Business

‘วิรไท’ ยันไทยไม่ใช่ชาติปั่นค่าเงิน

“วิรไท” ยืนยัน ไทยไม่ได้แทรกแซงค่าเงิน เพื่อให้ได้ความได้เปรียบในการแข่งขันด้านการค้า ท่ามกลางความวิตกว่า ไทยอาจกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะโดนสหรัฐตรวจสอบด้านการค้า

ผู้ว่าแบงก์ชาติ
วิรไท สันติประภพ

ในการให้สัมภาษณ์กับนิกเคอิ เอเชียน รีวิว ต้นสัปดาห์นี้ “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.) ย้ำว่า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับการจัดหา และความต้องการในตลาด พร้อมชี้ว่า ช่วงปีที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้น ติดอันดับ 1 ในสกุลเงินที่มีผลประกอบการดีที่สุดในภูมิภาค เนื่องจากการไหลเข้าของเงินทุนจากชาติเศรษฐกิจก้าวหน้า

“เราไม่มีนโยบายที่จะใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ในระดับใดระดับหนึ่ง หรือกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ระดับระดับหนึ่งเป็นพิเศษ”

การที่ไทยได้เปรียบดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมหาศาล มากถึง 10.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เมื่อปี 2560 และได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐมากถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้ไทยมีคุณสมบัติตรงกับเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังสหรัฐ ใช้เป็นข้อกำหนดว่าประเทศคู่ค้ารายใดมีการปั่นค่าเงินหรือไม่ ถึง 2 ข้อจากทั้งหมด 3 ข้อ

ในรายงานฉบับล่าสุดของกระทรวงการคลังสหรัฐ ที่ออกมาเมื่อต้นเดือนเมษายนนั้น ไม่ได้มีการจัดไทยไว้ในรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามองแต่อย่างใด เพราะมีปริมาณการค้ากับสหรัฐไม่มากนัก แต่ก็ได้มีการบ่งชี้เป็นนัยว่า สหรัฐอาจเพิ่มรายชื่อประเทศที่ต้องตรวจสอบในรายงานฉบับต่อไป ที่คาดว่าจะออกมาในเดือนตุลาคมนี้

ผู้ว่าการธปท. อธิบายว่า ตัวเลขได้เปรียบดุลบัญชีเดินสะพัดขนาดใหญ่นั้น เป็นผลมาจาก 3 ปัจจัยด้วยกัน คือ ต้นทุนนำเข้าน้ำมันที่ถูกลง การท่องเที่ยวเฟื่องฟู เพราะนักท่องเที่ยวจีนที่ทะลักเข้ามาในประเทศ และการลงทุนในประเทศที่ซบเซา

แต่การลงทุนในประเทศกำลังกระเตื้องขึ้น และราคาน้ำมันก็กำลังฟื้นตัว สถานการณ์ที่วิรไทอธิบายว่า การได้เปรียบดุลบัญชีเดินสะพัดกำลังปรับตัวไปในทิศทางที่ถูกต้อง พร้อมคาดว่า ตัวเลขได้เปรียบดุลดังกล่าว จะลดลงมาเหลือประมาณ 8-9% ของจีดีพีประเทศในปี 2561

ผู้ว่าแบงก์ชาติ

ทั้งนี้ นับถึงสิ้นปี 2560 ไทยมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศโดยรวมอยู่ที่ 202,500 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นการขยายตัวเกือบ 20% ต่อปี ซึ่งการที่มูลค่าทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของไทยพุ่งขึ้นอย่างมากนี้ บ่งชี้ว่า ธปท.มีการเทขายเงินบาท และเข้าซื้อเงินดอลลาร์

วิรไท บอกว่า ธปท.จะเข้าแทรกแซงค่าเงินก็ต่อเมื่อตลาดตกอยู่ในภาวะที่มีความผันผวนสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ

“เราอาจเข้าแทรกแซงในตลาดเงินตราต่างประเทศเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะเมื่อมีการไหลเข้าของเงินทุนเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ใช่นโยบายของเราที่จะจัดการค่าเงินเพื่อให้ได้เปรียบทางการแข่งขันในด้านการค้า”

ผู้ว่าธปท.ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับกระแสการปกป้องทางการค้าของประเทศที่มีขนาดใหญ่กว่า อย่าง สหรัฐ

วิรไท บอกว่า แม้สินค้าไทย อย่าง เหล็ก และอลูมิเนียม อาจจะได้รับผลกระทบโดยตรงไม่มากนักจากการควบคุมด้านการค้าของสหรัฐ แต่เขาก็เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในเรื่องผลกระทบทางอ้อม

“การเชื่อมโยงกัน ระหว่างเรื่องปกป้องทางการค้า และความเป็นไปได้ที่เรื่องนี้อาจขยายวงกว้างจนกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงขึ้น จะฉุดความต้องการลงทุนทั่วโลกลงมาอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมเชื่อว่า ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น”

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทย ที่เติบโตอย่างเชื่องช้ามาตั้งแต่ปลายปี 2556 ผลจากความไม่มั่นคงทางการเมือง ขยายตัวขึ้น 3.9% เมื่อปี 2560 แรงหนุนจากการส่งออกที่แข็งแกร่ง ซึ่งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ธปท.ได้ทบทวนตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยประเมินว่าในปีนี้ จีดีพีจะขยายตัวราว 4.1%

การที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงชาติเพื่อนบ้านของไทย อย่างสิงคโปร์ และมาเลเซีย พากันปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้นักวิเคราะห์บางรายคาดการณ์ว่า ธปท.จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งทรงตัวที่ระดับ 1.5% มาตั้งแต่ปี 2558 ด้วยเช่นกัน

วิรไท บอกว่า การปรับนโยบายกลับสู่ภาวะปกตินั้น เป็นเรื่องที่ “เลี่ยงไม่ได้” ในระยะยาว

อย่างไรก็ดี เขาได้อ้างถึง การฟื้นตัวอย่างอ่อนแอของเศรษฐกิจในต่างจังหวัด ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของรายได้ครัวเรือนภาคเกษตร

“ในจุดนี้ แถลงการณ์ของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนมากกว่า เราเห็นความจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป”

ผู้ว่าธปท. กล่าวเสริมด้วยว่า ช่องว่างด้านดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นระหว่างไทย กับประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า อย่างสหรัฐ น่าจะช่วย “ชะลอ” การไหลของเงินทุน และทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้

ที่มา: Nikkei Asian Review

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight