Wellness

รฟม.จี้ผู้รับเหมาเข้มป้องกันฝุ่นจากงานก่อสร้าง ‘รถไฟฟ้า’

“รฟม.” สั่งผู้รับเหมาหมั่นล้างท่อไอเสีย ป้องกันฝุ่นจากเครื่องจักรสร้าง “รถไฟฟ้า” เกินมาตรฐาน

 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีค่าเกินมาตรฐานในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลว่า ตามปกติ รฟม. ก็มีมาตรการกำกับดูแลผู้รับเหมา เพื่อไม่ให้การก่อสร้างรถไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือปล่อยมลภาวะเกินกำหนดอยู่แล้ว

สำหรับฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนนั้น เกิดจากการเผาไหม้หรือท่อไอเสีย ซึ่ง รฟม. ก็กำชับให้ผู้รับเหมาดูแลเครื่องจักร เพื่อป้องกันไม่ให้ไอเสียเกินมาตรฐาน นอกจากนี้ก็มีมาตรการดูแลฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ซึ่งเป็นฝุ่นที่เกิดจากทรายและฝุ่นละออกจากปูน โดยแจ้งให้ผู้รับเหมาทุกรายต้องฉีดน้ำตามกองเก็บวัสดุและนำผ้าใบมาปิดคลุมกองวัสดุด้วย

หัวเจาะ รถไฟฟ้าสายสีส้ม 2
การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) เส้นทางศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ-มีนบุรี

“รฟม. มีมาตรการฝุ่นละอองตามกฎหมายกำหนดอยู่แล้ว แต่ช่วงนี้ก็ได้แจ้งผู้รับเหมาให้หมั่นล้างท่อไอเสียและท่อกรองอากาศเครื่องจักรให้มากขึ้น ซึ่งก็เป็นลักษณะเดียวกับการดูแลรถบรรทุก โดยถ้าเทียบกับปริมาณรถยนต์แล้ว เครื่องจักรที่อยู่ในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าก็ถือเป็นส่วนน้อย แต่ถ้าเราร่วมมือกันก็จะช่วยลดมลภาวะและทำให้อากาศดีขึ้นได้” นายภคพงศ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลรวม 6 เส้นทาง แบ่งเป็น โครงการของ รฟม. จำนวน 5 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี, รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง, รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี, รถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ส่วนต่อขยาย) ช่วงเตาปูน-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค นอกจากนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต อีก 1 เส้นทาง

หัวเจาะ รถไฟฟ้าสายสีส้ม

 

Avatar photo