Business

จับตาทีวีดิจิทัล‘ขายใบอนุญาต’

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบแนวทางใช้มาตรา 44 ช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ในการประชุมวันที่ 24 เมษายน 2561  โดยเห็นชอบ 3 แนวทาง

  1. พักชำระเงินประมูลงวดที่ยังเหลือจ่ายให้กับ กสทช. 3 งวด หรือระยะเวลา 3 ปี จากเดิมต้องชำระ งวดที่ 4,5 และ  6 ในปี 2561-2563   โดยจ่ายดอกเบี้ยอัตรา 1.5%
  2. รัฐช่วยสนับสนุนค่าเช่าโครงข่ายส่งสัญญาณระบบดิจิทัล (มักซ์) ในอัตรา 50% ของค่าเช่า
  3. กำหนดเงื่อนไขโอนใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ได้ แต่ห้ามต่างชาติถือใบอนุญาต

แนวทางทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าว ให้ กสทช. ดำเนินการรายละเอียดต่างๆ คาดว่า จะออกคำสั่ง มาตรา 44 ได้ภายใน 1-2 วันนี้   โดยมาตรการทั้งหมดเพื่อช่วยเหลือให้ทั้ง 22 ช่องทีวีดิจิทัล เดินหน้าต่อไปได้ โดยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้จ่ายเงินค่าประมูลใบอนุญาตมาแล้ว 3.3 หมื่นล้านบาท  โดยยังเหลือจ่ายอีก 1.7 หมื่นล้านบาท

ลุ้น!!‘ทีวีดิจิทัล’ทิ้งไลเซ่นส์หรือไปต่อ

เปิดทาง “ขายใบอนุญาต” 100%

นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล(ประเทศไทย) กล่าวว่าประเด็นสำคัญนอกจากการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลด้วยการพักชำระค่าใบอนุญาต 3 ปี และช่วยค่าใช้จ่ายค่าเช่าโครงข่ายที่จะช่วย “ต่อลมหายใจ” ทีวีจิทัลในช่วงเวลานี้ คือ การกำหนดเงื่อนไขให้สามารถโอนใบอนุญาตให้รายใหม่ได้

“หรือพูดง่ายๆ คือ เปิดโอกาสให้ขายใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการรายใหม่100% พร้อมโอนไปเป็นชื่อของผู้ประกอบการรายใหม่ โดยไม่ต้องมาร่วมถือหุ้นเหมือน การดึงกลุ่มทุนใหม่ในช่วงที่ผ่านมา เชื่อว่าด้วยเงื่อนไขนี้ จะมีผู้สนใจขายใบอนุญาตทีวีดิจิทัลแน่นอน”

ที่ผ่านมาการเขียนกฎหมาย “ห้ามเปลี่ยนมือ”ผู้ถือใบอนุญาตทีวีดิจิทัล เกิดจากเกรงว่า จะมีกลุ่มทุนประมูลมาราคาถูก และนำมาปล่อยเช่า หรือขายต่อให้กับรายใหม่เหมือนการเช่าคลื่นวิทยุ หรือสัมปทานโทรทัศน์ในอดีต  แต่การประมูลทีวีดิจิทัลในปลาย ปี 2556 ผู้ประกอบการแข่งขันประมูลมาด้วยราคาสูง มูลค่าการประมูล 24  ช่อง กว่า 5 หมื่นล้านบาท มาถึงวันนี้ เชื่อว่าผู้สนใจซื้อคงมีไม่มาก

ทีวีดิจิทัล
สุภาพ คลี่ขจาย

กลุ่มไปต่อไม่ไหวมีทางออก

นายสุภาพ กล่าวอีกว่า การประกอบกิจการทีวีดิจิทัลในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า มีผู้ประกอบการจำนวนมากประสบปัญหาขาดทุน และไม่สามารถกู้เงินธนาคารมาลงทุนได้อีก  ที่ผ่านมาจึงเห็นทีวีดิจิทัลบางส่วนต้องขายหุ้นให้กับกลุ่มทุน เข้ามาร่วมถือหุ้น

สำหรับความช่วยเหลือด้วยการออก มาตรา 44   ในประเด็นให้โอนใบอนุญาตให้กับรายใหม่ได้ เป็นเหมือน “บันไดหนีไฟ” อีกทางออกให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ไม่สามารถไปต่อได้จริงๆ เพื่อเจรจาขายใบอนุญาตให้กับผู้สนใจ แม้จะมีไม่มากแต่อาจมีบางกลุ่มที่เห็นโอกาสการทำธุรกิจใหม่ๆ ในธุรกิจทีวีดิจิทัล รวมทั้งโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเม็ดเงินโฆษณาหลังเลือกตั้ง  หากการเจรจาซื้อขาย “วินวิน” ทั้งคู่ ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล จะมีโอกาสได้เงินทุนที่ลงทุนไปก่อนหน้านี้  ขณะที่ฝั่งผู้ซื้อสามารถโอนกิจการเป็นชื่อของบริษัทตัวเองได้ทั้งหมด  ซึ่งจะมีความสบายใจมากกว่าเป็นชื่อบริษัทเดิม

“ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลลงทุนไปแล้ว 4 ปี จ่ายเงินค่าใบอนุญาตไปแล้ว 70% ต่างจากกรณีไทยทีวี ที่เลิกกิจการตั้งแต่ปีแรก  และเหลือเวลาอีก 11 ปี หากสามารถขายและได้เงินคืนบางส่วนน่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับผู้ไปต่อไม่ไหว”

mcot md
เขมทัตต์ พลเดช

พักจ่ายไลเซ่นส์ต่อทุนทำคอนเทนท์

นายเขมทัตต์ พลเดช  กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการพักชำระค่าใบอนุญาต 3ปี ถือได้ว่า สถานีโทรทัศน์ดิจิทัล สามารถยืดการชำระเงิน และบริหารงบการเงินในการนำไปพัฒนาคอนเทนท์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคตได้ดี และได้ประโยชน์สำหรับสาธารณะ

ขณะที่การสนับสนุนค่าเช่าใช้โครงข่าย 50% เป็นเวลา 2ปี  ถือเป็นโอกาสดีที่ผู้บริหารโครงข่าย 3 แห่ง และสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลทั้งหมด จะได้ประโยชน์ แต่คงต้องดูรายละเอียดที่ กสทช. จะประกาศอีกครั้ง ว่ามีเงื่อนไขที่ผ่อนคลายหรือมีอะไรอื่นๆที่เพิ่มเติมหรือไม่ เพราะโครงข่ายมีการลงทุนไปแล้วรวมกันกว่า 3,000 ล้านบาท

ส่วนการเปิดโอกาสให้โอนกิจการได้  คงต้องรอ กสทช. ออกประกาศอีกครั้งหนึ่งว่า การโอนกิจการคืออะไร  หมายถึงโอนใบอนุญาต หรือเปลี่ยนคำสัญญากับกสทช. หรือไม่ เพราะในความเป็นจริง ปัจจุบัน กลุ่มผู้ถือหุ้นเอกชน ได้มีการเข้าซื้อหุ้นในบริษัทที่ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ทั้งในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดแล้ว ตั้งแต่ปี 2559 รวมกว่า 5 สถานี

 

Avatar photo