Economics

รฟท.รื้อสัญญาเช่าที่ ดันรายได้เชิงพาณิชย์โต 10%

การรถไฟฯ เร่งรื้อสัญญาเช่าที่ดิน หวังดันรายได้เชิงพาณิชย์ปีนี้โต 10%  เข็นโปรเจคพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขอนแก่น 8 พันล้าน จุดพลุพัฒนาอีสานต่อเนื่อง

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่าในปีงบประมาณ 2562 การรถไฟฯ คาดว่าจะมีรายได้ธุรกิจหลัก (Core Business) ประมาณ 5,600-5,800 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีงบประมาณ 2561 แบ่งเป็นรายได้จากการขนส่งผู้โดยสาร 3,800 ล้านบาทและรายได้จากขนส่งสินค้า 1,800-2,000 ล้านบาท

ด้านรายได้ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก (Non-Core Business) คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10% เป็น 3,800 ล้านบาท เนื่องจากการรถไฟฯ ได้เร่งเจรจาและทำสัญญาเช่าที่ดินที่หมดอายุใหม่ โดยเป็นการทำสัญญาที่ดินขนาดเล็กหลายแปลงรวมกัน ซึ่งช่วยให้การรถไฟฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นในปีนี้

S 74571816
วรวุฒิ มาลา

นอกจากนี้การรถไฟฯ อยู่ระหว่างผลักดันโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์แปลงใหม่ๆ ที่มีขนาดใหญ่หลายแปลง เพื่อเพิ่มรายได้เชิงพาณิชย์ให้มากยิ่งขึ้น

พื้นที่ที่มีความสำคัญมากที่สุดในตอนนี้ คือโครงการพัฒนาศูนย์คมนาคมพหลโยธิน แปลง เอ ขนาด 32 ไร่ มูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างร่างเงื่อนไขการประมูล (TOR) โดยเฉพาะคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูล คาดว่าจะเปิดประมูลได้เร็วที่สุดในไตรมาสแรก ปี 2562

พัฒนาพื้นที่รอบรถไฟขอนแก่น

ขณะเดียวกันการรถไฟฯ ได้ศึกษาการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟขอนแก่น จ.ขอนแก่น ในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากเป็นสถานีที่มีศักยภาพ มีการพัฒนารถไฟทางคู่, รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 2 และระบบขนส่งรางเบาในตัวเมืองขอนแก่นด้วย โดยได้มีการสัมมนาทดสอบความสนใจนักลงทุน (Market Sounding) โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณอาคารบ้านพักพนักงาน อาคารที่ทำการ และสนามกอล์ฟที่สถานีรถไฟขอนแก่น ตาม พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ในวันนี้ (7 ม.ค.)

ทั้งนี้ สถานีรถไฟขอนแก่นมีพื้นที่ที่สามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์แปลง B-F รวม 108.4 ไร่ จึงได้ศึกษาแนวคิดในการพัฒนาเบื้องต้น คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 3-4 เดือน ถ้าหากโครงการมีความไปได้ ก็จะมาศึกษาออกแบบและประเมินมูลค่าการลงทุนต่อไป

S 74571814

สำหรับรายละเอียดการศึกษาโครงการเบื้องต้นเป็นดังนี้ โซน B ขนาด 16.2 ไร่ พัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณย่านสถานีรถไฟ (TOD), โซน C และ D ขนาดรวม 16.5 ไร่ เป็นโรงแรม ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า, โซน E ขนาด 58.6 ไร่ เป็นพื้นที่สวนสนุกและพื้นที่สันทนาการ และโซน F ขนาด 8 ไร่ เป็นพื้นที่ประเภทกลุ่มอาคารสำนักงานและที่พักอาศัยของพนักงาน คาดว่ามูลค่าการลงทุนจะอยู่ราว 5,000-8,000 ล้านบาท ระยะเวลาการให้สัมปทานอยู่ระหว่าง 30-50 ปี

อย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษาต้องนำการศึกษาดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นจากคนท้องถิ่นก่อนและแนวคิดดังกล่าวยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยการรถไฟฯ ต้องการสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่นให้เข้าร่วมพัฒนาโครงการนี้

S 74571815

เล็งลงทุนรถไฟรางคู่ “อีสาน”

นายวรวุฒิ กล่าวต่อว่า การรถไฟฯ อยู่ระหว่างเตรียมเสนอแพ็คเกจการลงทุนรถไฟทางคู่ สายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) รวม 3 เส้นทาง วงเงินรวม 1.22 แสนล้านบาทให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พิจารณาในเร็วๆ นี้ ประกอบด้วย

  • โครงการรถไฟทางคู่ เฟส 2 ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท
  • โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย มูลค่า 2.6 หมื่นล้านบาท
  • รถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม มูลค่า 6 หมื่นล้านบาท

ด้านการประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง วงเงินลงทุน 2.2 แสนล้านบาทนั้น ปัจจุบันการรถไฟฯ อยู่ระหว่างรอข้อมูลหรือข้อเสนอเพิ่มเติมจากกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CP) ซึ่งเสนอราคาดีที่สุด โดยกำหนดให้กลุ่ม CP ยื่นข้อเสนอภายในวันที่ 9 มกราคมนี้ อย่างไรก็ตาม แม้กลุ่ม CP จะตัดสินใจยื่นหรือไม่ยื่นข้อมูลหรือข้อเสนอดังกล่าว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจาตามปกติต่อไป

Avatar photo