World News

ยูนิโคล่ใช้ร้านดั้งเดิม ดันยอดขายออนไลน์

“ฟาสต์ รีเทลลิง” บริษัทแม่ของ “ยูนิโคล่” เชนเสื้อผ้าลำลองชั้นนำสัญชาติญี่ปุ่น เปิดตัวมาตรการตอบโต้ อเมซอน ดอท คอม และคู่แข่งรายอื่นๆ ในตลาดแฟชั่นออนไลน์ ด้วยการใช้เครือข่ายร้านค้าดั้งเดิม สร้างความแตกต่างให้กับตัวเอง

ยูนิโคล่

ทาดาชิ ยานาอิ ประธานกรรมการบริหาร และซีอีโอฟาสต์ รีเทลลิง กล่าวว่า เป้าหมายอย่างหนึ่งของบริษัท คือการเพิ่มยอดขายออนไลน์ในตลาดโลก ของแบรนด์เสื้อผ้าลำลอง ให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 20% ของรายได้โดยรวมของยูนิโคล่ ในอีก 2 ปีข้างหน้า

ยูนิโคล่
ทาดาชิ ยานาอิ

กลยุทธ์อื่นๆ รวมถึง การยกเครื่องสินค้าที่จะวางจำหน่ายบนโลกออนไลน์เท่านั้น

“เรากำลังปรัมปรุงเว็บไซต์ขายของออนไลน์เสียใหม่ รวมถึง ระบบ และการจัดจำหน่ายทั่วโลก”

ขณะเดียวกัน ฟาสต์ รีเทลลิง ยังตั้งใจจะที่เร่งการเปิดร้านสาขานอกญี่ปุ่นให้เร็วขึ้น โดยร้านเหล่านี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในแถบเอเชีย

คณะผู้บริหารต่างเชื่อมั่นว่า ร้านค้าแบบดั้งเดิม จะทำให้บริษัทมีความสามารถในการเติบโตได้เร็วกว่าคู่แข่ง ที่จำหน่ายสินค้าในออนไลน์แต่เพียงอย่างเดียว อาทิ อเมซอน และโซโซทาวน์ แฟชั่นมอลล์ออนไลน์สัญชาติญี่ปุ่น

ปัจจุบัน ยูนิโคล่มียอดขายออนไลน์อยู่ที่ราว 140,000 ล้านเยน คิดเป็นสัดส่วนราว 9% ของรายได้โดยรวมบริษัท ซึ่งถ้าลองเปรียบเทียบแล้ว ตัวเลขดังกล่าวจะโตขึ้นมาอยู่ที่ราว 300,000 ล้านเยนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ถ้าหากบริษัทสามารถทำยอดขายออนไลน์ได้ 20% ตามเป้าที่ตั้งไว้

เมื่อเทียบกันแล้ว อินดิเท็กซ์ ผู้ค้าปลีกสินค้าแฟชั่นสเปน เจ้าของแบรนด์ ซารา มียอดขายออนไลน์อยู่ประมาณ 330,000 ล้านเยน

ในปีงบการเงินปัจจุบัน ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนสิงหาคมนี้ ฟาสต์ รีเทลลิง คาดว่า ยอดชายโดยรวมของบริษัทจะพุ่งทะลุ 2 ล้านล้านเยน เป็นครั้งแรก แรงหนุนหลักจากการทำธุรกิจยูนิโคล่ในต่างประเทศ

ยูนิโคล่

ปัจจุบัน ยูนิโคล่มีสาขาทั้งหมดเกือบ 2,000 แห่ง ใน 19 ประเทศ และภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งในปีนี้ บริษัทวางแผนที่จะเปิดร้านค้าในต่างประเทศเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าในญี่ปุ่น โดยวางแผนเปิด 20 สาขาในยุโรป 40 สาขาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอีก 100 สาขาทั่วจีน

“โอกาสกำลังกระจายไปทั่วโลก รวมถึง การเปิดสาขาในประเทศใหญ่ๆ ในยุโรป ดังนั้น การเติบโตของธุรกิจในต่างประเทศจึงกำลังแกว่งตัวสู่ขาขึ้นอย่างเต็มที่”

ยานาอิ แสดงความเชื่อมั่นด้วยว่า อุตสาหกรรมนี้กำลังเดินทางมาจุดที่เส้นแบ่งระหว่างโลกเสมือน กับโลกจริงกำลังจะหายไป

ซีอีโอรายนี้ บอกด้วยว่า ยอดขายออนไลน์ที่สูงขึ้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะรักษาความสามารถทางการแข่งขันของบริษัทเอาไว้ให้ได้ เช่นเดียวกับการเพิ่มร้านสาขาแบบดั้งเดิม

ที่มา: Nikkei Asian Review

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight