Economics

‘บินไทย’ เตรียมจบดีลขายเครื่องบินเก่า 16 ลำ 4 พันล้าน

‘บินไทย’ เตรียมจบดีลขายเครื่องบินเก่า 16 ลำ มูลค่า 4,000 ล้านบาท คาดบันทึกกำไรได้ตั้งแต่ไตรมาสแรกปีนี้ ขณะเดียวกันเตรียมส่งแผนจัดหาเครื่องบินใหม่ 38 ลำ 2 แสนล้านบาทเข้าคมนาคมวันศุกร์นี้ (18 ม.ค.) ยอมรับกังวลเรื่องหนี้สูงถึง 8 เท่าเทียบกับทุน

suu1

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทยเตรียมส่งเรื่องการจัดหาเครื่องบินใหม่ 38 ลำ มูลค่า 2 แสนล้านบาท ภายใต้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2554 ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในวันที่ 18 มกราคมนี้ หรืออย่างช้าไม่เกินสัปดาห์หน้า หลังจากนั้นจะเสนอเรื่องให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามลำดับ

เบื้องต้นการบินไทยวางแผนจะจัดหาเครื่องบินเต็มกรอบ 38 ลำ เพื่อทดแทนเครื่องบินเก่าที่กำลังจะปลดระวางจำนวน 31 ลำ ซึ่งการบินไทยต้องเร่งจัดหาเครื่องบินใหม่ เพราะตอนนี้เครื่องบินเก่าเริ่มส่งสัญญาณเรื่องประสิทธิภาพแล้ว ถ้าหากไม่เร่งรัดจัดหา จะเกิดปัญหาเรื่องการบริหารฝูงบินได้

การจัดหาฝูงบินใหม่แบ่งเป็น 2 ระยะ

  • ระยะที่ 1 จัดหาเครื่องบินใหม่จำนวน 25 ลำ เพื่อทดแทนเครื่องบินเก่า 19 ลำ
  • ระยะที่ 2 จัดหาเครื่องบินใหม่จำนวน 13 ลำ เพื่อทดแทนเครื่องบินเก่า 12 ลำ

นายสุเมธ กล่าวว่า ถ้าหากการบินไทยดำเนินการจัดหาเครื่องบินได้ 38 ลำตามแผน จะส่งผลให้เครื่องบินในฟลีตการบินไทยเพิ่มขึ้นจาก 101 ลำในปัจจุบัน เป็น 110 ลำ

โดยตามปกติแล้ว ขั้นตอนการจัดหาจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี จึงเริ่มส่งมอบเครื่องบินลำแรกได้ แต่ตอนนี้ค่อนข้างกังวลว่า การส่งมอบเครื่องบินจะล่าช้ากว่านั้น เนื่องจากผู้ผลิตเครื่องบินโดยสาร 2 รายใหญ่ของโลก มีคำสั่งซื้อรวมกันเป็นพันลำ ถ้าหากการบินไทยสั่งซื้อเครื่องบินช้า ผู้ผลิตอาจจะไม่สามารถส่งมอบได้ตามเวลา

“เครื่องบินใหม่ 38 ลำ จะมาทดแทนเครื่องบินเก่า 31 ลำ ในช่วง 5 ปี โดยเน้นเพิ่มความถี่มากขึ้นในตลาดเดิม และจะช่วยให้ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารซึ่งคิดเป็นที่นั่งต่อกิโลเมตร (Available Seat-Kilometers : ASK) จะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 3% ต่อปี โดยเบื้องต้นเชื่อว่าเครื่องบินฝูงใหม่จะรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 7 ปี”

25611016 ๑๘๑๒๐๔ 0013

กังวลฐานะการเงิน D/E สูง 8 เท่า

นายสุเมธ กล่าวต่อว่า เมื่อ ครม. เห็นชอบกรอบการจัดหาเครื่องบิน 38 ลำแล้ว การบินไทยก็จะตั้งคณะกรรมการจัดหาตามขั้นตอน เพื่อกำหนดสเปค ราคา รูปแบบการจัดหาที่เหมาะสม คาดว่าจะรับมอบเครื่องบินรับแรกได้เร็วที่สุดในปี 2564

อย่างไรก็ตามยอมรับว่าการบินไทยยังต้องพิจารณาเรื่องแหล่งเงินทุนในการจัดหาเครื่องบินให้เรียบร้อยก่อน

“สถานะตอนนี้การบินไทยมีหนี้สินต่อทุน (D/E) 8 เท่า โดยในระหว่าง 2-3 เดือนข้างหน้า เราจะต้องสรุปแหล่งเงินทุนให้ครบหมด เพราะเรามี D/E ที่สูง ผู้บริหารและบอร์ด จึงมอบว่าการซื้อตามแผนไม่ใช่คำตอบ อาจต้องปรับทั้งหมดให้สอดคล้องกันใหม่ แต่ตอนนี้ยังบอกรายละเอียดไม่ได้”

