Digital Economy

เปิดวิชั่น ‘โตชิบา’ เมื่อโลกไซเบอร์หลอมรวมกับโลกกายภาพ

ในปัจจุบัน การค้นหาทางอินเทอร์เน็ต การสื่อสารผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก การจัดเก็บรูปและภาพยนตร์บนระบบคลาวด์ การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และบริการออนไลน์ต่างๆ ส่วนใหญ่ถูกพัฒนาโดยบริษัท Google,  Apple,  Facebook และ Amazon (หรือที่เรียกรวมกันว่า กลุ่มบริษัท GAFA) ล้วนกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของเรา อย่างไรก็ตาม การดำเนินชีวิตของมนุษย์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกิจกรรมบนโลกไซเบอร์ ที่ปรากฏอยู่เพียงบนเซิร์ฟเวอร์หรือเน็ตเวิร์กเท่านั้น เรายังอาศัยอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงหรือโลกกายภาพ ฉะนั้น ข้อมูลต่างๆ จะเกิดคุณค่าอย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อสามารถเชื่อมต่อข้อมูลเหล่านั้นเข้ากับสิ่งต่างๆ ในโลกกายภาพ

thumbnail Dr ShiroSaito 1
ดร.ชิโระ ไซโตะ

“โตชิบา คอร์ปอเรชั่น” มุ่งมั่นที่จะเป็นองค์กรชั้นนำในการแก้ไขปัญหาทางสังคม ด้วยการบูรณาการเทคโนโลยีโลกไซเบอร์และโลกกายภาพเข้าด้วยกัน เทคโนโลยีที่โดดเด่นของโตชิบามีอะไรบ้าง และโลกแบบใดที่บริษัทต้องการสร้างสรรค์ มีคำตอบในบทสัมภาษณ์ ดร.ชิโระ ไซโตะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายเทคโนโลยี โตชิบา

ในอนาคตโตชิบามองว่าเทคโนโลยีที่โลกเสมือนและโลกจริง จะเป็นที่ต้องการมากใช่หรือไม่

ตั้งแต่ยุค 1990s การปฏิวัติด้านไอที ซึ่งมุ่งเน้นที่อินเทอร์เน็ตและเซมิคอนดักเตอร์ กลายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการพัฒนาด้านต่างๆ ของโลก และเกิดการสร้างมูลค่าจากการพัฒนารูปแบบธุรกิจ ที่ตั้งอยู่บนวิธีการใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต เมื่อไม่นานมานี้ เราให้ความสนใจไปที่กลุ่มบริษัท GAFA หรือที่เมื่อก่อนเรียกกันว่า GAFMA โดยรวมบริษัท Microsoft เข้าไปด้วย

แต่ในตอนนี้ใช้กล่าวถึง 4 บริษัทผู้เล่นหลักในการปฏิวัติด้านดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน ไปจนถึงการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดมูลค่า อย่างไรก็ดี นวัตกรรมที่สามารถก่อให้เกิดการปฏิรูป หรือจุดชนวนให้เกิดการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมนั้น ยังไม่เกิดขึ้น และในยุคสมัยที่เราใช้ชีวิตกันอยู่นี้ การใช้เทคโนโลยีให้เกิดคุณค่าอย่างแท้จริง กลายเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง

แต่ถึงกระนั้น เราจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันศาสตร์เทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) มีวิวัฒนาการที่โดดเด่นน่าสนใจ เราจึงเชื่อว่าในเวลาอีกไม่กี่ปี กุญแจสำคัญจะอยู่ที่การหาวิธีบูรณาการเทคโนโลยีไซเบอร์ต่างๆ เหล่านี้เข้ากับเทคโนโลยีในโลกจริง เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ วิทยาการหุ่นยนต์ และระบบเซ็นเซอร์

thumbnail Toshiba Cyber Physical

เทคโนโลยีโลกเสมือน จะเชื่อมต่อเข้ากับโลกกายภาพหรือโลกแห่งความจริงได้อย่างไร

อย่างแรกเลย ถึงแม้เราจะใช้คำว่า ไซเบอร์ แต่อยากให้มองภาพว่ามันคือสมองมนุษย์ ส่วนกายภาพก็คือพวกผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น อุปกรณ์เครื่องจักร วัสดุ ระบบ และบริการต่างๆ ที่เราเห็น หรือใช้กันในชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกวันนี้ เราใช้เทคโนโลยีระบบเซ็นเซอร์ และเน็ตเวิร์กมากขึ้นเรื่อยๆ ในการรวบรวมข้อมูลจากการดำเนินงาน และจากระบบและบริการทั้งหลาย จากนั้นเราจึงใช้ AI หรือเทคโนโลยีอื่น เข้ามาวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลในโลกไซเบอร์ แล้วส่งผลลัพธ์ที่ได้สู่โลกแห่งความเป็นจริง เช่น วิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสม การคาดการณ์ และแผนงานต่างๆ ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าให้กับเทคโนโลยีโลกกายภาพ สินค้า และบริการต่างๆ เราเชื่อว่ากระบวนการทำซ้ำๆ นี้จะส่งผลให้เกิดเทคโนโลยี สินค้าและบริการใหม่ๆ ขึ้น

