Business

‘ประวิทย์’ทิ้งหุ้น ช่อง 3 ไปไหน?

ความเคลื่อนไหวของตระกูล “มาลีนนท์” เจ้าของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และทีวีดิจิทัล 3 ช่อง  จากการขายหุ้นที่ถืออยู่ในช่อง 3 ของ ประวิทย์ มาลีนนท์ อดีตผู้บริหารคนสำคัญ ก่อนประกาศลาออกจากตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ ช่อง 3 ในเดือน สิงหาคม 2555 ด้วยปัญหาสุขภาพ

ประวิทย์ มาลีนนท์ 
ประวิทย์ มาลีนนท์

การขายหุ้น บีอีซี ทิ้งทั้งหมดของ ประวิทย์ ส่วนหนึ่งเพราะได้ราคาหุ้นที่ดี ประกอบกับประวิทย์  ต้องการที่จะ “วางมือจากธุรกิจสื่อ” ที่ปัจจุบันการบริหารงานของ ช่อง 3 อยู่ในมือของพี่น้องและหลานคนอื่นๆ นำทัพโดย  ประชุม มาลีนนท์

ขณะเดียวกันตระกูล “มาลีนนท์” ช่วงหลังๆ เริ่มมีปัญหาความไม่ลงรอยเกิดขึ้น ทำให้ “ประวิทย์” ตัดสินใจที่จะถอยตัวเองออกไปจากธุรกิจดั้งเดิม ด้วยการขายหุ้นที่ถืออยู่กว่า 4% ทิ้งไป

“การถอยออกจากธุรกิจสื่อของ ประวิทย์ ถือเป็นจังหวะที่ดี เพราะธุรกิจสื่อก็อยู่ในช่วงลำบากในภาวะอย่างนี้ และไม่อยากมีปัญหากับญาติพี่น้องด้วย” แหล่งข่าวใกล้ชิดระบุ พร้อมกับย้ำว่าตอนนี้ ช่อง 3 ได้มีการแบ่งสมบัติให้กับรุ่นหลานดูแลกันแล้ว ส่วนอันไหนที่เป็นของส่วนตัว ประวิทย์ เขาก็ขายออกไป แต่ยังมีคนในตระกูลส่วนที่เหลือยังถือหุ้นและบริหารอยู่

หลังการวางมือจากธุรกิจสื่อ  ประวิทย์หันไปลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนร่วมกับ  แคทลีน มาลีนนท์ ปัจจุบัน นั่งเป็นประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE ซึ่งเป็นธุรกิจที่กำลังไปได้สวย

สำหรับ ประวิทย์ วันนี้ ถือว่ามีการตัดสินใจที่ดีที่เลือกลงทุนในธุรกิจพลังงาน โดยเฉพาะใน TSE ซึ่งเป็นพลังงานทดแทน ก่อนหน้านี้ TSE ได้เข้าไปซื้อโรงไฟฟ้าที่ประเทศญี่ปุ่นมา 3-4 โรง พลังงานทดแทนในญี่ปุ่นถือว่าไปได้ดีมาก เพราะญี่ปุ่นจ่ายค่าส่วนต่างที่เพิ่มขึ้น (แอดเดอร์) ซึ่งจ่ายดีกว่าบ้านเราเท่าหนึ่ง ทำให้บริษัทจากไทยหลายราย ขณะนี้เข้าไปซื้อโรงไฟฟ้าทดแทนในญี่ปุ่น

“วันนี้เท่ากับว่าคุณประวิทย์ ยุติธุรกิจมีเดียแล้ว แต่สำหรับตระกูลมาลีนนท์ คนอื่นๆยังดำเนินการเป็นปกติ”

บริษัทไทยโซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ ก่อตั้งเมื่อปี 2551 เพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ในระยะเริ่มแรก บริษัทได้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หลายโครงการในไทย จากนั้นก็ได้มองหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศ  บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) เมื่อเดือนตุลาคม 2557

การลงทุนโรงไฟฟ้าทดแทนของ TSE ปัจจุบันมีทั้งในและต่างประเทศซึ่งมีอยู่หลายโครงการ เมื่อกลางปี 2560 แคทลีน ระบุว่าบริษัทมีโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนทั้งในไทย และญี่ปุ่น รวม 37 โครงการ กำลังการผลิตเสนอขายรวม 298.42 เมกะวัตต์  เป็นในประเทศ 29 โครงการกำลังการผลิตเสนอขาย 121.7 เมกะวัตต์ และญี่ปุ่น  8 โครงการ กำลังการผลิตเสนอขาย จำนวน 176.72 เมกะวัตต์

ล่าสุด ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ บรรลุข้อตกลง การร่วมลงทุน เพื่อร่วมพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ประเภทติดตั้งบนพื้นดิน หรือ โซลาร์ฟาร์ม ที่ประเทศญี่ปุ่น มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท  ภายใต้การจัดตั้ง บริษัท ทีเอสอี โอเวอร์ซีส์ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งจะเป็นบริษัทร่วมลงทุนของทั้ง 2 บริษัทเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการและขยายงานในประเทศญี่ปุ่น

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight