Business

เจาะแนวคิด‘ไทยแลนด์พาวิลเลียน’ เวิลด์ เอ็กซ์โป ดูไบ ชิงผู้ชม 1.75 ล้านคน

อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ คว้างาน “ไทยแลนด์ พาวิลเลียน”  เวิลด์ เอ็กซ์โป 2020  มูลค่า 887 ล้านบาท ชูแนวคิด THAI’S DNA ดึงผู้ชมงาน 1.75 ล้านคน

นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจด้านการตลาดเชิงสร้างสรรค์ครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่าการจัดงานนิทรรศการนานาชาติระดับโลก “เวิลด์ เอ็กซ์โป 2020 ดูไบ” (World Expo 2020 Dubai) ที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564  ซึ่งมีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมงานจำนวน 180 ประเทศ โดยประเทศเจ้าภาพคาดว่าจะดึงดูดผู้ชมงานราว 25 ล้านคน งานนี้จะจัดบนพื้นที่กว่า 4 ตารางกิโลเมตร ริมชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของนครดูไบ

อินเด็กซ์ฯ ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่เป็นหน่วยงานหลักในการเป็นเจ้าภาพเข้าร่วมงานเวิลด์ เอ็กซ์โป 2020 ดูไบ ในการสร้างและบริหารอาคารแสดงประเทศไทย (Thailand Pavilion)  ภายในงานเวิลด์ เอ็กซ์โป 2020 ดูไบ อีกครั้ง  หลังจากเริ่มต้นทำไทยแลนด์พาวิลเลียนที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ในปี 2010 ซึ่งศาลาไทยติดอันดับท็อป 7 ของพาวิลเลียนยอดนิยม ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนจีนและคนต่างชาติรู้จักคนไทยมากขึ้น จากนั้นในปี 2012 ได้จัดแสดงไทยแลนด์พาวิลเลียน ที่ประเทศเกาหลี ซึ่งติดท็อป 3 ของพาวิลเลียน ยอดนิยม สำหรับปี 2017 เวิลด์ เอ็กซ์โปที่จัดขึ้น ณ กรุงอัสตานา ประเทศคาซัคสถาน สามารถคว้าที่ 2 ของพาวิลเลียนยอดนิยมมาได้

thumbnail S 7929937
ไทยแลนด์พาวิลเลียน เวิลด์ เอ็กซ์โป 2020 ดูไบ

สำหรับการสร้างอาคารแสดงประเทศไทยในเวิลด์ เอ็กซ์โป 2020 ดูไบ  พื้นที่จัดแสดงด้าน Mobility หรือ การขับเคลื่อน ภายใต้แนวคิด “Mobility for the future การขับเคลื่อนสู่อนาคต” โดยอาคารแสดงประเทศไทยจะเสนอแนวคิดของการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศไทยในมิติ Digital for Development ผสมผสานกับการนำเสนอเอกลักษณ์ความเป็นไทยผ่านการพัฒนาด้านดิจิทัลเทคโนโลยีที่โดดเด่น บนพื้นที่กว่า 3,600 ตารางเมตร หรือ 2.25 ไร่ โดยอินเด็กซ์ฯ ได้รับมอบหมายในฐานะผู้บริหารจัดการอาคารศาลาไทย ซึ่งรับผิดชอบตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนกลยุทธ์ ดำเนินการจัดนิทรรศการ บริหารจัดการ ควบคุมงานก่อสร้าง รวมถึงวางแผนด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ โดยมีมูลค่าการจัดงานทั้งสิ้น 887 ล้านบาท

“ความแตกต่างของการทำพาวิลเลียนครั้งนี้คือ กลุ่มเป้าหมายจะเปลี่ยนจากคนท้องถิ่นเป็นนักท่องเที่ยว 70% ซึ่งต่างจากหลายๆ ปีที่เราเคยจัด ที่เป็นคนท้องถิ่นเข้ามาดู จึงตั้งเป้าไว้ว่าต้องทำให้เป็นพาวิลเลียนที่ได้รับความนิยมให้ได้”

แนวทางการสร้างพาวิลเลียน จึงศึกษาว่าคนต่างชาติมองประเทศไทยเป็นอย่างไร และจากผลการสำรวจของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พบว่าคนต่างชาติเห็นว่าคนไทยมีมิตรไมตรี มีความสุข ยินดีต้อนรับ และยิ่งตอกย้ำด้วยการได้รับรางวัล Best Country For People จากนิตยสาร Conde Nest Traveller ในปี 2018  อินเด็กซ์ฯ จึงใช้ผลสำรวจนี้มาจัดสร้างไทยแลนด์พาวิลเลียน ผ่าน THAI’S DNA มหัศจรรย์แห่งรอยยิ้ม (Miracle of smile) เพื่อจะทำให้อาคารแสดงประเทศไทยโดดเด่น และได้เลือกใช้พวงมาลัยเป็นสัญลักษณ์ประจำอาคารแสดงประเทศไทย เพื่อสื่อถึงการต้อนรับที่จริงใจ

thumbnail S 7929936
ไทยแลนด์พาวิลเลียน เวิลด์ เอ็กซ์โป 2020 ดูไบ

“ถือเป็นกลยุทธ์ทำแบรนดิ้งของประเทศไทยผ่านไทยแลนด์พาวิลเลียน ไปสู่สายตาชาวโลก เพื่อตอกย้ำว่าครีเอทีฟคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก”

นายเกรียงไกร กล่าวว่าความท้าทายในครั้งนี้คืองบประมาณของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศชั้นนำอื่นๆ ที่ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาทต่อพาวิลเลียน  อีกทั้งต้องแข่งกับทั้งเมืองดูไบเอง ที่มีสถานที่ท่องเที่ยวจำนวนมาก รวมทั้งกับพาวิลเลียนอื่นๆ ที่อยู่ภายในงาน จึงต้องวางแผนทำการตลาดว่าจะทำอย่างไรให้คนเข้ามาชม

การจะทำให้ไทยแลนด์พาวิลเลียน ประสบความสำเร็จแบ่งออกเป็น 4 สัดส่วนหลัก ได้แก่ องค์ประกอบการจัดงาน 25% กิจกรรม 16% การประชาสัมพันธ์ 14% และสถาปัตยกรรม 9%  จากกลยุทธ์ดังกล่าวมั่นใจว่าจะมีผู้เข้าร่วมชมไทยแลนด์พาวิลเลียนประมาณ 7% ของจำนวนผู้เข้าชมทั้งหมดหรือประมาณ 1.75 ล้านคน

thumbnail เกรียงไกร1
เกรียงไกร กาญจนะโภคิน

Avatar photo