กระบวนการนี้คือ “cyber-physical system” หรือ CPS และนี่คือลักษณะขององค์กรที่เราต้องการจะเป็น จริงๆ แล้วคำจำกัดความนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ มันเป็นแนวทางการวิจัยที่เราใช้มาตั้งแต่ปี 2012 ในขณะที่ผมยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาของโตชิบา เมื่อมองในอีกมุมหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่าเราเดินทางมาถึงจุดที่เราสามารถนำเป้าหมายงานวิจัยมาเป็นเป้าหมายในธุรกิจได้แล้ว

ในโลกบูรณาการของเทคโนโลยีไซเบอร์และกายภาพ อะไรจะทำให้โตชิบาประสบความสำเร็จ

เราเชื่อว่ากระบวนการทำซ้ำๆ ระหว่างเทคโนโลยีไซเบอร์ กับเทคโนโลยีกายภาพ ที่ว่าจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น เราสามารถจะส่งมอบอุปกรณ์ และระบบที่จะส่งข้อมูลไปยังไซเบอร์สเปซ ซึ่งมันจะถูกจัดการและวิเคราะห์ และถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยบริษัทที่ดูแลในส่วนของการซ่อมบำรุงและการดำเนินการต่างๆ และสามารถปฏิบัติตามกระบวนการซ้ำๆ เพื่อให้นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์สูงสุด

ถ้ากลับมามองโตชิบาในวันนี้ เราได้สั่งสมเทคโนโลยีและความรู้มากมาย ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา เพื่อส่งมอบสินค้าและบริการในธุรกิจหลัก อาทิ ธุรกิจพลังงาน ซึ่งรวมถึงโรงงานไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม โดยเรามีความเชี่ยวชาญหลากหลายด้าน ตั้งแต่การวางระบบโครงสร้างอาคาร ไปจนถึงระบบทางรถไฟ

ความสำเร็จและความเชื่อมั่น ที่เราได้รับจากการดำเนินธุรกิจมาเป็นเวลานาน ไม่ใช่สิ่งที่สามารถทำได้ในชั่วข้ามคืน ความรู้พื้นฐานที่เรามี ในส่วนของโลกกายภาพทำให้เรามีแหล่งข้อมูลหรือ “ทรัพย์สินทางปัญญา” ที่มีค่าอย่างยิ่ง นอกจากนี้ เราก็ยังได้สั่งสมความรู้ด้านเทคโนโลยี AI มาเป็นเวลาหลายปีเช่นกัน ซึ่งนี่จะเป็นขุมทรัพย์ที่แท้จริง ที่จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัทซึ่งผลิตสินค้าด้านเทคโนโลยี และผมเชื่อว่า การหลอมรวมของ 2 องค์ความรู้นี้จะส่งผลให้เรามีศักยภาพเพียงพอ ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในโลกยุคที่เทคโนโลยีโลกเสมือนและโลกจริงบูรณาการเข้าหากัน

สินค้าและบริการใดบ้าง ที่เกิดขึ้นจากการหลอมรวมเทคโนโลยีโลกเสมือนและโลกจริง

ที่โตชิบา มีเทคโนโลยีหลายอย่างที่เรากำลังพัฒนา หนึ่งในนั้นคือ โรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant: VPP) โดยที่เราใช้อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) เข้ามาประสานงานระหว่างแหล่งไฟฟ้าแต่ละแหล่ง เช่น แหล่งผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานไฮโดรเจน รถยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ ที่สามารถชาร์ตใหม่ได้หลายครั้ง เพื่อเชื่อมต่อการปฏิบัติงานราวกับเป็นโรงงานไฟฟ้าแห่งเดียว

นอกจากนี้ เรายังสามารถใช้ IoT ช่วยในการวิเคราะห์การประหยัดพลังงาน และปริมาณพลังงานที่ลดได้ รวมถึงช่วยควบคุมผลการวิเคราะห์ผ่าน AI และการประมาณการณ์การใช้พลังงาน ยิ่งไปกว่านั้น เรายังร่วมมือกับลูกค้าในการสร้างกลไกควบคุมแหล่งการจ่ายพลังงาน และอุปกรณ์ไฟฟ้าในฝั่งของลูกค้า เพื่อจัดการอุปทานพลังงานได้อย่างเหมาะสม

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือระบบทางรถไฟ เรามีหัวรถจักรแบบไฮบริด ที่มีเครื่องยนต์ประสิทธิภาพสูง ใช้งานด้วยแบตเตอรี่และแม่เหล็กถาวร คุณสมบัติหลักที่หัวรถจักรพวกนี้จำเป็นต้องมีคือ ความสามารถในการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีเยี่ยม แต่ในอนาคต ผมคิดว่าเราสามารถปรับปรุงแผนงานการซ่อมบำรุงและแผนปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้น โดยการรวบรวมและประมวลผลข้อมูลการดำเนินงานผ่านการเชื่อมต่อกับเน็ตเวิร์กต่างๆ

วิทยาการหุ่นยนต์ คือ ศาสตร์อีกแขนงที่เราผลักดันให้เกิดการบูรณาการทางเทคโนโลยี โดยเราใช้เทคโนโลยีระบบเซนเซอร์ และระบบควบคุมเข้ามาพัฒนาหุ่นยนต์ ให้สามารถจัดการระบบโลจิสติกส์ได้อัตโนมัติ และออกแบบเทคโนโลยี เพื่อเก็บรวบรวมและประมวลผลข้อมูลสถานะการปฏิบัติงาน รวมถึงสั่งการหุ่นยนต์จำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ

thumbnail Toshiba loT integration

ผลิตภัณฑ์ที่โตชิบาดูแลอยู่ตอนนี้ มีเทคโนโลยีใดบ้างที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ธุรกิจของโตชิบา คอร์ปอเรชั่น มีขอบเขตกว้างขวางมาก ทั้งชิ้นส่วน หรือระบบในด้านพลังงาน โครงสร้างพื้นฐานทางสังคม เซมิคอนดักเตอร์และการจัดเก็บข้อมูล แต่ด้านที่เราให้ความสำคัญเป็นหลักคือ แบตเตอรี่แบบชาร์จได้ใหม่หลายครั้งภายใต้ชื่อ SCiB™ ด้วยการออกแบบที่ใช้โลหะออกไซด์อย่างลิเธียมไททาเนทเป็นวัสดุขั้วลบ เราจึงได้แบตเตอรี่ที่มีความสามารถในการเก็บและปล่อยพลังงานอย่างรวดเร็ว มีความปลอดภัยสูง และมีอายุการใช้งานยาวนาน

เราได้ทำการผลิตและจัดจำหน่ายแบตเตอรี่ SCiB™ มาตั้งแต่ปี 2011 ที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยเกิดอุบัติเหตุใดๆ เลย อายุขัยในการใช้งานก็น่าทึ่งมาก ด้วยความจุพลังงานสูงกว่า 70% หลังจากการชาร์ตกว่า 20,000 รอบ ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ชัดเจนว่าเหตุใดมันจึงเหมาะกับการใช้งานในยานพาหนะและอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างยิ่ง

thumbnail Toshiba SCiB
แบตเตอรี่ SCiB™

งานวิจัยแบตเตอรี่ของเราในตอนนี้ มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มขีดความสามารถ และการปล่อยพลังงานให้สูงยิ่งขึ้น เรากำลังทดสอบวัสดุใหม่คือ ไนโอเบียมไททาเนียมออกไซด์ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะใช้วัสดุนี้ เพิ่มความจุของแบตเตอรี่ถึง 1.5 เท่าของแบตเตอรี่ SCiB™ ในปัจจุบัน ภายในตัวแบตเตอรี่ จะมีชิ้นส่วนที่เรียกว่า เซปพาเรเตอร์ หรือแผ่นกั้น ซึ่งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของชิ้นส่วนนี้ ช่วยให้เราพัฒนาทั้งความจุ และการปล่อยพลังงานได้ดีขึ้น

เมื่อมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแพร่หลาย ธุรกิจให้เช่ารถระยะสั้นก็จะเติบโต และแบตเตอรี่ที่ชาร์ตและปล่อยพลังงานได้รวดเร็วก็จะเป็นที่ต้องการ

เซมิคอนดักเตอร์ หรือ สารกึ่งตัวนำ คือ อีกหนึ่งด้านที่เรายังคงให้ความสำคัญ เรากำลังพัฒนาอุปกรณ์สำหรับการใช้งานในอิเล็กทรอนิกส์กำลัง การใช้งานกับยานพาหนะ เครื่องมืออุตสาหกรรม และระบบการจ่ายไฟฟ้า ที่ทนทานต่อกระแสไฟฟ้าแรงสูงหลายพันโวลต์ นอกจากนี้ เรายังพัฒนาสารกึ่งตัวนําประเภทสารประกอบ (Compound semiconductor) รูปแบบใหม่ซึ่งใช้ SiC (ซิลิคอนคาร์ไบด์) และ GaN (แกลเลียมไนไตรด์) ในการปรับปรุงเพื่อให้มีขนาดเล็กลงแต่ประสิทธิภาพสูงขึ้น ในส่วนของการใช้งานกับยานพาหนะ เรามองถึงยานพาหนะไร้คนขับในอนาคต และกำลังพัฒนาหน่วยประมวลผลภาพ และเซนเซอร์วัดระยะทางที่มีความแม่นยำสูง

ปัจจุบัน ในอุตสาหกรรมการคมนาคม รถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามามีบทบาทสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างแน่นอน โดยยึดหลักการสำคัญคือ CASE ซึ่งย่อมาจาก Connectivity การเชื่อมต่อ Autonomous การทำงานอัตโนมัติ Shared การแบ่งปัน และ Electric ไฟฟ้า เมื่อเรานึกถึงปัจจัยที่จะนำไปสู่การพัฒนายานพาหนะไร้คนขับ ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ทางโตชิบาครอบครองอยู่ เช่น แบตเตอรี่ หรือเซมิคอนดักเตอร์ จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ มุมมองนี้ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม จากผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงองค์ความรู้ และความสามารถของผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI การวิจัยและพัฒนาของโตชิบาเป็นไปในทิศทางใด

เรามีการพัฒนาเทคโนโลยี AI มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยในการจัดการปัญหาพื้นฐานต่างๆ ในพื้นที่การทำงาน เราได้สั่งสมองค์ความรู้มาเป็นเวลาหลายปี รวมถึงเครื่องอ่านรหัสไปรษณีย์อัตโนมัติ และเครื่องแยกจดหมาย ซึ่งเราได้ประดิษฐ์ขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี 1960s เราวางเป้าหมายในการพัฒนาเทคโนโลยี AI ด้วยการตั้งคำถามอย่างเช่น เราสามารถหาทางแก้ไขปัญหาอะไรได้บ้าง ในไซต์งานที่เต็มไปด้วยข้อมูลมากมายมหาศาล หรือในไซต์งานที่ต้องใช้ทรัพยากรมนุษย์ในการทำงาน ตัวอย่างในที่นี้ เช่น เทคโนโลยีช่วยวิเคราะห์ความเสื่อมของตัวเชื่อม เทคโนโลยีช่วยประเมินระดับความต้องการใช้ไฟฟ้า ที่มีความเที่ยงตรงสูง ระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถสื่อสารทางเสียงได้ ด้วยการใช้เทคโนโลยีการจดจำและการสังเคราะห์เสียง

เรายังได้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาผ่านความร่วมมือกับองค์กรการวิจัยต่างๆ ส่วนในแง่ของทิศทางในการพัฒนานั้น เรากำลังก้าวผ่านระบบปัญญาประดิษฐ์ ที่ต้องการมนุษย์เข้ามาดูแลการทำงาน ซึ่งมุ่งเน้นในการหาวิธีดำเนินการที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยที่เรารู้วิธีการทำงานอยู่แล้ว แต่เรากำลังผลักดันการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และไม่จำเป็นต้องมีมนุษย์เข้ามาช่วยในการสอนงานอีกต่อไป

ดูเหมือนว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ซึ่งโลกไซเบอร์กับโลกกายภาพ กำลังหลอมรวมเข้าด้วยกัน เป็นโลกที่ต้องการนักวิจัยและวิศวกรที่จะช่วยส่งเสริม และผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี AI ซึ่งขีดความสามารถไม่ได้จำกัดเพียงแค่ การวิเคราะห์และคาดการณ์สมรรถภาพการทำงานสำหรับอุปกรณ์หรือระบบอย่างแม่นยำ แต่รวมไปถึงข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์เหล่านั้นด้วย โดยในส่วนนี้ มันจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่เราจะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดตามกรอบเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา การสร้างคุณค่าทั้งภายในและภายนอกองค์กร และการพัฒนาองค์ความรู้ในอุตสาหกรรมใหม่ๆ

Avatar photo