นายสุเมธ กล่าวถึงการดำเนินธุรกิจในปี 2562 ว่า การแข่งขันในธุรกิจการบินจะรุนแรงไม่แตกต่างจากปีก่อนๆ ทั้งอุตสาหกรรมยังคงได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ผันผวน ซึ่งให้ราคาตั๋วสูงขึ้นและลดแรงจูงใจของผู้โดยสาร

เบื้องต้นคาดว่าอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ในปีนี้จะอยู่ที่ 75-78% ใกล้เคียงกับปีก่อน และกำไรจะการดำเนินงาน (Operating Profit) ใกล้เคียงกับปีก่อนเช่นกัน เนื่องจากาการบินไทยมีจำนวนฝูงบินเท่าเดิม โดยปีนี้การบินไทยจะเน้นรักษาการบริการให้นิ่งที่สุดและบริหารต้นทุน เพื่อเพิ่มกำไรจากการดำเนินงานให้มากขึ้น

เล็งเช่าเครื่องบินเพิ่ม 2 ลำ

นอกจากนี้ การบินไทยจะเน้นเพิ่มรายได้และกำไรจากธุรกิจเสิรมให้มากขึ้น เช่น ครัวการบินไทย ธุรกิจขายสินค้าที่ระลึก รวมถึงธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ที่สนามบินอู่ตะเภาและสนามบินดอนเมือง ในส่วนของสนามบินดอนเมืองอยู่ระหว่างหารือประเด็นต่างๆ อีก 2-3 ประเด็นจึงได้ข้อสรุป

“เราจะเน้นทำธุรกิจเสริม เพราะธุรกิจหลักอย่างฝูงบินไม่สามารถขยายได้ โดยฝ่ายบริหารหารือกันว่าจะเช่าเครื่องบินอย่างน้อย 2 ลำ ลำละ 300 ที่นั่งมาให้บริการก่อนระหว่างที่ยังไม่สามารถจัดหาฝูงบินใหม่ได้ เพราะการบินไทยยังได้รับความไว้วางใจและมีผู้โดยสารชื่นชอบ โดยคาดว่าทั้ง 2 ลำจะทำให้ ASK ของการบินไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 2.5%”

suu2

‘สุเมธ’ นั่งประธานบอร์ด ‘ไทยสมายล์’ เอง

นายสุเมธ กล่าวถึงสายการบินไทยสมายล์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกว่า ตนเพิ่งหารือกับบอร์ดการบินไทยว่า จะปรับปรุงสายการบินไทยสมายล์ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยตอนนี้ตนได้เข้าไปนั่งเป็นบอร์ดไทยสมายแล้ว และจะรับตำแหน่งเป็นประธานบอร์ดไทยสมายล์ด้วย เพื่อให้นโยบายระหว่าง 2 บริษัทเชื่อมต่อกันได้แบบคล่องตัว

ทั้งนี้ เชื่อว่าถ้าหากลดต้นทุนได้ ก็จะทำให้ไทยสมายล์ผ่านวิกฤติไปได้ โดยไทยสมายล์คงยังไม่มีกำไร เพราะที่ผ่านมาไทยสมายล์ขาดทุนมหาศาล แต่ถ้าหากไทยสมายล์มีผลประกอบการขาดทุนลดลงหรือเท่าทุนได้ ก็ถือว่าดีแล้ว

ด้านสายการบินนกแอร์ ต้องรอให้มีความชัดเจนเรื่องการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อเพิ่มทุนในวันที่ 22 มกราคม 2562 ก่อน จากนั้น การบินไทยจึงวิเคราะห์ว่าจะวางตำแหน่งตัวเองอย่างไรในนกแอร์ แต่การบินไทยก็ ‘Passive’ อยู่แล้ว เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 มีสัดส่วนใหญ่กว่ามาก

ขายเครื่องบิน 16 ลำ รับรู้รายได้ 4,000 ล้านบาท

นายสุรชัย เพียรเจริญศักดิ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายช่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บอร์ดการบินไทยเห็นชอบให้จำหน่ายเครื่องบินทั้งหมด 20 ลำ

ในจำนวนนี้ 16 ลำ มูลค่า 4,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างการเจรจาและลงนามในสัญญาซื้อขายกับผู้ซื้อจำนวน 3 ราย คาดว่าจะเริ่มบันทึกรายได้ได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 จนถึงทั้งปี 2562

ด้านเครื่องบินอีก 4 ลำ ที่เตรียมประกาศขาย ได้แก่ แอร์บัส 300-600 จำนวน 1 ลำ, แอร์บัส 340-500 จำนวน 1 ลำ และเครื่องบินโบอิ้ง 737-400 จำนวน 2 ลำ

Avatar photo