The Bangkok Insight

ปี 62 เด็กเยาวชน 2,500 คนจะได้รับโอกาส!

ควันหลงวันเด็กไม่เคยจางหายไป เพราะสถานการณ์ที่เกิดกับกลุ่มเด็กเยาวชนในประเทศไทยมีหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการขาดโอกาสทางการศึกษา โดยพบว่าแม้บ้านเราจะลงทุนด้านการศึกษาแต่ละปีสูงถึง 5 แสนล้านบาท แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังคงพบเห็นแทบทุกพื้นที่ของประเทศ

ข้อมูลจากโครงการบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ ( National Education Account) ปี 2558 พบว่า เด็ก และเยาวชนด้อยโอกาสอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด 20% ราว 160,000 คน  กลุ่มนี้มีโอกาสศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาโดยเฉลี่ยเพียง 5 % หรือ 8,000 คนต่อรุ่นเท่านั้น เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการลดช่องว่างทางรายได้ของคนในสังคมไทย

S 194535462

สถานการณ์อีกด้านหนึ่ง ก็พบว่าประเทศไทยขาดกลุ่มแรงงานสาขาวิชาชีพ และช่างเทคนิคอย่างรุนแรง โดยเฉพาะพื้นที่ใหม่ของการลงทุนอย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จากข้อมูลรายงานสถานการณ์ตลาดแรงงาน และแนวโน้มของอีอีซี โดยกองบริหารข้อมูลตลาดแรงงาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่าระหว่างปี 2560-2564 ความต้องการแรงงานอาชีวศึกษาที่มีทักษะเฉพาะทั้งด้านเทคนิค และเทคโนโลยี มีถึง 176,525 คน แต่มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับอาชีวะ 119,243 คนเท่านั้น ขาดถึง 57,282 คน

อุตสาหกรรมที่อีอีซีต้องการในช่วง 5 ปี มีอะไรบ้างนั้น ประกอบด้วย

1.ยานยนต์สมัยใหม่ 34,311 คน

2.อิเล็กทรอนิกส์ 33,820 คน

3.ท่องเที่ยว 20,553 คน

4.เกษตรและเทคโนโลยี 6,806 คน

5.เกษตรแปรรูป 8,018 คน

6.หุ่นยนต์ 15,860 คน

7.การบิน 11,331 คน

8.เชื้อเพลิง 35,023 คน

9.ดิจิทัล 10,768 คน

10.การแพทย์ครบวงจร 35 คน

เมื่อ 2 สถานการณ์ คือ ความเหลื่อมล้ำ และการขาดแคลนแรงงานมาเจอกัน การให้เด็กขาดโอกาสในพื้นที่ต่างๆเข้าสู่การเรียนสายอาชีพ จึงเป็นทางออกที่ทุกภาคส่วนมาทำงานด้วยกันเพื่อแกัปัญหานี้ แนวทางสำคัญมี 4 ด้าน ประกอบด้วย

  • รัฐสนับสนุนการเรียนอาชีวศึกษาให้มากขึ้น และเพิ่มการลงทุนในวิทยาลัยอาชีวศึกษา รวมถึงเครื่องมือ และอุปกรณ์
  • ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมจัดการศึกษา โดยขยายระบบทวิภาคี
  • สถานศึกษาเน้นสร้างทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
  • ครอบครัว และชุมชนปรับทัศนคติ ไม่ยึดติดว่าเด็กจะต้องศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย

ปัญหาที่มาพร้อมโอกาสนำมาสู่แนวทางการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาล เรื่องเร่งด่วนที่ทำก่อน เป็นการกำหนดเจตนารมณ์ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 54 ให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เสริมสร้างพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยรัฐจัดสรรงบประมาณแก่กองทุน และบริหารจัดการที่เป็นอิสระ

เกิดเป็นพ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561 ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 มีนายสุภกร บัวสาย เป็นผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) 

S 194535463

วัตถุประสงค์ของกองทุนฯมี 7 ด้านที่สำคัญ ประกอบด้วย 1. ส่งเสริมเด็กปฐมวัยให้มีพัฒนาการสมวัย พร้อมเข้าสู่ระบบการศึกษา 2. ช่วยเหลือเยาวชนด้อยโอกาสให้สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน 3. สนับสนุนผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาและพัฒนาทักษะกาปรระกอบอาชีพ

4. ส่งเสริมสถานศึกษาให้เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียน 5.เสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพครู  6. ศึกษาวิจัยแนวทางการพัฒนาครูต้นแบบ และ 7.ศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาทรัยพากรมนุษย์ของไทย

นายนพพร สุวรรณรุจิ อนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการ เล่าว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อทำให้ความเหลื่อมล้ำแคบลง โดยมุ่งเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับกลุ่มเด็กเยาวชนที่ขาดแคลน ขณะเดียวกันก็ทำควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพครู และสถาบันการศึกษาไปด้วย

ดังนั้นกองทุนฯนี้จึงแตกต่างจากการให้ทุนทั่วไป ที่ให้เงินแล้วจบ แต่มีกระบวนการทำงานที่มากกว่าแค่ “ให้ทุน” สำหรับโครงการหนึ่งที่เรากำลังเร่งทำ ก็คือ การให้โอกาสเด็กยากจนแต่เรียนดีได้เรียนต่อสายอาชีพ เพื่อให้มีงานทำระหว่างศึกษา ทำให้เขามีรายได้ให้ตนเองและครองบครัว ขณะเดียวกันก็การันตีหลังจบการศึกษาว่าจะมีงานทำแน่นอน เรียกว่า “โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง”

เราเริ่มต้นทำงานด้วยการคัดเลือกสถาบันที่พร้อมค้นหาเด็กยากจน มีผลการเรียนดี  และทุ่มเทกับการพัฒนาเด็กกลุ่มนี้ทั้งการปลูกฝังคุณธรรม และศักยภาพ จนจบการศึกษา และมีงานทำ มีศักดิ์ศรี ช่วยปรับค่านิยมจากการมุ่งสู่การเรียนมหาวิทยาลัยแต่ตกงาน มาเรียนสายอาชีพที่มีงานทำแน่นอน  

S 194535461

“เป้าหมายของเรา คือ การพัฒนาศักยภาพของเด็กที่จนจริงๆ และมีผลการเรียนดี มาทำงานในสายอาชีพ มุ่งเน้นสาขาที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ทำให้เขามีทุนสำหรับการเรียนจนจบ โดยมีสถาบันและครูคอยดูแลตลอดหลักสูตร มีกระบวนการทำงานที่สถานประกอบการ เพื่อฝึกทักษะให้พร้อมเข้าสู่การทำงานจริง ถือว่า win win เด็กได้ทั้งทุนและรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว ขณะเดียวกันสถานประกอบการก็ได้คนพร้อมทำงาน”

2562 ปีแรกของการดำเนินงาน กองทุนฯมีเป้าหมายจัดสรรทุนการศึกษาให้เด็กเยาวชน 2,500 คน เพื่อให้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับสูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลาย แบ่งเป็นทุน 2 ปี โดยเปิดรับข้อเสนอ ระหว่าง 15-28 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา เพื่อให้สถานศึกษาที่มีคุณสมบัติเสนอโครงการเข้ามา

โดยต้องเป็นสถานศึกษาอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาลัย ชุมชน สถาบันอื่นๆ ที่เปิดสอนระดับ ปวส. หรืออนุปริญญาสายอาชีพ ทั้งรัฐ เอกชน และมีความพร้อมด้านเครื่องมืออุปกรณ์ มีความเชี่ยวชาญของบุคลากรผู้สอน ทำงานกับสถานประกอบการและระบบทวิภาคีที่มีคุณภาพ ที่สำคัญต้องเป็นสถาบันที่ตั้งใจค้นหาเด็กยากจนที่เรียนดีเพื่อมาเข้าเรียนในสถานศึกษาของตนเอง

นอกจากนี้ต้องมีการเปิดหลักสูตรหรือสาขาที่อยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือเป็นสาขาที่ขาดแคลนในท้องถิ่นหรือจังหวัด และสาขาวิทยาศาสตร์ ด้านเทคโนโลยีและเทคโยโลยีดิจิทัล

โดยพบว่าหลังจากปิดรับข้อเสนอ มีสถานศึกษาเสนอโครงการเข้ามารวม 108 แห่ง ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิจาก 3 ภาคส่วนเข้ามาช่วยในการคัดกรองอย่างโปร่งใส ทั้งนักวิชาการ ภาคเอกชน และสื่อมวลชนในระหว่างนี้ไปจนถึงเดือนมีนาคม 2562 

20190112 144753

สถานศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับ ค่าใช้จ่ายในการค้นหา และคัดเลือกผู้รับทุน 1,500 บาทต่อทุน และ ค่าใช้จ่ายพัฒนาคุณภาพ การเรียนการสอน สร้าง สมรรถนะ และคุณภาพชีวิต เยาวชน 10,000 บาทต่อทุน

สำหรับทุนที่จะมอบให้กับเด็ก แบ่งเป็นทุน 2 ปี โดยเด็กยากจนที่ได้รับการคัดเลือกจะมาจากเด็กที่กำลังเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือปวช.3 หรือเทียบเท่า เพื่อเข้าเรียนระดับปวส หรืออนุปริญญาสายอาชีพ จะได้รับค่าใช้จ่าย 7,500 บาท ต่อคนต่อเดือนตลอดหลักสูตร

ส่วนทุนระยะ 5 ปี คัดเลือกจากเด็กที่กำลังเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่า เพื่อเข้าเรียนระดับปวช.ต่อเนื่องปวส.หรืออนุปริญญา จะรับค่าใช้จ่าย 6,500 บาทต่อทุนใน 3 ปีแรก และ 7,500 ทุนใน 2 ปีหลัง  ขณะเดียวกันสถาบันและเด็กจะได้รับการพัฒนาศักยภาพ กับคณะผู้เชี่ยวชาญ ทั้งใน และต่างประเทศ การพัฒนาทักษะใน ยุคใหม่ รวมถึงเข้าเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่างๆอย่างต่อเนื่องไปพร้อมกันด้วย

“ภายในเดือนเมษายน 2562 เด็ก 2,500 คนที่ยากจนทั่วประเทศ จะได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนนี้เป็นครั้งแรก และจะมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายผลและปรับปรุงการดำเนินการให้ดีขึ้นสำหรับการมอบทุนการศึกษาจากกองทุนฯในปีต่อไป ทำให้ “ความยากจนกลายเป็นอดีต” สำหรับเด็กเยาวชนที่ขาดโอกาส พร้อมกับสร้างค่านิยมใหม่ในการเรียนสายอาชีพ โครงการนี้จึงตอบโจทย์ทั้งเด็กที่ขาดโอกาส และตอบโจทย์ประเทศไปพร้อมกัน”นายนพพร ย้ำ

P8095776

Avatar photo