Economics

ชงเพิ่มโทษขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารปลอม!!

นาคาญ์ ทวิชาวัฒน์1

 

นายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมฯ อยู่ระหว่างหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่จะให้การพิจารณาตีความผิดกรณีจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารปลอมที่มีส่วนผสมของยา เช่น ไวอกร้า Viagra เป็นความผิดขายยาปลอมแทนการขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารปลอม เพราะฐานความผิดจะเพิ่มขึ้น ความผิดโทษฐานขายยาปลอมปัจจุบัน คือ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3-5 ปี เพื่อให้มีความเกรงกลัวมากขึ้นต่อความผิดและเป็นมาตรการป้องปราบ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้ข้อสรุปในขณะนี้

สำหรับตัวอย่างการเอาผิดผู้ประกอบการในต่างประเทศ หากเป็นกรณีโรงงานผลิตสินค้าไม่ได้มาตรฐานจะมีโทษสั่งปิดโรงงาน แต่ผู้ทำผิดมักมีโรงงานผลิตสำรอง ทางหน่วยงานราชการจึงมีรางวัลนำจับด้วย

ส่วนกรณีดารานักแสดงที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในปัจจุบันมี 2 กรณี คือ กรณีแรกดารารับเป็นพรีเซ็นเตอร์ ซึ่งกรณีนี้มีโทษไม่รุนแรง อีกกรณี คือ ดาราเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ ซึ่งจากการเข้าไปตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า มีผลิตภัณฑ์ดาราบางตัวใส่สารไซบูทรามีน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นยาบ้าเพื่อลดน้ำหนัก หรือใส่สารปรอทเพื่อให้ผิวขาว ขณะที่ผลิตภัณฑ์กาแฟบางยี่ห้อมีส่วนผสมไวอกร้าของจีน และสารออริสแตท เพื่อดักจับไขมัน

ทั้งนี้ ดาราที่เป็นพรีเซนเตอร์และตกเป็นข่าวนั้นถือว่าตกเป็นเหยื่อและใช้เครดิตการเป็นดาราในการช่วยโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน อีกกลุ่ม คือ โรงงานผู้ผลิตเมื่อสินค้าขายดีมีการลักลอบใส่สารบางตัวที่เป็นสารต้องห้ามเมื่อเกิดความเสียหายผู้ได้รับผลกระทบก็ตกอยู่ที่พรีเซนเตอร์และเจ้าของตราสินค้า

สำหรับภาพรวมตลาดเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดเกือบ 100,000 ล้านบาทต่อปี จากเดิมมีมูลค่าตลาดประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี โดยผลิตภัณฑ์ในตลาดร้อยละ 40 เป็นผลิตภัณฑ์ปลอมที่มีการผลิตไม่ได้มาตรฐาน ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ด้านโรงงานผลิตอุตสาหกรรมนี้มีโรงงานผลิตสินค้าได้มาตรฐานประมาณกว่า 1,000 โรงงาน ขณะที่โรงงานไม่ได้มาตรฐานมีประมาณกว่า 10,000 โรงงาน และเนื่องจากการขอทะเบียนจาก อย.เป็นเรื่องยาก แต่การผลิตง่าย จึงมีการผลิตอย่างไม่ถูกต้องออกมาค่อนข้างมาก และบางกรณีผลิตอย่างง่ายในรถยนต์ก็มี และบางแห่งแม้ได้ อย.แล้ว แต่กระบวนการผลิตจริงกลับไม่ได้มีคุณภาพมาตรฐานตามที่ได้รับทะเบียน อย.มาจุดนี้ทางกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ส.อ.ท.จึงร่วมมือกับทางราชการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ออกสุ่มซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางมาตรวจสอบคุณภาพและทะเบียน อย.ว่า ได้รับทะเบียนจาก อย.จริงหรือไม่

ดังนั้น เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทื่ได้คุณภาพช่วงกลางปีนี้สถาบันรหัสสากลหรือ GS1 Thailand หน่วยงานภายใต้สังกัด ส.อ.ท.จะเปิดให้ผู้ประกอบการที่ผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเข้ามาใช้ตราสัญลักษณ์ที่ใช้เทคโนโลยี Dragon Code เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถแยกแยะผลิตภัณฑ์ปลอมจากท้องตลาดได้ และมีการผลักดันข้อเสนอภาครัฐให้มีการทบทวนบทลงโทษผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นอันตรายด้วย

นายนาคาญ์ ยังให้ข้อสังเกตในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และการรับเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับผลิตภัณฑ์ว่า หากเป็นผลิตภัณฑ์ไม่มีคุณภาพ มักมีการนำเงินจำนวนมากมากองเป็นพรอพ เพื่อเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ ผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้ผู้บริโภคหรือผู้ที่จะเป็นตัวแทนจำหน่ายควรหลีกเลี่ยง และการเลือกซื้อประชาชนควรตรวจสอบทะเบียน อย.ก่อน หากพบว่าไม่ถูกต้องให้แจ้ง อย.เพราะการตื่นตัวของผู้บริโภคจะทำให้ผู้ประกอบการที่ผลิตผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานเกรงกลัวความผิด

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK