Digital Economy

เปิดวิชั่น “ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” เปลี่ยน รฟม. สู่รถไฟฟ้า 4.0

S 7863623571348
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม.

หากเป็นนักการตลาด เชื่อว่าหลายคนยอมรับว่า แนวคิดของการสร้างชื่อ “Thailand 4.0” สู่การเป็นโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศนั้นเป็นแนวคิดที่ประสบความสำเร็จด้วยดี และโมเดลนี้ก็ขายดีในหมู่หน่วยงานภาครัฐมานานหลายปีติดต่อกัน

แต่การจะปฏิบัติให้เห็นว่า หน่วยงานภาครัฐของประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคแห่ง 4.0 หรือที่เปรียบได้กับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 แล้วจริง ๆ นั้นอาจเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ยากพอดู และเป็นบททดสอบที่หินไม่น้อยสำหรับผู้บริหารในแต่ละองค์กร ไม่เว้นแม้แต่กระทรวงคมนาคมที่กำหนดยุทธศาสตร์เอาไว้ 5 ข้อ ได้แก่

  1. ระบบการคมนาคมขนส่งที่บูรณาการ
  2. การให้บริการ
  3. การปฏิรูปองค์กรกับเรื่องกฎหมาย
  4. การพัฒนาบุคลากรในภาคการขนส่ง
  5. เทคโนโลยีและนวัติกรรม

โดยยุทธศาสตร์เหล่านี้ถูกส่งต่อให้เป็นภารกิจของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งจากการเปิดเผยของนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. เผยว่า การมาถึงของรถไฟฟ้านั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชน รวมถึงวิถีชีวิตของเมืองไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ทุกวันนี้คนทำงานที่บ้านอยู่ชานเมืองสามารถคาดการณ์ระยะเวลาในการเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาเมื่อในอดีต อีกทั้งยังเกิดการเติบโตในแนวดิ่งตามแนวเส้นรถไฟฟ้าที่จะพบว่ามีคอนโดมิเนียมผุดขึ้นอย่างมากด้วย

mrta

นายภคพงศ์เผยด้วยว่า แนวคิดของการขยายตัวของรถไฟฟ้าจะเติบโตตามการเติบโตของเมือง โดยจะขยายไปย่านชานเมือง ย่านชุมชน ทั้งแนวราบและแนวดิ่ง แต่ไม่จำกัดเฉพาะกรุงเทพและปริมณฑล รฟม. ยังมีแผนขยายรถไฟฟ้าไปยังส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ และนครราชสีมาด้วย โดยภูเก็ตอยู่ระหว่างศึกษาวิเคราะห์โครงการฯ และรูปแบบจะเป็นการให้เอกชนร่วมลงทุน และรับผิดชอบงานก่อสร้าง งานโยธา และการติดตั้งระบบรถไฟฟ้าด้วย (เป็นรถราง ระยะทาง 41.7 กิโลเมตร ประกอบด้วย 21 สถานี คาดว่าพร้อมเปิดให้บริการในปี 2566)

ส่วนเชียงใหม่ ประกอบด้วยรถไฟใต้ดินสามสาย ระยะทางรวม 39 กิโลเมตร เงินลงทุน 107,233 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2567

สำหรับเส้นทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว ดังนี้

mrta

ตั๋วโดยสาร 4.0

ชื่อของระบบตั๋วร่วมอย่างบัตรแมงมุม เป็นชื่อที่หลายคนรู้จักกันมาสักพัก ซึ่งเบื้องหลังของมาตรฐานบัตรแมงมุมคือเทคโนโลยีที่ชื่อว่า EMV Contactless Smart Card โดยมาตรฐานดังกล่าวมีการใช้งานในต่างประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว แต่เพิ่งนำมาใช้กับประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

