Business

อาลีบาบาร่วมผลักดันอีคอมเมิร์ซไทยสู่ตลาดโลก

1 350
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ถึงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและกลุ่มอาลีบาบา ซึ่งมีแนวทางความร่วมมือกันหลายด้าน โดยเฉพาะได้ทำความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการสนับสนุนธุรกิจ e-Commerce และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพให้กับผู้ประกอบการไทย

โดยกลุ่มอาลีบาบา มีความเชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของไทย และยืนยันในการเป็นพันธมิตรกับประเทศไทยในระยะยาว ร่วมกันพัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยอาลีบาบาและรัฐบาลไทยมีเป้าหมายร่วมกัน ที่จะพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทย และผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึง “ตลาดใหม่” ในเวทีโลกได้ โดยผ่านนวัตกรรมด้านดิจิทัลต่างๆ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนยุทธศาสตร์ “ประเทศไทย 4.0″ไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาตามนโยบายด้านอื่น ๆ ของประเทศ

วาง 4 นโยบายความร่วมมือหลัก

ความร่วมมือในโครงการหลักครั้งนี้ ประกอบด้วย 1. โครงการจัดตั้งศูนย์ Smart Digital Hub ในพื้นที่ EEC เพื่อจะส่งเสริมการค้ากับกลุ่ม CLMV และจีน โดยจะอาศัยเทคโนโลยีด้านการประมวลข้อมูลโลจิสติกส์ ที่ครบวงจร ตั้งแต่ “ต้นทาง” แหล่งผลิตทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของไทย ไปยัง “ปลายทาง” ผู้บริโภค – ผู้สั่งสินค้า ณ ประเทศปลายทางทั่วทุกมุมโลก ผ่านเครือข่าย “ไช่เหนี่ยว” (Cainiao Network) ซึ่งเป็นธุรกิจด้านโลจิสติกส์ของอาลีบาบา เพื่อให้การขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับจีน รวมถึงการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV และไปยังที่อื่น ๆ ทั่วโลก ให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด

โดยจะมีการยกระดับพิธีการทางศุลกากรในพื้นที่ ให้เป็นระบบดิจิทัลไปพร้อมกันด้วย ซึ่งนับเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยเชื่อมโยง SMEs ไทย ในทุกระดับ ทุกท้องถิ่น รวมถึงกลุ่ม OTOP และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ ให้สามารถเข้าถึงตลาดจีนและตลาดโลกได้ง่ายขึ้น อีกทั้งจะขยายไปยังอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกด้วย นอกจากนี้ ศูนย์ Smart Digital Hub จะเป็นศูนย์กลางในการดำเนินกิจกรรมวิจัยและพัฒนาด้านดิจิทัล ที่จะเชื่อมโยงกับเขตนวัตกรรมดิจิทัล หรือดิจิทัลพาร์ค EECd และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าดำเนินการอยู่

2. โครงการร่วมส่งเสริมพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้กับผู้ประกอบการ SMEs ไทย โดยจะมีการจัดตั้งวิทยาลัยธุรกิจอาลีบาบา (Alibaba Business School : ABS) ซึ่งจะร่วมมือกับภาครัฐของไทย ในการพัฒนาขีดความสามารถด้านดิจิทัลและ e-Commerce ของ SMEs ทุกกลุ่มทั่วประเทศ รวมถึง SMEs ในชุมชนท้องถิ่น และผู้ประกอบการรายย่อย โดยเน้นให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจ เท่าทัน และมีทักษะในการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อเริ่มต้นธุรกิจออนไลน์ และเข้าถึงตลาดจีนที่มีขนาดใหญ่ มีผู้บริโภคไม่น้อยกว่า 500 ล้านราย รวมถึงเข้าสู่ “ห่วงโซ่” ของภูมิภาคและตลาดโลกได้ตามลำดับ

