Economics

ยังวิ่งไม่ออก! ‘รถไฟฟ้าขอนแก่น’ ติดหล่มเร่งเจรจาหาทางออก

ยังวิ่งไม่ออก! ‘รถไฟฟ้าขอนแก่น’ ติดหล่มเรื่องส่งมอบพื้นที่ เร่งเจรจา 2 หน่วยงานหาทางออก หวั่นถูกปรับแบบเป็นทางยกระดับ กระทบความคุ้มค่าในการลงทุน

แหล่งข่าวจากจังหวัดขอนแก่นเปิดเผยว่า แม้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) จะเห็นชอบให้จังหวัดขอนแก่น เป็นผู้พัฒนาและบริหารโครงการระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) เส้นทางสายสีแดง (สำราญ-ท่าพระ) ใน จ.ขอนแก่น ระยะทาง 22.8 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 26,963 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา แต่ถึงขณะนี้บริษัท ขอนแก่นทรานซิส ซิสเต็ม จำกัด (KKTS) ก็ยังไม่สามารถเดินหน้าการประมูลที่ค้างมาตั้งแต่ปี 2560 ได้ เพราะเกิดอุปสรรคเรื่องการส่งมอบพื้นที่ใน 2 ส่วน

รถไฟฟ้าขอนแก่น 4

ส่วนแรกคือบริเวณกรมการข้าว ซึ่งวางแผนจะก่อสร้างเป็นสถานีหลัก (Grand Station) ของโครงการ แต่ขณะนี้ยังไม่ความชัดเจนเรื่องการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ โดยทางโครงการอยู่ระหว่างรอคำตอบอย่างเป็นทางการจากกรมการข้าว หลังจากนั้นทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) และเจรจารายละเอียดกันก่อน จึงสามารถก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าวได้

ส่วนที่มีปัญหาลำดับถัดไป คือ แนวถนนของกรมทางหลวง (ทล.) เนื่องจากโครงการออกแบบให้เส้นทางนอกเมืองประมาณ 7-8 กิโลเมตร จากทั้งหมด 22.8 กิโลเมตร เป็นทางวิ่งระดับพื้นดิน โดยรถไฟฟ้าจะวิ่งอยู่บนเกาะกลางถนน ที่ปัจจุบันใช้ปลูกต้นไม้ และจะก่อสร้างขอบทางสูงประมาณ 50-60 เซนติเมตร เพื่อกั้นระหว่างรถไฟฟ้ากับรถยนต์

รถไฟฟ้าขอนแก่น3

แต่กรมทางหลวงเห็นว่า แบบและแนวเส้นทางดังกล่าวยังไม่ปลอดภัย เพราะรถยนต์ที่วิ่งนอกเมืองอาจใช้ความเร็วสูงถึง 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ดังนั้น กรมทางหลวงจึงขอให้จังหวัดขอนแก่นปรับปรุงแบบและแนวเส้นทางใหม่ พร้อมเพิ่มรายละเอียดมากขึ้น เช่น อาจจะเปลี่ยนจากทางวิ่งระดับพื้นดิน เป็นทางวิ่งยกระดับเหมือนแนวเส้นทางในเขตเมืองขอนแก่น

อย่างไรก็ตาม ทางโครงการค่อนข้างกังวลว่า การปรับแบบจากทางระดับพื้นดิน เป็นทางยกระดับจะทำให้งบประมาณสูงขึ้นและส่งผลต่อความคุ้มค่าของโครงการ

“การเปิดซองประมูลต้องรอความชัดเจนใน 2 ประเด็นนี้ก่อน ไม่งั้นนับ 1 เปิดซองประมูลและเริ่มก่อสร้างแล้ว ถ้าส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนไม่ได้ ก็เสี่ยงจะเกิดความเสียหายและทำให้ถูกฟ้องร้องภายหลัง” แหล่งข่าวกล่าว

อานนท์ เหลืองบริบูรณ์
อานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ตนยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว แต่ยืนยันว่ากรมทางหลวงยินดีสนับสนุนโครงการระบบขนส่งมวลชนต่างๆ แต่ขณะนี้เดียวกัน กรมทางหลวงก็ต้องพิจารณาเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นสำคัญด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้า โดยเฉพาะโครงการที่ใช้ทางระดับพื้นดินร่วมกับรถยนต์ (Tram) ได้สร้างความกังวลเรื่องความปลอดภัยต่อผู้ใช้ทางถนน ซึ่งโครงการที่มีปัญหาเรื่องนี้และต้องปรับแก้ไขแบบ ได้แก่ รถไฟฟ้าจังหวัดภูเก็ต, รถไฟฟ้าจังหวัดขอนแก่น และโครงรถไฟฟ้าความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หัวหิน เป็นต้น

สำหรับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าขอนแก่น สายสีแดง (สำราญ-ท่าพระ) มีทั้งหมด 2 สัญญา โดย KKTS ได้ให้เอกชนยื่นข้อเสนอตั้งแต่ปลายปี 2560 แต่ที่ผ่านมาได้ชะลอการเปิดซองข้อเสนอ เพราะรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนว่าจะให้ใครเป็นผู้บริหารโครงการ และล่าสุดก็ยังไม่ได้เปิดซองประมูล เพราะติดปัญหาเรื่องแบบและการส่งมอบพื้นที่

Avatar photo