Media

มายด์แชร์ชี้โฆษณาปี 62 พุ่ง 1.24 แสนล้าน ‘สื่อดิจิทัล’แชมป์โต

เป็นประจำทุกปีกับการประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาของ “มายด์แชร์” เอเยนซี่เครือข่ายด้านการตลาดและการสื่อสารในเครือ WPP Network กับมุมมอง Outlook 2019  โดยปีนี้มายด์แชร์ คาดการณ์งบโฆษณา ปี 2562  มีมูลค่า 124,205 ล้านบาท เติบโต 4.8%  โดยมีปัจจัยบวกจากทิศทางเศรษฐกิจเติบโต ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นโยบายรัฐบาลและการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

สำหรับคาดการณ์เม็ดเงินโฆษณา ปี 2562 หากแยกประเภทรายสื่อ  “ทีวี” ยังครองเม็ดเงินสูงสุดที่ 58% หรือมีมูลค่า  72,950 ล้านบาท เติบโต 4.1%   แบ่งเป็น ทีวีอนาล็อก (ช่อง 3,5,7,9) มูลค่า 37,500 ล้านบาท ติดลบ 2.5% , ทีวีดิจิทัล 33,500 ล้านบาท เติบโต 14.2%  ส่วนเคเบิล/ทีวีดาวเทียม มูลค่า 1,950 ล้านบาท ติดลบ 14.9%

thumbnail linda
ปัทมวรรณ สถาพร

ปัทมวรรณ สถาพร  กรรมการผู้จัดการ มายด์แชร์ กล่าวว่าแม้สัดส่วนงบโฆษณาทีวีอนาล็อกและทีวีดิจิทัล เริ่มเข้ามาใกล้กัน แต่ทีวีดิจิทัล ยังไม่สามารถแซงได้ในปีนี้ หรือปีหน้า เพราะทั้งช่อง 7 และช่อง 3 ยังคงมีฐานผู้ชมที่แข็งแกร่ง แม้จะมีทิศทางลดลงตั้งแต่ทีวีดิจิทัลเริ่มออกอากาศก็ตาม

ปี 2562  สื่อหลักที่ครองเม็ดเงินโฆษณา คือ ทีวี สื่อนอกบ้าน (ป้ายโฆษณา,สื่อเคลื่อนที่และอินสโตร์) และสื่อดิจิทัล  โดยทีวี ยังเป็นสื่อหลักที่เข้าถึงผู้ชมวงกว้างได้อย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับสื่ออื่นๆ  กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ที่ต้องการเข้าถึงตลาดแมสจึงยังใช้งบโฆษณาผ่านสื่อทีวี

ขณะที่สื่อนอกบ้าน เข้าถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตเมือง อีกทั้งสื่อมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ด้วยรูปแบบป้ายโฆษณาดิจิทัล  และสื่ออินเทอร์เน็ต หรือสื่อดิจิทัล ยังครองแชมป์การเติบโตสูงสุดในปีนี้ ด้วยมูลค่า 18,000 ล้านบาท เติบโต 20.5%

คาดการณ์งบโฆษณา ปี 2562 01

ปัจจุบันการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายในกรุงเทพฯ จะใช้งบโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์สัดส่วน 50%  ส่วนออฟไลน์ทุกสื่อรวมกัน 50%  แต่หากเป็นการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายต่างจังหวัดสัดส่วนออฟไลน์ยังคงสูงกว่า แต่ออนไลน์ก็ขยับเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน

ขณะที่กลุ่มสื่อดั้งเดิม โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ ทั้งหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ยังคงอยู่ในภาวะ “ถดถอย” ต่อเนื่องในอัตราสูง จากพฤติกรรมการเสพสื่อดังกล่าวของผู้บริโภคลดลง  ที่ผ่านมาสื่อดั้งเดิมได้ปรับตัวสู่แพลตฟอร์มออนไลน์แล้วเช่นกัน  ซึ่งรูปแบบการซื้อสื่อดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็น สื่อสิ่งพิมพ์ และวิทยุ จะซื้อเป็นแพ็คเกจทั้งออฟไลน์และออนไลน์ โดยไม่ได้แยกซื้อออฟไลน์เพียงอย่างเดียว ดังนั้นเม็ดเงินโฆษณาของสื่อดั้งเดิมจึงกระจายตัวไปที่สื่อออนไลน์มากขึ้น

1212

สำหรับอุตสาหกรรมโฆษณาปี 2561  จากฐานข้อมูลของนีลเส็นและ DAAT สรุปมูลค่า 118,480 ล้านบาท เติบโต 5.7%  ประกอบด้วย

  • ทีวี มูลค่า 70,066  ล้านบาท  เติบโต 7%  (ทีวีอนาล็อก  มูลค่า 38,448  ล้านบาท  ติดลบ 6.1%, ทีวีดิจิทัล มูลค่า 29,325 ล้านบาท  เติบโต 34.3%  และ เคเบิล/ทีวีดาวเทียม  มูลค่า 2,292  ล้านบาท ติดลบ 14.8%)
  • วิทยุ มูลค่า 4,791 ล้านบาท  เติบโต 7.2%
  • หนังสือพิมพ์ มูลค่า 6,099  ล้านบาท  ติดลบ 20.8%
  • นิตยสาร  มูลค่า 1,313  ล้านบาท ติดลบ 33.7%
  • สื่อในโรงภาพยนตร์ มูลค่า 7,312 ล้านบาท  เติบโต 7.3%
  • ป้ายโฆษณา มูลค่า 6,832  ล้านบาท  เติบโต 7%
  • สื่อเคลื่อนที่ มูลค่า 6,097 ล้านบาท เติบโต 3.4%
  • อินเทอร์เน็ต (ข้อมูล DAAT) มูลค่า 14,942 ล้านบาท เติบโต 20.5%

จากข้อมูลการใช้งบโฆษณาในปี 2561 จะเห็นได้ว่า สื่อที่มีอัตราการเติบโตสูง คือ ทีวีดิจิทัล เนื่องจากเรตติ้งขยับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ช่องฟรีทีวีรายเดิม (อนาล็อกทีวี ช่อง 3,5,7,9) เรตติ้งมีทิศทางลดลงนับตั้งแต่ ทีวีดิจิทัลเริ่มออกอากาศในปี 2557

อีกทั้งยังพบว่าสัดส่วนผู้ชม “ทีวีดิจิทัล” มีแนวโน้มเพิ่ม โดยปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 53% ขณะที่ช่องฟรีทีวีรายเดิมอยู่ที่ 35%  พบว่าจำนวนผู้ชมทีวี ไม่ได้ลดลง แต่ในยุคทีวีดิจิทัลที่มี “ช่องใหม่” จำนวนมาก ทำให้ผู้ชมกระจายตัว (fragmentation)  เรตติ้งแต่ละช่องจึงกระจายตัวและไม่สูงเหมือนยุคทีวีอนาล็อก

โดยรายการที่เรียกเรตติ้งได้สูงยังคงเป็น “ละคร”  ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ละครที่ได้รับความนิยมอย่าง บุพเพสันนิวาส, เมีย 2018, เลือดข้นคนจาง ทำตัวเลขเรตติ้งได้สูง  ขณะที่รายการข่าว ที่เกาะติดกระแสและมีวิธีการนำเสนอที่แตกต่าง กรณีข่าว “หมูป่า” ของช่องไทยรัฐทีวี  สามารถโกยเรตติ้งได้สูงเช่นกัน

ขณะที่สื่อออนไลน์ หรือสื่อดิจิทัล ยังมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง  จากจำนวนผู้ใช้สื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้น ทำให้แบรนด์จัดสรรงบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการสื่อสารกับกลุ่มผู้บริโภคในกรุงเทพฯ  จะใช้งบประมาณ 50% และสื่อออฟไลน์ 50%

addd19

สำหรับกลุ่มท็อปเทน “ผู้ใช้”งบโฆษณาสูงสุดในปี 2561 ที่น่าสนใจ คือ ธุรกิจทีวีช้อปปิ้งของช่องทีวีดิจิทัล  โดยอันดับ 2 คือ ไลฟ์สตาร์  ธุรกิจสุขภาพและความงามของอาร์เอส ใช้เม็ดเงินโฆษณา 2,547 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,462%  และอันดับ 4 ทีวีไดเร็ค ใช้งบโฆษณา มูลค่า 2,085 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 136%

Avatar photo