นอกจากนี้ วิทยาลัยธุรกิจดังกล่าวยังจะร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนากลุ่มคนเก่งหรือดาวเด่นด้านดิจิทัล (Digital Talent) ในประเทศไทย ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษา นักวิจัย อาจารย์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมพัฒนาด้านดิจิทัลและ e-Commerce เพื่อให้มีความเข้าใจลึกซึ้ง และเป็นการสร้างเครือข่ายกับดาวเด่นหรือ Talents ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศจีนด้วย

3. การเปิด “ร้านค้าข้าวไทย” (Thai Rice Flagship Store) บนเว็ปไซต์ซื้อขายออนไลน์ “ระดับโลก” เพื่อช่วยสนับสนุนการจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรเริ่มจากข้าว และจะขยายผลไปถึงผลไม้ต่าง ๆ ของไทย ในอีก 5 ปีข้างหน้า จีนจะเปิดเสรีการค้า โดยตลาดจีนยังเปิดกว้างสำหรับการนำเข้าสินค้าจากทั่วโลก อีกกว่า 240 ล้านล้านบาท ซึ่งไทยเราก็มีศักยภาพ ที่จะได้รับส่วนแบ่งการตลาดนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียน ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ชาวจีน ตามที่มีรายงานข่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ภายหลังจากการประเดิมด้วยแคมเปญส่งเสริมการขายทุเรียนล่วงหน้า เพียง “1 นาที” ก็มียอดการสั่งซื้อถึง 80,000 ลูก ปัจจุบันปิดการขายงวดแรก “3 วัน” ไปแล้ว มียอดจองซื้อทุเรียนไทย 130,000 ลูก หรือ 350 ตัน คิดเป็นเงิน 70 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการส่งมอบ  โดยขั้นต้นเราต้องพึ่งพาอาศัยเขาบ้าง วันหน้าเราก็สร้างแพลทฟอร์มของเราขึ้นมาให้ทัดเทียม ก็คงต้องใช้เวลาพอสมควร ถ้าเราสามารถดำเนินการต่อไปเรื่อย ๆ เราอาจจะสามารถส่งทุเรียนจากแหล่งผลิตในไทยไปยังจีนได้ภายใน 120 ชั่วโมง และส่งต่อจนถึงมือลูกค้าทั่วประเทศจีนได้ภายใน 24 ชั่วโมง วันหน้าเราไปถึงประเทศอื่นด้วย

โดยขั้นต้นเราต้องพึ่งพาอาศัยเขาบ้าง วันหน้าเราก็สร้างแพลทฟอร์มของเราขึ้นมาให้ทัดเทียม ก็คงต้องใช้เวลาพอสมควร

เกษตรกรของไทยก็สามารถเข้ามาอยู่ใน “ห่วงโซ่” ดังกล่าวได้ แต่ต้องจดทะเบียน เป็น “นิติบุคคล” ในรูปการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทก็ได้ ก็จะเป็นการยืนยันการมีตัวตน และต้องมีแบรนด์เป็นของตัวเอง สามารถตรวจสอบที่มาได้ตลอดเวลา นอกจากนั้นให้สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซต์ thaitrade.com ของกระทรวงพาณิชย์ แล้วกระทรวงฯ จะประสานงานกับอาลีบาบา เพื่อมาคัดเลือกสินค้าไปจำหน่ายต่อไป

4. โครงการความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวดิจิทัล เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวดิจิทัลและผู้ประกอบการการท่องเที่ยวรายย่อยในไทย โดยบริษัทลูกของอาลีบาบาจะร่วมมือกับภาครัฐ ในการใช้ประสบการณ์และเทคโนโลยีจัดทำแพลตฟอร์มหรือ “เครื่องมือ” เพื่อประชาสัมพันธ์และอำนวยความสะดวกให้กับสถานที่และกิจกรรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั่วไทย (Thailand Tourism Platform) เช่น คู่มือไกด์ออนไลน์ ระบบจำหน่ายตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งจะช่วยผลักดันการยกระดับการท่องเที่ยว ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เริ่มตั้งแต่กระบวนการทางวีซ่า บริการหลังเดินทางแบบดิจิทัล ด้วยการคืนเงินภาษีนักท่องเที่ยวผ่านระบบ Alipay ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพจากจีน และช่วยเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยได้มากขึ้น

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight