Business

มาเร็วเคลมเร็ว! คาดเปิดประมูล ‘สายสีน้ำตาล’ 4.8 หมื่นล้านปลายปีนี้

มาเร็วเคลมเร็ว! รฟม. คาดประมูล ‘รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล’ 4.8 หมื่นล้านบาทได้เร็วสุดปลายปีนี้ ยึดโมเดลรถไฟฟ้าชมพู-เหลือง ให้สัมปทานเอกชนเข้าลงทุน

จากมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่เห็นชอบผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) วงเงินลงทุน 4.8 หมื่นล้นบาท พร้อมมอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ดำเนินการนั้น

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขั้นตอนต่อไปก็ต้องเสนอมติ คจร. เรื่องโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา จากนั้นสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) และ รฟม. จะต้องจัดทำรายงานการร่วมทุนกับเอกชน (PPP) คู่ขนานกัน โดยคาดว่า รฟม. จะสามารถเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลได้เร็วที่สุดประมาณปลายปีนี้

รถไฟฟ้า สายสีน้ำตาล 2

 สำหรับการลงทุนจะเป็นรูปแบบพีพีพีเหมือนรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง คือ รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนงานก่อสร้าง ดูแลงานระบบและขบวนรถไฟฟ้า ให้บริการเดินรถและบำรุงรักษา รวมถึงเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารด้วย

“รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลก็มีความเร่งด่วนพอสมควร เพราะมีงานฐานรากซึ่งซ้อนทับกับทางด่วนเกษตรนวมินทร์ ซึ่งต้องดำเนินการส่วนนี้ก่อน เพื่อไม่ให้เปิดหน้าดินซ้ำซ้อน โดย รฟม. อาจขอให้การทางพิเศษฯ ลงทุนฐานรากไปก่อน จากนั้นจะให้เอกชนที่ชนะการประมูลรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลชำระเงินคืนภายหลัง” นายภคพงศ์กล่าว

ชงรายงานพีพีพี ‘ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าชมพู-เหลือง’

สำหรับที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ครั้งถัดไปวันที่ 25 มกราคมนี้ จะมีการพิจารณารายงานพีพีพี โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ส่วนต่อขยาย) ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ส่วนต่อขยาย) ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร วงเงินลงทุนประมาณ 6,000 ล้านบาท

ถ้าบอร์ด รฟม. เห็นชอบ ก็จะเสนอเรื่องให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาภายใน 60 วันและจะให้เสนอให้คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) พิจารณารูปแบบการลงทุนตามลำดับ

รถไฟฟ้าสายสีชมพู
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี

แต่เบื้องต้นมีแนวโน้มว่า การให้ผู้ชนะการประมูลรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย คือกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ดำเนินการเส้นทางส่วนต่อขยายจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด เนื่องจากกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ มีความพร้อมเรื่องสถานีซ่อมบำรุงและอื่นๆ ซึ่งเอกชนรายอื่นคงเข้ามาแข่งขันได้ยาก ส่วนการจัดทำรายงานอีไอเอเส้นทางส่วนต่อขยายยังไม่แล้วเสร็จและอยู่ระหว่างการดำเนินการคู่ขนานกัน

ทั้งนี้ ถ้าหากกระบวนการทั้งหมดราบรื่น ก็คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูส่วนต่อขยายได้ภายในปี 2562 หรือช้าที่สุดไม่เกินต้นปี 2563 เพื่อให้ทันกับการก่อสร้างเส้นทางหลักที่ต้องเปิดให้บริการในปี 2564

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย วงเงิน 6,000 ล้านบาท เป็นข้อเสนอพิเศษของกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ที่มีบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เป็นแกนนำ เพื่อทำให้โครงการคุ้มค่ามากขึ้น โดยกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์จะเป็นผู้ลงทุนส่วนต่อขยายทั้งหมดด้วยตัวเอง แต่รัฐบาลมีเงื่อนไขว่า การก่อสร้างส่วนต่อขยายต้องแล้วเสร็จพร้อมกับเส้นทางหลัก จึงสามารถดำเนินการได้

 

Avatar photo