Economics

ไขข้อข้องใจ!! ทำไมกทพ.ต้องขยายสัมปทาน 30 ปีแลกหนี้

หลายคนอาจจะเกิดข้อสงสัยว่าทำไมฝ่ายบริหารการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ถึงต้องใช้วิธีการเจรจาไกล่เกลี่ย กับเอกชนผู้รับสัมปทานทางด่วนอย่างบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เพื่อแลกกับข้อพิพาทและคดีฟ้องร้องกันระหว่างกันในหลายกรณี

ก่อนหน้านี้ นายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการกทพ. บอกว่าบอร์ดเห็นชอบที่ให้กทพ.เจรจากับ BEM บอกด้วยว่า BEM ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี การเจรจาค่อนข้างประสบความสำเร็จ โดยกทพ. ได้เสนอขยายสัมปทานทางพิเศษ (ทางด่วน) อุดรรัถยา และทางด่วนศรีรัช โครงข่ายนอกเมือง (ทางด่วนขั้นที่ 2) ช่วง C และ D  เพื่อล้างหนี้ทั้งหมดให้เป็นศูนย์ อยู่ระหว่างการคำนวณว่าจะต้องขยายอายุสัมปทานออกไปเท่าใด เบื้องต้นประเมินว่าจะอยู่ระหว่าง 30-40 ปี

สุรงค์
สุรงค์ บูลกุล

ปัญหาการฟ้องร้องระหว่างกทพ.กับ BEM เป็นเรื่องน่าหนักอกหนักใจพอสมควร จนใครๆเรียกว่า “มหากาพย์” เพราะเกิดขึ้นมาหลายยุคหลายสมัย แต่การดำเนินการไม่จบสิ้นสักที มารัฐบาลยุคนี้ก็ไม่อยากที่จะให้เรื่องมันยืดเยื้อและยาวนานไป และไม่อยากที่จะเข้าไปยุ่งเรื่องคดีฟ้องร้องสักเท่าไหร่ จึงเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้มีการเจรจากันเกิดขึ้น และรัฐจะต้องไม่เสียประโยชน์ น่าจะเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล

เมื่อมีข่าวการขยายสัมปทานแลกกับการลดหนี้เกิดขึ้น อาจทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งเกิดความไม่เข้าใจและไม่เห็นด้วย อาจจะมองว่าเอกชนจะได้เปรียบ ตรงกันข้ามหากไม่ได้ข้อยุติ  เอกชนก็จะยังคงได้เปรียบอยู่นั่นเอง เพราะถึงอย่างไรกทพ.ก็แพ้คดีฟ้องร้องไปแล้ว สุดท้ายรัฐก็ต้องควักเงินจ่ายพร้อมดอกเบี้ยจะนานแค่ไหนก็ต้องจ่าย

มาไล่เรียงดูว่า “มหากาพย์ค่าโง่ทางด่วน” ที่ใครๆชอบพูดกัน มันเป็นมาอย่างไร ทำไมเอกชนคู่สัญญาถึงต้องยื่นฟ้องคดีนี้ เกิดขึ้นเพราะอะไร ในยุคไหนสมัยไหน และใครคือผู้ที่ควรต้องรับผิดชอบเรื่องนี้

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเจรจาแก้ไขปัญหาข้อพิพาทและดำเนินงาน โครงการทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วนABC และD) และทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด (ส่วน C+) ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) และบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM

ทางพิเศษ2 01

 

 เริ่มจากกทพ.มีสัมปทานกับ BEM อยู่ 3 สัญญา ที่มีปัญหาข้อพิพาทกันจำนวนมาก คือสัญญาด่วนขั้นที่ 2 (ส่วนABC และ D) และทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด (ส่วน C+) ข้อพิพาทส่วนใหญ่เกิดจากเรื่องการปรับค่าผ่านทางและผลกระทบทางแข่งขัน ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปตลอดสัญญา

ข้อพิพาทเรื่องค่าผ่านทางเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2546 สมัยที่ นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จากการที่กทพ.ไม่ปรับขึ้นค่าผ่านทางให้ BEM ตามสัญญาซึ่งกำหนดว่าทุก 5 ปี ให้ปรับขึ้นค่าผ่านทางตามเงินเฟ้อ(CPI) ที่มากขึ้น โดยปัดขึ้นเป็นจำนวนเต็ม 5 บาท แต่ตลอด 5ปีไม่ได้ปรับ แต่กทพ.ให้วิธีปัดลงหากคำนวณแล้วไม่ถึง 5 บาท ทำให้ BEM ได้รับความเสียหายจากรายได้ที่ลดลงต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าคณะอนุญาโตตุลาการ ชี้ขาดให้กทพ.ชดใช้ BEM แต่กทพ.ไม่ยอมรับและได้ยื่นฟ้องเพิกถอนคำชี้ขาดต่อศาลปกครอง

ข้อพิพาทเรื่องผลกระทบทางแข่งขันเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2542 สมัยที่นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จากการที่กทพ.ไม่ชดเชยรายได้ที่ลดลงสำหรับทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด ให้แก่ NECL (บริษัทลูกของ BEM ) เนื่องจากมีการก่อสร้างดอนเมืองโทลล์เวย์ ส่วนต่อขยายจากอนุสรณ์สถาน-รังสิต มาแข่งขัน ทำให้ทางด่วนสายนี้มีรายได้ลดลง ซึ่งตามสัญยากำหนดไว้ว่าหากมีการก่อสร้างทางในพื้นที่ใกล้เคียงทำให้ทางด่วนสายนี้มีรายได้ลดลงถือเป็น“ทางแข่งขัน” กทพ.จะชดเชยรายได้ให้ NECL ตามวิธีที่กำหนดในสัญยา

