Economics

6 โรงกลั่นพร้อมเร่งรัดปรับมาตรฐานน้ำมันเป็นยูโร 5 ช่วยลดมลพิษอากาศ

วันนี้ ( 16 ม.ค.) กรมธุรกิจพลังงานได้หารือกับโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 6 แห่งประกอบด้วย โรงกลั่นของ บริษัทไทยออย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือพีทีที จีซี บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)  เพื่อปรับปรุงมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงเป็น ยูโร 5 เพื่อลดค่าฝุ่นละออง และมลพิษสิ่งแวดล้อมจากน้ำมันในระยะยาว

13390

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานมีความห่วงในสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในกรุงเทพ และปริมณฑล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจึงให้มีการหารือกับโรงกลั่นน้ำม้น เพื่อเร่งรัดแผนการปรับปรุงน้ำมันมาตรฐานเป็น ยูโร 5 โดยเร็ว

โดยโรงกลั่นต่างยินดี และต้องการมีส่วนช่วยเหลือสังคม ประกอบกับหลายๆโรงกลั่นมีแผนปรับคุณภาพน้ำมันไปสู่ยูโร 5 อยู่แล้ว เช่น ไทยออล์ บางจาก และพีทีที จีซี จึงให้โรงกลั่นทั้งหมดเสนอแผนปรับปรุงคุณภาพน้ำมันมาให้ชัดเจน เพื่อให้การปรับปรุงมาตรฐาน สามารถทำได้เร็วขึ้นจากแผนเดิมแล้วเสร็จปี 2566-2567

“ปัจจุบันกรมควบคุมมลพิษอยู่ระหว่างการศึกษาการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันไปสู่ยูโร 5 ในภาพรวม แต่มีกระบวนการที่ต้องทำหลังจากศึกษาเสร็จ คือ เข้าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และประกาศอย่างเป็นทางการ  จึงให้ทางโรงกลั่นดำเนินการไปก่อน ไม่ต้องรอประกาศจากกรมควบคุมมลพิษ”

โดยคุณภาพน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 ช่วยลดค่ากำมะถันเหลือไม่เกิน 10 ppm จากยูโร 4 ไม่เกิน 50 ppm ส่วนสารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน ในสวนดีเซลเหลือสูงสุดไม่เกิน 8% โดยน้ำหนัก จากยูโร 4 ไม่เกิน 11% โดยน้ำหนัก

สำหรับโครงการลงทุนปรับปรุงคุณภาพน้ำมันของโรงกลั่นนั้น หลายปีก่อนมีการศึกษาว่าต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 35,000 ล้านบาท ใช้เวลา 5 ปีในการปรับปรุงกว่าจะเป็นมาตรฐานยูโร 5 ทั้งเบนซิน และดีเซล ส่วนโครงสร้างราคาน้ำมันตามมาตรฐานใหม่นั้นทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างการศึกษา

โครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเป็นมาตรการระยะยาวในการช่วยลดมลพิษ ส่วนมาตรการระยะสั้นนั้น กระทรวงพลังงานส่งเสริมการใช้ดีเซล บี 20 ในรถขนาดใหญ่ เช่น รถบรรทุก  ซึ่งหลังจากให้การส่งเสริม โดยมีส่วนต่างจากราคาดีเซล 3 บาทเป็น 5 บาทต่อลิตร เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ หมดระยะการส่งเสริม 5 บาทในว้นที่ 28 กุมภาพันธ์นี้

โดยพบว่ามียอดการใช้ดีเซลบี 20 เพิ่มขึ้นจาก 3.5 ล้านลิตรต่อเดือนในช่วงพฤศจิกายน 2561 เป็น 5.2 ล้านลิตรต่อเดือนในช่วงธันวาคม 2561 และกระโดดเป็น 10 ล้านลิตรในเดือนมกราคม 2562 หลังจากรถบขส และขสมก.เข้ามาใช้ดีเซล บี 20  ทำให้ยอดเพิ่มมาอีก 4.5 ล้านลิตรต่อเดือน และขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งเสริมให้มีการจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันจากปัจจุบันเติมในฟีทรถขนาดใหญ่ เช่น รถบรรทุกเป็นหลัก  ซึ่งดีเซลบี 20 ช่วยลดค่าฝุ่นละออง 10% รวมถึงลดคาร์บอนมอนอกไซด์ และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์

13391

ด้านตัวแทนจาก บริษัท ไทยออยล์ กล่าว่า ไทยออยล์ดำเนินโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำม้นเป็น ยูโร 5 มาแล้วบางส่วน ตามโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) ลงทุน 4,825 ล้านดอลลาร์ ทำให้กำลังการกลั่นน้ำมันดิบ เพิ่มจาก 275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้จากการที่กรมธุรกิจพลังงานหารือกับโรงกลั่นนั้น ทางโรงกล้่นพร้อมให้การสนับสนุนในการเร่งรัดการปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน อย่างไรก็ตามมีข้อเสนอให้ลดภาระของโรงกลั่นในการให้สิทธิประโยชน์บีโอไอในโครงการลงทุนครั้งนี้

Avatar photo