POLITICS-GENERAL

กำชับความพร้อมสถานบริการสาธารณสุข 282 แห่ง เสี่ยงเจอผลกระทบ ‘ปาบึก’

กระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอผู้บริหาร 16 จังหวัด ที่อาจได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึก ติดตามความพร้อม และแผนการรองรับจัดบริการประชาชน  คาดมี 282 สถานบริการสาธารณสุขที่อาจได้รับผลกระทบ 

วันนี้ (2 ม.ค.) นพ.สุขุม  กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลผ่านระบบวีดิโอกับผู้ตรวจราชการกระทรวง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาล เพื่อติดตามความพร้อม และวางแผนการรองรับการจัดบริการประชาชน ที่อาจได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK)  ในวันที่ 3 – 5 มกราคม นี้ ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา

DSC 3447
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย

นพ.สุขุม กล่าวว่า พายุปาบึก ที่จะเคลื่อนเข้าสู่อ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ อาจเกิดน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากใน 16 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และ 14 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ซึ่งเป็นบริเวณที่ลุ่มและทางน้ำ รวมทั้งกทม.และปริมณฑลที่อาจมีฝนตกหนักในวันที่ 4 มกราคม

คาดว่ามีสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับที่อาจได้รับผลกระทบ 282 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์นครศรีธรรมราช สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ โรงพยาบาลชุมพร

โดยได้สั่งการให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ติดตามสถานการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา ประสานการทำงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างใกล้ชิด และดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อสถานบริการ และไม่กระทบต่อการจัดบริการประชาชน

DSC 3467

นพ.สุขุม กล่าวต่อว่า ได้กำชับให้เตรียมความพร้อมใน 5 ด้าน ดังนี้ 

  1. ป้องกันอาคารสถานที่ อุปกรณ์การแพทย์ ก่อสร้างที่กั้นน้ำในพื้นที่บริการผู้ป่วยหรืออาคารที่สำคัญ เตรียมเครื่องสูบน้ำ ตรวจสอบระบบระบายน้ำไม่ให้อุดตัน เคลื่อนย้ายเวชภัณฑ์ เอกสารสำคัญไว้ในที่ปลอดภัย สำรวจความแข็งแรงสิ่งก่อสร้าง ป้ายประกาศ ไฟส่องสว่าง ตัดแต่งต้นไม้ รื้อถอนสิ่งที่เป็นอันตราย หรือซ่อมแซมให้ปลอดภัย
  2. สำรองยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และทรัพยากรอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นในการจัดบริการ เช่น ระบบไฟฟ้าสำรอง น้ำมัน ออกซิเจน อาหาร เป็นต้น
  3. สำรวจผู้ป่วยที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษ และไม่สามารถเดินทางมาสถานบริการได้ เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ออกเยี่ยมบ้าน และจ่ายยาให้เพียงพอ
  4. เตรียมแผนประคองกิจการ ปรับพื้นที่ให้บริการ กรณีไม่สามารถเปิดบริการได้ และแผนการอพยพเคลื่อนย้ายผู้ป่วย รวมทั้งประสานโรงพยาบาลข้างเคียงร่วมจัดบริการนอกสถานที่ เตรียมที่พักที่ปลอดภัยสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
  5. เตรียมทีมเคลื่อนที่เร็วช่วยเหลือทางการแพทย์ เช่น ทีมปฏิบัติการกู้ชีพฉุกเฉิน (EMS) ชุดปฏิบัติการแพทย์สนามฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติ หรือ ทีมเมิร์ท (MERT : Medical Emergency Response Team) และทีมมินิ-เมิร์ท ทีมฟื้นฟูเยียวยาทางสุขภาพจิต (MCATT) ทีมอนามัยสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

DSC 3460

 

“ขณะนี้ ทุกจังหวัดได้เตรียมความพร้อม โดยเปิดศูนย์ EOC ที่จังหวัด สถานบริการที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงได้ขนย้ายยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ต่าง ๆ ไว้ที่สูง สำรองยาเวชภัณฑ์ มีข้อมูลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ข้อมูลผู้ป่วยหนัก มีทีมปฏิบัติการทางการแพทย์ สามารถให้การดูแลหากเกิดภาวะฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที”

ทั้งนี้ ยังได้ให้เขตสุขภาพที่ 3 – 6 สนับสนุนจังหวัดในพื้นที่ใกล้เคียง และส่วนกลาง โดยกองสาธารณสุขฉุกเฉิน ได้สำรองยาชุดน้ำท่วม 50,000 ชุด ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า หน้ากากอนามัย เสื้อชูชีพ พร้อมให้การสนับสนุนพื้นที่ สามารถประสานงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง

Avatar photo