COLUMNISTS

IUU ปลดใบเหลืองประมงไทย ถึงเวลาคืนลมหายใจให้ชาวประมงไทยหรือยัง

Avatar photo
1508

เมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา เราได้เห็นพาดหัวข่าวไปในทำนองเดียวกันคือ “ประมงไทย เฮ IUU ปลดใบเหลืองแล้ว” ขณะที่ฟากฝั่งรัฐบาลก็ตีปี๊บว่าเป็นผลงานจากความพยายามตลอดกว่า 4 ปีที่ผ่านมา ที่ออกมาตรการทั้งใช้อำนาจพิเศษและแก้กฎหมายหลายอย่าง มาควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย

S 10854413

ส่วนตัวก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่อยากให้ถือโอกาสนี้หันมามองชีวิตชาวประมง ทั้งชาวประมงพานิชย์ และชาวประมงพื้นบ้าน รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเรื่องนี้ด้วย

ย้อนดูมาตรการของรัฐบาลมีทั้งการใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.มาแก้ปัญหาหลายครั้ง รวมถึงออกพ.ร.ก.การประมงฉบับที่ 2 ปี 60 ตามด้วยการออกกฎระเบียบข้อบังคับอีกเกือบ 300 ฉบับ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการใช้ดุลพินิจพิจารณาการกระทำผิด

ขณะที่บทลงโทษก็รุนแรงแม้จะเป็นการทำผิดเล็กน้อยก็ตาม ทำให้การขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาลดังกล่าวส่งผลกระทบประมงไทยในวงกว้าง จนเราได้เห็นภาพประมงลอยลำไม่ออกจากท่า ประท้วงรัฐบาลเป็นระยะๆ

แต่สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐ มีแต่ใช้ไม้แข็งฟาดตรงลงไปเรื่อย ๆ ด้วยทัศนคติเหมือนกับการไล่จับผู้ร้ายแบบหว่านแห

ไม่มีใครอยากทำผิดกฎหมาย ชาวประมงก็เช่นเดียวกัน รัฐบาลอยากยกระดับการประมงไทยให้เป็นสากล ก็ควรจะดูพัฒนาการในการแก้ปัญหาของต่างประเทศด้วย อย่างเช่น EU กว่าจะเป็น EU NPOA-IUU เขาใช้เวลาเกือบ 20 ปี ในการลดจำนวนเรือประมงที่มีอยู่มากกว่า 1.6 แสนลำ เหลือประมาณ 8-9 หมื่นลำ ใช้งบประมาณไปกว่า 5 แสนล้านบาท

ขณะที่รัฐบาลไทยทำแบบหักดิบกวาดล้างภายใน 4 ปี ด้วยอำนาจพิเศษ และการบังคับใช้กฎหมายที่ยังมีหลายอย่างบกพร่อง มีปัญหาในทางปฏิบัติ แต่คนรับกรรมเต็ม ๆ คือ ชาวประมง ซึ่งได้รับการเยียวยาจากภาครัฐในสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับการสูญเสียที่เรียกได้ว่าแทบหมดตัว

S 10854412

สิ่งที่รัฐบาลควรทำในขณะนี้คือ รับฟังและทบทวนในเรื่องประกาศควบคุมการทำประมง โดยให้ชาวประมงมีส่วนร่วมเพื่อไม่ให้ประกาศควบคุมการทำประมงไปสร้างเงื่อนไขขัดกับวิถีประมง รวมถึงประเด็นข้อกฎหมายที่ พ.ร.ก.ประมงบางข้อซ้ำซ้อนกับภารกิจของหน่วยงานอื่น และมีบทลงโทษที่รุนแรงเกินควร

อีกทั้งควรได้พิจารณาถึงชีวิตจริงของชาวประมงที่ต้องแบกภาระทั้งเรื่องค่าดูแลเรือ ค่าแรงที่ต้องจ่ายรายเดือนทั้งปีในขณะที่ออกทะเลได้เพียง 241 วัน และปัญหาค่าบริการรายเดือนของอุปกรณ์ VMS ที่ชาวประมงต้องรับภาระตลอดในช่วงที่จอดเรือ ไปจนถึงการรับซื้อเรือคืนที่สมัครใจออกจากระบบ ที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด เพื่อลดภาระให้กับชาวประมง

ที่ผ่าานมารัฐบาลใช้งบประมาณหลายหมื่นล้านบาทไปกับการแจกเงินให้คนจน แต่กลับละเลยที่จะทำให้คนหายจนหรือป้องกันไม่ให้เกิดคนจนเพิ่มขึ้น การทบทวนกฎหมายที่บกพร่อง เปิดช่องทางให้ชาวประมงได้มีพื้นที่หายใจ ทำตามกฎหมายได้โดยไม่ขัดกับวิถีประมง คืออีกหนึ่งช่องทางในการป้องกันไม่ให้เกิดคนจน

เป็นการคืนลมหายใจให้ชาวประมงซึ่งจะเป็นการคืนความสุขให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากการบริโภคปลาทะเลในราคาถูกลงด้วย ถ้าทำได้เราจะได้เฮร่วมกันทั้งรัฐบาลและชาวประมงไทย