“รฟม.ได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคมให้ดำเนินการให้ตั๋วร่วมใช้ได้กับรถไฟฟ้า รถไฟ รถเมล เรือโดยสาร อีซี่พาส ฯลฯ โดยเป็นระบบ Pay-as-you-go จ่ายตามที่เดินทาง ไม่ต้องนำเงินไปเก็บไว้ในบัตรอีกต่อไป ประโยชน์ของการใช้ตั๋วร่วม คาดว่าจะทำให้ความหนาแน่นของผู้โดยสารในส่วนที่รอซื้อตั๋ว หรือ Unpaid Area ลดลง และผู้เดินทางไม่ต้องต่อคิวซื้อเหรียญอีกต่อไป” นายภคพงศ์กล่าว

mrta

 

ด้านคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ได้พิจารณามีมติเห็นชอบในหลักการการนำเทคโนโลยี EMV Contactless Smart Card มาใช้กับระบบตั๋วร่วม ตามที่ รฟม. เสนอเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมานี้เอง โดย รฟม. จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนและกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งตามกำหนดการแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 18 เดือน ระบบดังกล่าวก็จะสามารถใช้งานได้ หรือก็คือ ประมาณต้นปี 2563

“รถไฟฟ้าสายสีม่วง สีน้ำเงิน สีเขียว และแอร์พอร์ตเรียลลิงค์ สามารถใช้เครดิตการ์ดที่รองรับเทคโนโลยี EMV เป็นบัตรโดยสารได้เลย นอกจากนี้มีแผนจะขยายไปยังรถเมลของ กทม. ที่มีประมาณ 2,000 คันได้ด้วย โดยในอนาคตจะต่อยอดไปยังเรือโดยสาร อีซีพาส และเอ็มพาส”

อีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนมองว่า หาก รฟม. พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพก็จะมีประโยชน์อย่างมากต่อประชาชนก็คือ การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งนายภคพงศ์ยอมรับว่า ที่ผ่านมาได้มีการพยายามดำเนินการอย่างเต็มที่ แต่ภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมายทำให้ทำได้ไม่มากนัก พร้อมทั้งยอมรับว่าร้านค้าในบริเวณสถานีของรถไฟใต้ดินยังไม่เป็นที่นิยมสักเท่าไรด้วย

เหตุที่ต้องพัฒนาให้เกิดรายได้นั้น ส่วนหนึ่งของรายได้จะนำไปลดต้นทุนการดำเนินงานของ รฟม. ทำให้การปรับราคาขึ้นค่าโดยสารชะลอตัวลงนั่นเอง

อย่างไรก็ดี แผนที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นอาจไม่เพียงพอสำหรับองค์กรหากต้องการจะปรับตัวรับกับยุคดิจิทัล ในจุดนี้ นายภคพงศ์เผยว่า นโยบายของ รฟม. คือการสนับสนุนพนักงานให้เรียนรู้ ปรับตัวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น electronics office มาใช้ โดยในตอนนี้มีหลาย ๆ หน่วยงานที่ขอสร้างสำนักงานใหม่เป็นอาคารอัจฉริยะ และประหยัดพลังงานมากขึ้น

นอกจากนั้น นายภคพงศ์ยังเผยว่า รฟม. มีแผนจะสร้างศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับรถไฟฟ้า และมีแผนจะจัดตั้งโรงเรียนผลิตพนักงานขับรถไฟฟ้า โดยอาจต้องใช้เวลา 3 – 4 ปีในการก่อสร้างและเตรียมเทคโนโลยีสำหรับฝึกพนักงานขับรถไฟฟ้าด้วยนั่นเอง

ทั้งหมดนี้เป็นแผนของ รฟม. ที่จะทำให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า โลกภายนอกนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่นการที่หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกก็เริ่มทดสอบระบบขนส่งมวลชนแบบไร้คนขับกันแล้วอย่างคึกคัก ไปจนถึงอีกหลาย ๆ เทคโนโลยีที่กำลังจะกลายเป็นมาตรฐานของโลกยุคใหม่ ซึ่งความรวดเร็วเหล่านี้เป็นสิ่งที่ท้าทายโมเดล Thailand 4.0 ไม่น้อยว่าเราจะไล่ตามการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งนี้ในลักษณะใด

Avatar photo