แต่กทพ.ไม่ยอมชดเชย โดยอ้างว่าดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยายไม่ใช่ “ทางแข่งขัน” จึงเกิดข้อพิพาทขึ้น แต่คณะอนุญาโตตุลาการ “ตัดสินให้ NECL ชนะ “ แต่กทพ.ไม่ยอมรับ จึงฟ้องเพิกถอนต่อศาลปกครอง สุดท้าย เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาให้กทพ. ชดเชยรายได้ที่ลดลงจากผลกระทบ”ทางแข่งขัน” ในปี 2542-2543 ให้แก่ BEM  เป็นเงิน 4,318 ล้านบาท คดีนี้จะมีผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันคิดเป็นมูลค่ากว่า 75,000 ล้านบาท

สิ่งที่เกิดขึ้น กระทรวงคมนาคมได้รายงาน คำพิพากษาดังกล่าวและแนวทางเจรจาให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) ทราบ จากนั้นครม.ได้มีมติให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเจรจาต่อรองกับคู่พิพาท เพื่อบรรเทาความเสียหายของรัฐ โดยให้ดำเนินการอย่างโปร่งใส ชอบด้วยกฎหมาย และคำนึงถึงประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ

จากนั้นทั้งสองฝ่ายก็ได้มีการเจรจาเกิดขึ้น โดยกำหนดกรอบการเจรจาไกล่เกลี่ยยุติข้อพิพาท ระหว่างกทพ.และ BEM ต้องไม่นำข้อพิพาทเดิมมาฟ้องร้องกันอีก ทั้งนี้กทพ.จะไม่มีการชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินสดให้ BEM และมีเงื่อนไขว่า BEM จะลงทุนปรับปรุงทางด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร และการปรับค่าผ่านทางจะเป็ยแบบคงที่ทุก 10 ปี โดยที่กทพ.ต้องได้รับส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางไม่น้อยไปกว่าเดิม

 ผลการเจรจา

  1. กทพ.และ BEM จะถอนฟ้องยุติข้อพิพาททั้งหมดโดยไปรับสิทธิรายได้ในอนาคตจากการขยายสัมปทานแทนจากมูลค่าข้อพิพาทกว่า 134,000 ล้านบาท จะลดลงเหลือประมาณ 64,000 ล้านบาท ถือว่าต่ำกว่ามูลค่าข้อพิพาทจากผลกระทบ“ทางแข่งขัน”
  2. BEM จะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและปรับปรุงทางด่วน โดยจะก่อสร้างทางยกระดับชั้นที่ 2 จากอโศก-งามวงศ์วาน ระยะทาง 17 กิโลเมตร และก่อสร้างช่องจราจร Bypass โดยจะไม่มีการเวนคืนที่ของประชาชน มูลค่าการก่อสร้างประมาณ 31,500 ล้านบาท และจะไม่มีการเก็บค่าผ่านทางเพิ่มแต่อย่างใด เพื่อเป็นการแก้ปัญหาจราจร เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ทาง ที่สำคัญลดภาระการลงทุนของภาครัฐ
  3. กทพ.และ BEM จะแบ่งสัดส่วนรายได้ค่าผ่านทางเท่ากับที่กทพ.ได้รับอยู่ในปัจจุบัน

ทางยกระดับ 01

 ประโยชน์ที่ได้รับจากการเจรจาครั้งนี้

  1. ประชาชนจะได้ใช้ทางด่วนที่มีประสิทธิภาพ  รถไม่ติด และไม่ต้องเสียค่าผ่านทางเพิ่มในการใช้ทางยกระดับชั้นที่ 2
  2. จ่ายค่าผ่านทางถูกโดยปรับอัตราค่าผ่านทางแบบคงที่ทุก 10 ปี เช่น ปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 50 บาท ปี 2571 จะปรับเป็น 60 บาท ส่วนปี 2580 จะปรับเป็น 70 บาท
  3. รัฐบาลไม่ต้องมีภาระสนับสนุน กทพ.ในการก่อสร้าง

สิ่งที่เกิดขึ้น จะช่วยบรรเทาความเสียหายที่เกิดต่อรัฐจากกรณีแพ้คดี และสามาถยุติข้อพิพาททั้งหมดที่มีกับ BEM โดยไม่ต้องเป็นภาระหนี้ สามารถลกภาระการลงทุนและการดำเนินงานของกทพ. ซึ่ง BEM จะเป็นผู้รับความเสี่ยงในการดำเนินโครงการทั้งด้านรายได้และค่าใช้จ่ายแทน ส่วนกทพ.ก็จะมีรายได้ค่าผ่านทางไม่น้อยไปกว่าเดิม

อย่างไรก็ดี จากสิ่งที่เกิดขึ้นหากการเจรจาไม่เป็นที่ยุติ หรือจะยังมีกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดที่ไม่เห็นด้วย ยืดเยื้อจนทำให้การแก้ปัญหาข้อพิพาทสะดุด ผลสุดท้ายรัฐโดยกทพ.ก็จะต้องจ่ายชดเชยให้กับ BEM อยู่ดี แน่นอนวงเงินก็จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆพร้อมดอกเบี้ย แต่หากทั้งสองฝ่ายและกลุ่มที่ยังไม่เห็นด้วย เข้าใจในกระบวนการที่เกิดขึ้นสักนิด ทุกอย่างน่าจะมีทางออกที่ดีกว่าที่เป็นอยู่

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight