Business

หนุนสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายศรีรัช-เมืองทองฯ

สาโรจน์ 780x405

วันนี้ (28 เม.ย.2561) นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ ผู้ช่วยผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เป็นประธานเปิดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ในงานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี (สถานีศรีรัช-เมืองทองธานี) มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน นายสาโรจน์ เปิดเผยว่า การศึกษาส่วนต่อขยายสายสีชมพู สถานีศรีรัช-เมืองทองธานี เพื่อเพิ่มศักยภาพการเดินทางของประชาชนจากบริเวณถนนแจ้งวัฒนะเข้าสู่พื้นที่เมืองทองธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยหนาแน่นและเป็นที่ตั้งของหน่วยงานต่างๆ เช่น ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี เอสซีจี สเตเดี้ยม ธันเดอร์โดม และ มสธ.เนื่องจากสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มีแนวเส้นทางวิ่งตามถนนติวานนท์ ถนนแจ้งวัฒนะ และถนนรามอินทราไปจนถึงเขตมีนบุรี เพื่อรองรับพื้นที่อยู่อาศัยแหล่งพาณิชย์ และเดินทางเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพเทพฯ และเชื่อมต่อรถไฟฟ้าหลัก 4 สาย ได้แก่ สายสีม่วง, สายสีแดง, สายสีเขียว และ สายสีส้ม ให้มีความสะดวกมากขึ้นและลดปัญหาจราจรติดขัด

ส่วนต่อขยายสายสีชมพู สถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กม. เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) ที่มีสมรรถนะสูงรองรับด้วยโครงสร้างยกระดับตลอดแนวเส้นทาง มีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณสถานีศรีรัช ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี สายหลัก ไปทางทิศตะวันตกและเลี้ยวขวาเข้าสู่เมืองทองธานีไปตามซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 แนวทางเดียวกับทางพิเศษอุดรรัถยา ต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี โดยมีสถานีรับส่งผู้โดยสาร 2 สถานี ได้แก่ สถานี MT-01 บริเวณอิมแพ็คชาเลนเจอร์ และ สถานี MT-02 บริเวณด้านหน้าทะเลสาบเมืองทองธานี
ทั้งนี้มีขอบเขตพื้นที่ศึกษาอยู่ห่างจากศูนย์กลางแนวเส้นทางข้างละ 500 เมตรครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ต.บางตลาด, ต.คลองเกลือ และ ต.บ้านใหม่ ในพื้นที่เทศบาลนครปากเกร็ด อ.ปากเกร็ด

มูลค่าก่อสร้างเบื้องต้นกิโลเมตรละ 1,000 ล้านบาท

เริ่มศึกษามาตั้งแต่ เดือนมกราคม 2561 จะแล้วเสร็จเดือนกรกฎาคม 2561 หากพบว่ามีความเหมาะสมจะนำเสนอไปกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติดำเนินการไม่เกินเดือนมิถุนายน 2562 หลังจากนั้นเริ่มก่อสร้างและเปิดให้บริการปี 2564 ให้ทันเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูหลัก คาดว่าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเมื่อเปิดให้บริการมีผู้ใช้บริการหลายหมื่นคนต่อวัน ส่วนมูลค่าการก่อสร้างเบื้องต้นคาดการณ์ กิโลเมตรละ 1,000 ล้านบาท ขณะนี้ยังไม่ได้ประเมินมูลค่าลงทุนและกำหนดอัตราค่าโดยสาร เพราะอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นออกแบบรายละเอียดโครงการที่ชัดเจน ส่วนการเวนคืนไม่มี เนื่องจากใช้แนวเกาะกลางถนนเป็นหลัก

27747352 1558708050902679 3895328923376904804 o
รถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย เป็นแนวคิดที่ผู้ได้รับสัมปทานสายสีชมพูต้องการให้ รฟม. พิจารณาศึกษาความเหมาะสม มีความเป็นไปได้ว่าผู้ได้รับสัมปทานสายสีชมพู จะเป็นผู้ดำเนินการส่วนต่อยายด้วยเพราะมีระยะทางสั้นแค่ 3 กม. ถ้าให้เอกชนรายอื่นเข้ามาลงทุนจะไม่คุ้มค่า เพราะมีการสร้างทำศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า (เดปโป้) และจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า เพื่อนำมาให้บริการเฉพาะช่วงส่วนต่อขยาย
ด้านผู้เข้าร่วมประชุมต่างเห็นด้วยกับการสร้างสายสีชมพูส่วนต่อขยาย เพราะจะทำให้สะดวกไม่เสียเวลาเดินทาง ช่วยบรรเทาจราจรติดขัดในเมืองทองธานี และเป็นทางเลือกที่ดีให้คนใช้รถไฟฟ้า เดินทางเข้าเมืองมากกว่าใช้รถยนต์ เพราะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและลดมลงพิษได้ ที่สำคัญดีใจที่เมืองทองธานีมีรถไฟฟ้าใช้ ขณะเดียวกันกังวลแนวเส้นทางที่ใช้แนวทางเดียวกับทางพิเศษอุดรรัถยา ทำให้ส่งผลกระทบโครงการของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ในอนาคตที่จะขยายทางด่วนเส้นดังกล่าวไปถึง จ.สระบุรีหรือไม่ ตลอดจนเสนอให้ผู้ที่มีทะเบียนบ้านในเมืองทองธานีได้รับสิทธิพิเศษส่วนลดอัตราค่าโดยสาร 50% ตลอดชีพ เพราะคนเมืองทองธานีปัจจุบันได้รับผลกระทบคนภายนอกนำรถเข้ามาส่งผลกระทบให้รถติด รวมทั้งตอนก่อสร้างคนเมืองทองได้รับความเดือดร้อน การจัดระบบจราจรระหว่างก่อสร้าง

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight