World News

แย่ทั่วโลก!! ธุรกิจแห่ส่งสัญญาณปี 62 ไม่สวยเท่าคิด

บริษัทต่างๆ ทั่วโลก เริ่มแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการดำเนินงานที่มืดหม่นลงเพิ่มมากขึ้น จากปัจจัยลบที่รุมเร้า ทั้งสงครามการค้า เศรษฐกิจจีนชะลอตัว สถานการณ์เบร็กซิทที่ยังไม่ชัดเจน และตลาดหุ้นผันผวน

นับถึงเมื่อวานนี้ (10 ม.ค.) บริษัทขนาดใหญ่มากกว่า 6 มีการเคลื่อนไหวที่บ่งชี้ถึงทิศทางที่ย่ำแย่ ทั้งลดคาดการณ์กำไร ปลดพนักงานจำนวนมาก หรือยกเลิกแผนการต่างๆ ในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับความผันผวนของตลาดอย่างหนัก

อเมริกัน แอร์ไลนส์ กรุ๊ป อิงค์ จากัวร์ แลนด์ โรเวอร์ เมซีส์ อิงค์ และแบล็กร็อค อิงค์ กลายมาเป็นบริษัทขนาดใหญ่สุด ที่ส่งสัญญาณถึงการเดินไปในทิศทางเดียวกับแอปเปิล อิงค์ และเฟดเอ็กซ์ คอร์ป ในการออกมาเตือนว่า แนวโน้มการดำเนินงานในอนาคต ดูไม่ค่อยดีเหมือนกับที่เคยเป็นมาเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน

แม้จะเพิ่งเริ่มเข้าสู่ปีพุทธศักราชใหม่ร่วม 10 วันเท่านั้น แต่อุตสาหกรรมหลักๆ เหล่านี้ ก็เริ่มแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่ได้รับจากปัจจัยลบต่างๆ แล้ว

789e2306333e2d54225e6c18a8a0d3e404ec3660

ขนส่ง

สายการบินสหรัฐเจอกับแนวโน้มที่ย่ำแย่ลง จากภาวะเศรษฐกิจไร้เสถียรภาพ ที่อาจกลายเป็นภัยคุกคามต่อความต้องการของผู้บริโภค

สายการบินอเมริกัน แอร์ไลนส์ เป็นสายการบินสหรัฐรายล่าสุด ที่ออกมาปรับลดคาดการณ์ผลกำไรของบริษัท หลังเดลต้า แอร์ ไลนส์ อิงค์ ดำเนินการทำนองเดียวกันนี้ไปตั้งแต่เริ่มเข้าปีใหม่ ทั้งการปรับลดตัวเลขคาดการณ์นี้ ยังเป็นการประเมินสถานการณ์ก่อนที่จะเกิดภาวะชัตดาวน์หน่วยงานราชการสหรัฐขึ้นมาด้วย

ผู้ให้บริการการเดินทางทางอากาศเหล่านี้ ยังคาดการณ์ถึงสถานการณ์ที่มืดหม่นในปี 2562 โดยเฟดเอ็กซ์ ปรับลดแนวโน้มการดำเนินงานเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเพียง 3 เดือนหลังจากที่บริษัทเพิ่งปรับเพิ่มคาดการณ์ สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในมุมมองที่มีต่อเศรษฐกิจโลก ที่ “เฟรด สมิธ” ซีอีโอของบริษัทยกเรื่องความตึงเครียดทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างจีน กับสหรัฐ มาเป็นเหตุผลหลักต่อการปรับลดคาดการณ์ดังกล่าว

รถยนต์

การที่ จากัวร์ และฟอร์ด มอเตอร์ โค ประกาศแผนการปรับลดค่าใช้จ่ายครั้งใหญ่ สะท้อนให้เห็นว่า อุตสาหกรรมรถยนต์โลก อาจจะตกอยู่ในภาวะซบเซาอีกครั้ง หลังเพิ่งกลับมาเฟื่องฟูในสหรัฐ และยุโรปได้ไม่นานนัก

ฟอร์ดดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่สุดที่เคยเกิดขึ้นในภูมิภาคยุโรป ที่อาจรวมถึงการปิดโรงงานหลายแห่ง ส่วนจากัวร์ ค่ายรถยนต์รายใหญ่สุดของอังกฤษ ตามมาติดๆ ด้วยการประกาศปลดพนักงาน 4,500 คน หรือราว 10% ของพนักงานบริษัททั่วโลก ซึ่งบริษัทอ้างถึงผลกระทบจากการที่อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) และขาลงในจีน

แบรนด์ค้าปลีก สินค้าหรูหรา

อุตสาหกรรมค้าปลีกส่งสัญญาณถึงสถานการณ์ที่ย่ำแย่ในเกือบทุกภูมิภาค ซึ่งแม้ปัญหาที่เกิดขึ้นจะมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป แต่อย่างหนึ่งที่เหมือนกันหมด ก็คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บิรโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มแบรนด์สินค้าหรูหรา อย่าง ทิฟฟานี แอนด์ โค และแอลวีเอ็มเอช บริษัทแม่ของหลุยส์วิตตอง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทิฟฟานี บอกว่า ตัวเลขยอดขายที่น้อยกว่าคาดการณ์ของบริษัท เน้นให้เห็นถึง “รูปแบบที่ชัดเจน” ว่า นักช้อปชาวจีนพากันลดการใช้จ่าย เมื่อพวกเขาเดินทางไปยังต่างประเทศ

การออกมาลดคาดการณ์ตัวเลขยอดขายในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ของเมซีส์ และโคห์ลส์ คอร์ป ยังเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดเท่าที่เคยมีมาว่า เทศกาลวันหยุดของสหรัฐ อาจจะไม่ใช่ช่วงเวลาทองที่ผู้ค้าปลีกพากันตั้งความหวังไว้อีกต่อไป

47de142e 9f8b 11e8 90bf ccc49f9b020a 1280x720 093552

การเงิน

บรรดาผู้จัดการสินทรัพย์ต่างๆ กำลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน จากความผันผวนที่เกาะติดตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ อยู่ ทั้งนักลงทุนก็พากันทุ่มเงินเข้าไปลงทุนในกองทุนที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมน้อย

แบล็คร็อค เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์รายล่าสุด ที่ประกาศลดจำนวนพนักงานลง ตั้งเป้าไว้ที่ 500 คน หรือลดลงไป 3% ทั่วโลก

อุตสาหกรรม

ภาวะไร้เสถียรภาพของตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มส่งผลกระทบต่อการวางแผนการเงินของเหล่าธุรกิจขนาดใหญ่ โดยยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมของสหรัฐ อย่าง ยูไนเต็ด เทคโนโลยีส์ คอร์ป ประกาศระงับการขายธุรกิจรักษาความปลอดภัย และป้องกันอัคคีภัย เพราะความผันผวนที่เกิดขึ้น โดยหันไปใช้วิธีการแตกกิจการธุรกิจที่ไม่ทำกำไร อย่าง เครื่องยนต์เครื่องบิน ลิฟต์ และอุปกรณ์ควบคุมสภาพอากาศ

เทคโนโลยี

แอปเปิล อิงค์ ทำให้อุตสาหกรรมนี้สั่นสะเทือนกันตั้งแต่ต้นปี ด้วยการประกาศลดคาดการณ์ตัวเลขยอดขาย เป็นครั้งแรกนับแต่ก่อตั้งบริษัทมา ที่แอปเปิลปรับลดแนวโน้มของบริษัท

ที่มา:  Bloomberg 

Avatar photo