์ศักดิ์ แห่ล้อม

นายพงษ์ศักดิ์ แห่ล้อม ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด กล่าวว่า การประกวด SYS STUDENT DESIGN CONTEST เป็นโครงการที่จัดขึ้นทุกปี เพื่อส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาได้แสดงความรู้ความสามารถในการออกแบบ โดยใช้ศักยภาพของเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน มาสร้างสรรค์งานทางสถาปัตยกรรมที่สวยงาม อีกทั้งเป็นการส่งเสริมและเผยแพร่วิธีการออกแบบ และแนวคิดการใช้ Modular System ด้วยโครงสร้างเหล็ก โดยผ่านการประกวดแบบ เพื่อนำมาพัฒนาเป็นโครงสร้าง home office สำเร็จรูปรูปแบบใหม่

“ในปีนี้ SYS กำหนดโจทย์ให้ออกแบบโฮมออฟฟิศโครงสร้างเหล็กด้วยระบบ Steel Modular System โดยเชิญชวนให้นิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ มาร่วมแข่งขันเพื่อหาประสบการณ์นอกห้องเรียน และชิงทุนการศึกษารวม 1.7 แสนบาท ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีน้องๆ จากทั่วประเทศพร้อมใจกันส่งผลงานเข้ามาประกวดกว่า 360 ผลงาน ซึ่งแต่ละคนก็ได้แสดงไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ได้น่าสนใจมาก” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

อันดับ 1
Box house – Box office ผลงานที่ชนะอันดับ 1 ฝีมือการออกแบบของ นายสรวิชญ์ ชูช่วย

โดยปีนี้ ผลงานที่ชนะใจกรรมการคว้ารางวัลชนะเลิศมาครอง ได้แก่ Box house – Box office ซึ่งเป็นฝีมือการออกแบบของ นายสรวิชญ์ ชูช่วย นักศึกษาชั้นปีที่ 5 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา และยังมีผลงานที่ได้รับรางวัลในการประกวดครั้งนี้อีก 4 ผลงาน ประกอบด้วย รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ Nalipat Studio โดยนายจตุพัฒน์ แก้วบุญสง จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ The Breathe โดยนายธนพัทธ์ สัจจสวัสดิ์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตศาลายา รางวัลชมเชย 2 ผลงาน ได้แก่ Studio Steel โดยนายบุญฤทธิ์ นุชชาติ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตศาลายา และ ModuExpand House โดยนายสันติพัฒน์ ศรีรัตนมาศ จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

นายสรวิชญ์ ชูช่วย เจ้าของผลงาน Box house – Box office ที่คว้ารางวัลชนะเลิศเล่าถึงผลงานว่า Box house – Box office เป็นการออกแบบอาคารพาณิชย์ที่มีพื้นที่พักอาศัย และพื้นที่ทำงานรวมอยู่ด้วยกันในรูปแบบที่เรียกว่าโฮมออฟฟิศ โดยใช้กล่องเป็นคอนเซ็ปต์หลักในการออกแบบ และใช้เหล็กเป็นวัสดุหลัก อาคารมีลักษณะเหมือนกล่องซ้อนกันเป็นเลเยอร์

อันดับ 2
ผลงานได้รางวัลรองชนะเลิศดันดับ 1 ชือ Nalipat Studio โดยนายจตุพัฒน์ แก้วบุญสง

รูปทรงของอาคาร ที่มีลักษณะเหมือนกล่องทำให้เหลือเศษวัสดุน้อย แต่จะดูทึบตันและน่าเบื่อ จึงได้ลบจุดด้อยในเรื่องนี้ ด้วยการออกแบบให้กล่องมีลักษณะยื่นและยุบ เพื่อสร้างความน่าสนใจและดูโปร่งมากขึ้น จุดเด่นของอาคารนี้ คือ การใช้ระบบผนังถอดประกอบ ซึ่งทำให้สามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นการใช้งานได้ สามารถลดและเพิ่มพื้นที่ของห้อง ได้ตามลักษณะการใช้งาน รวมทั้งมีการออกแบบให้มีพื้นที่ส่วนกลางหรือ Co Working Space เพื่อให้ทุกคนสามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้

“ตอนแรกที่ทำงานชิ้นนี้ ไม่ได้ตั้งความหวังว่าจะได้เข้าประกวดเพื่อชิงรางวัล ทำเพราะเป็นส่วนหนึ่งของวิชาที่เรียน แต่เมื่อได้ลงมือทำและผ่านเข้ารอบมา ทำให้คิดใหม่ว่าการทำงานนี้ ทำให้ได้สิ่งดีๆ ที่นอกเหนือไปจากคะแนนเก็บ เพราะได้ทั้งประสบการณ์ ที่สำคัญที่สุด คือได้คำแนะนำดีๆ จากคณะกรรมการ ซึ่งทุกท่านเป็นมืออาชีพ มาชี้แนะให้เราเห็นจุดบกพร่องที่ต้องพัฒนาปรับปรุง เป็นประสบการณ์ที่มีค่ามาก” สรวิชญ์ กล่าว

อันดับ 3
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ The Breathe โดยนายธนพัทธ์ สัจจสวัสดิ์

สำหรับคณะกรรมการตัดสินโครงการ SYS STUDENT DESIGN CONTEST 2018 ล้วนเป็นที่มีชื่อเสียงและมีผลงานมาแล้วมากมาย ประกอบด้วย เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ จาก A49 HD สุรชัย เอกภพโยธิน จาก Office AT และ จูน เซคิโน จาก Junsekino Architect and Design

นายเกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ กล่าวถึงผลงาน Box house – Box office ว่า งานชิ้นนี้ดูเผินๆ ค่อนข้างเรียบง่าย แต่มีจุดเด่นตรงการออกแบบที่เรียกว่า Interlocking Space ที่ทำให้การใช้พื้นทึ่ของแต่ละชั้นเชื่อมโยงไหลลื่นต่อเนื่องกัน ซึ่งน้องทำได้ดี ทำให้งานมีความน่าสนใจมากขึ้น

Avatar photo