Politics

กฎเหล็กกกต.!! กดไลค์ใส่ร้ายเจอใบแดง- ห้ามช่วยซองงานศพ-งานบวช

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง  (กกต.) ชี้แจงกรณีราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ส.ส. และประกาศกกต. จำนวน 9 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการเลือกตั้งว่า ระเบียบดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เมื่อ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง

การออกระเบียบ กกต.ได้คำนึงถึงกฎหมายกำหนดการหาเสียงของผู้สมัคร และพรรคการเมืองต้องเป็นไปอย่างเท่าเทียมกัน  กฎหมายยังกำหนดให้รัฐสนับสนุนการหาเสียงให้พรรคการเมือง  ทำให้กกต.กำหนดค่าใช้จ่ายแบบแบ่งเขตไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และแบบบัญชีรายชื่อไม่เกิน 35 ล้านบาท

พันตำรวจเอก จรุงวิทย์ ภุมมา1
จรุงวิทย์ ภุมมา

 หาเสียงผ่านเฟซบุ๊ก-ไลน์ -แอพคิดเป็นค่าใช้จ่าย

สำหรับรายละเอียดการหาเสียงในโซเชียลมีเดีย กำหนดให้ผู้สมัครหาเสียงได้ทั้งในเฟซบุ๊ก ไลน์ และแอพพลิเคชันต่างๆ คิดเป็นค่าใช้จ่าย ผู้สมัครต้องแจ้งต่อ กกต. ก่อนการหาเสียง เพื่อป้องกันการแอบอ้าง อวตาร หรือการสวมรอย สวมชื่อเฟซบุ๊กแล้วนำไปหาเสียงโจมตีผู้อื่น

“ประเด็นโซเชียลมีเดีย ทางประธานให้ความสำคัญจะดูเอง กกต.จะตั้งวอร์รูมตรวจสอบ ทำความตกลงกับเจ้าของเว็บไซต์  เว็บเพจ เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ หากพบโพสต์ข้อความไม่ถูกต้อง ใส่ร้ายป้ายสี จะประสานให้ผู้โพสต์ลบทิ้ง หากไม่ลบจะให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการ กรณีโพสต์มาจากต่างประเทศจะประสานตัวแทนในไทยให้ลบ จะเตือนไปยังผู้สมัครให้ระวังการกดแชร์ กดไลค์ กองเชียร์ กองแช่ง มีเยอะ  ถ้าเป็นการกดแชร์หรือไลค์ข้อความใส่ร้าย นอกจะผิดอาญาข้อหาหมิ่นประมาทแล้ว ยังจะมีความผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และผิดกฎหมายเลือกตั้ง มีโทษใบแดง”

กกต.4

 กกต.วางเกณฑ์ติดป้ายหาเสียง

การติดป้ายประกาศหาเสียงเลือกตั้ง ผู้สมัครสามารถจัดทำป้ายขนาดเอ 3 จำนวนไม่เกิน 10 เท่าของหน่วยเลือกตั้ง หรือประมาณ 270 ต่อเขตเลือกตั้ง ส่วนป้ายขนาด 130 X 245 ซม. ติดได้ไม่เกิน 2 เท่าของหน่วยเลือกตั้ง หรือ 540 แผ่นต่อเขตเลือกตั้ง  ป้ายทั้ง 2 แบบ จะติดได้ในสถานที่ที่ผอ.กกต.เขต กำหนดเท่านั้น

ส่วนแผ่นป้ายหาเสียง ขนาด 400 X 750 ซม. ติดได้ที่หน้าที่ทำการพรรคหรือสาขาพรรค เขตเลือกตั้งละ 1 ป้าย  ขอให้พึงระวัง อย่าพิมพ์หรือติดป้ายเกิน เพราะมีโทษอาญา อาจถูกคู่แข่งไปแจ้งความ เนื่องจากมีโทษทางอาญา จำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่ป้ายติดรถหาเสียงและเวทีหาเสียง จะถูกควบคุมด้วยค่าใช้จ่าย  เนื้อหาและรูปภาพในป้ายหาเสียง เช่น คำขวัญ นโยบาย รูปของผู้สมัคร กรรมการบริหารพรรค และผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี  หัวหน้าและสมาชิกพรรคเท่านั้น ส่วนใบปลิวและวีดิทัศน์ห้ามโปรยห้ามวาง ต้องแจกกับมือผู้มีสิทธิเลือกตั้งเท่านั้น

สำหรับผู้ช่วยหาเสียงหรือคนเดินแจกใบปลิว  ให้ผู้สมัครแบบแบ่งเขตมีผู้ช่วยหาเสียงได้ไม่เกิน 20 คน พรรคการเมืองละไม่เกิน 10 เท่า ของเขตเลือกตั้งที่ส่งผู้สมัคร อนุญาตให้เปลี่ยนได้ไม่เกิน 3 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ใน 3 เพราะผู้ช่วยหาเสียงต้องรับค่าแรง กฎหมายจึงต้องป้องกันการเอาเงินค่าซื้อเสียงไปแบ่งให้ผู้ช่วยหาเสียง และป้องกันคนที่มีทุนเยอะ มีเงินจ้างผู้ช่วยหาเสียงได้มาก

กกต.จัดเวลาเองหาเสียงผ่านวิทยุ-โทรทัศน์

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ในการหาเสียงทางวิทยุ และโทรทัศน์ ผู้สมัครจะดำเนินการเองไม่ได้  กกต.จะจัดสรรเวลาออกอากาศให้ พรรคละไม่เกิน 10 นาที กฎหมายยังเพิ่มเติมการดีเบตนโยบาย หรือประชันนโยบายของพรรคการเมือง โดยจัดเป็นกลุ่มพรรคการเมือง 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นพรรคที่ส่งผู้สมัครตั้งแต่ 300-350 เขต กลุ่มที่ 2 ส่งผู้สมัครตั้งแต่ 200-299 เขต และกลุ่มที่ 3 ส่งผู้สมัครตั้งแต่ 199 เขตลงมา  สถาบันการศึกษาหรือองค์กรวิชาชีพต่างๆ สามารถจัดดีเบตได้ ต้องยึดหลักความเท่าเทียมกัน

ถามว่ากรณีบางพรรคการเมืองมีเครือข่ายเป็นเจ้าของสื่อโทรทัศน์ จะให้น้ำหนักการเสนอข่าวอย่างไร พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า หากมีการร้องเข้ามา กกต.ต้องไปตรวจสอบ สำหรับเจ้าของสื่อกฎหมายเขียนห้ามไว้แล้ว การนำเสนอข่าวต้องเท่าเทียมกันทุกพรรคการเมือง ทำข่าวได้ หาเสียงไม่ได้

ส่วนลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงห้ามผู้สมัคร ห้ามผู้สมัครพรรคการเมืองใช้ผู้ประกอบอาชีพ เจ้าของกิจการวิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน สื่อโฆษณา เอื้อประโยชน์ หาเสียงให้กับตน เว้นแต่ถ้าบุคคลนั้นเป็นผู้สมัครสามารถใช้ความรู้ความสามารถทางศิลปะของตนเองในการหาเสียงได้ แต่ต้องไม่ใช้อุปกรณ์

S 10936341 1

 ห้ามช่วยซองงานบุญ-งานบวช-งานศพ

กรณีการช่วยซองงานบุญ งานบวช หรืองานศพ ทำไม่ได้ แม้แต่การวางพวงหรีดก็ทำไม่ได้ เพราะเป็นทรัพย์สินที่ตีเป็นมูลค่าได้ อาจเข้าลักษณะหาเสียง และเป็นพฤติการณ์ที่สุ่มเสี่ยง

ส่วนการขอใช้สถานที่ราชการในการหาเสียงของพรรคการเมืองเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่เจ้าของสถานที่ต้องคำนึงถึง ความเท่าเทียมกันหรือให้ทุกพรรคสามารถใช้สถานที่ได้  เจ้าของสถานที่ต้องวางตัวเป็นกลาง

เมื่อถามถึงกรณีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จะเชิญกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำท้องถิ่น มาเตรียมความพร้อม การจัดการเลือกตั้ง เลขาธิการกกต. กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่ากอ.รมน. ได้ประสานมายังกกต.หรือไม่ แต่กกต.ไม่มีอำนาจจะเข้าไปดูตรงนี้

เมื่อถามถึงนายทักษิณ ชินวัตร จะจัดรายการ “กู๊ดมันเดย์” อาจมีเนื้อหาช่วยหาเสียงให้กับบางพรรคสามารถทำได้หรือไม่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ หลีกเลี่ยงที่จะตอบโดยอ้างว่า ถ้าเป็นเรื่องของการกระทำว่าอย่างนี้แล้วผิดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตีความจะให้มาตอบตอนนี้ไม่ได้ ยกเว้นเป็นคดีขึ้นมาจะไปตรวจสอบ

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่าขณะนี้กกต.ยังรอการประกาศพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีเมื่อไหร่  รัฐบาลยังไม่ได้ประสานมา มีเพียงการประสานถึงงานพระราชพิธีว่า จะมีในวันไหนบ้าง ในส่วนของกกต.ได้พูดคุยกันว่าจะจัดการเลือกตั้งและประกาศผลภายใน 150 วัน นับแต่พรป.เลือกตั้งส.ส.ใช้บังคับ ภายใน 9 พฤษภาคม 2562

ส่วนถ้ามีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม ระยะเวลาการประกาศผลก่อนวันที่ 9 พฤษภามคมรวมแล้ว 45 วัน เชื่อว่ากกต.สามารถทำได้  แม้ว่าระยะเวลาดังกล่าวค่อนข้างจะบีบและกฎหมายยังกำหนดให้กกต.ต้องรับฟังความเห็นของผู้ตรวจการเลือกตั้งว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตหรือไม่ด้วย

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight