Media

ธุรกิจสื่อยังระส่ำ! ‘สิ่งพิมพ์-ทีวี’ ปลดคน

รายงานสถานการณ์ด้านสื่อมวลชนไทยในรอบปี 2561 ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (Thai Journalists Association) ระว่าเป็นปีแห่งการ “ซึมแทรก ซึมทรุด” ด้วยยังคงเผชิญความเสี่ยงและความท้าทาย

อุตสาหกรรมสื่อทั้งระบบยังอยู่ในภาวะยากลำบากอย่างต่อเนื่อง จากผลกระทบด้านเทคโนโลยีและพฤติกรรมการเสพข้อมูลข่าวสาร ที่มุ่งไปสู่ทิศทางทางออนไลน์มากขึ้น

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอยู่ในรายงานของสมาคมฯ คือ ธุรกิจสื่อยังระส่ำ  สะท้อนจากการใช้มาตรา 44  ของ คสช. ในการออกมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ด้วยการพักชำระหนี้ค่าใบอนุญาตเป็นเวลา 3 ปี ตามที่ผู้ประกอบการร้องขอ เป็นสัญญาณที่การแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ของธุรกิจสื่อได้อย่างชัดเจนตลอดทั้งปี 2561

ฝั่งของสิ่งพิมพ์ แม้กระทั้งหนังสือพิมพ์รายวันยักษ์ใหญ่ของประเทศไทย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่แม้ผลประกอบการยัง “กำไร” ได้เปิดโครงการลาออกด้วยความสมัครใจในช่วงสิ้นปี 2561

ไทนรัฐ

ช่วงต้นปี 2561  หนังสือพิมพ์ยักษ์ภาคเหนือ “เชียงใหม่นิวส์” หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่ตีพิมพ์ข่าวสารในพื้นที่ภาคเหนือมานานกว่า 27 ปี อำลาแผงเมื่อ 5 มีนาคม 2561 ผันตัวสู่ออนไลน์ และวันที่ 4 มกราคม 2562 นิตยสารวิเคราะห์ข่าวการเมืองรายสัปดาห์ “สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์” จะอำลาแผงเช่นกัน หลังวางแผงฉบับแรกเมื่อ วันที่ 29 กันยายน 2497  ถึงปัจจุบันมีอายุกว่า 64 ปี

เช่นเดียวกับ “นิตยสาร”  ที่ลาแผงกันมาต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา  ปี 2561 นิตยสารสตาร์พิคส์รายเดือน ที่อยู่คู่แผงหนังสือไทยมากว่า 52 ปี ประกาศปิดตัว ตีพิมพ์ ฉบับที่ 888 เดือน เมษายน 2561 เป็นเล่มสุดท้าย

นิตยสาร Secret เครืออมรินทร์ ประกาศเลิกผลิตรูปแบบเล่มในเดือนมิถุนายน 2561  ปรับตัวสู่ช่องทางออนไลน์ และโซเชียลมีเดียรวมทั้ง Student Weekly ในเครือ Bangkok Post ประกาศวางแผงเป็นฉบับสุดท้าย ฉบับวันที่ 30 กันยายน 2561 ถือเป็นการปิดตำนานนิตยสารภาษาอังกฤษที่อยู่คู่นักเรียนไทยมากว่า 50 ปี นิตยสารแพรวก้าวเข้าสู่ปีที่ 40 ประกาศปรับจากรายปักษ์ เป็นรายเดือนฉบับแรก เริ่มเดือนตุลาคม 2561

ธุรกิจสื่อปลดคนปี 2561

ฟากฝั่งของสื่อทีวี เริ่มตั้งแต่ “นิวทีวีช่อง18” เป็นช่องแรกของปี 2561 ที่ปรับโครงสร้างโดยมีคำสั่งลดพนักงาน 30% ตามติดด้วย “สปริงนิวส์ ช่อง 19” เลิกจ้างพนักงาน 80 คน พร้อมกับการต่อลมหายใจด้วยการขายหุ้นให้กับทีวีไดเร็ค และให้บางรายการไปออกอากาศทางช่อง NOW26 ในเครือเนชั่น ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่เนชั่นเปิดตัวทีมผู้บริหารชุดใหม่ได้ไม่นาน

ปลายปีสถานีโทรทัศน์ “Money Channel” แจ้งยุติออกอากาศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 และจะรุกตลาดผลิตคอนเทนท์ สร้างความเข้มแข็งในโลกออนไลน์ แม้กระทั่งสื่อยักษ์ใหญ่ อย่างสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ก็ยอมเปิดโครงการเกษียณอายุให้แก่พนักงานอายุ 60 ปีขึ้นไป

ปีแห่งการลดต้นทุน “ทีวี”

สถานการณ์ของสื่อทีวี เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่เริ่มต้นยุคทีวีดิจิทัล ปี 2557 เพราะด้วยจำนวนช่องฟรีทีวี เพิ่มขึ้นจากยุคอนาล็อกถึง 4 เท่าตัว หรือจาก 6 ช่อง  เป็น 24 ช่อง  และเหลือ 22 ช่องในปี 2558 เมื่อช่องไทยทีวีและโลก้า “ยุติออกอากาศ” เพียงปีแรกของใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 15 ปี หรือสิ้นสุดในปี 2572

แม้เม็ดเงินโฆษณาสื่อทีวี ยังครองอันดับหนึ่งด้วยส่วนแบ่งการตลาด 60%  นีลเส็น รายงานมูลค่าอยู่ที่ราว 7 หมื่นล้านบาทต่อปี อยู่ในอัตรานี้ตั้งแต่ ฟรีทีวี อนาล็อก ถึง ยุคทีวีดิจิทัล

สะท้อนได้ว่า เม็ดเงินโฆษณาทีวี “ไม่เพิ่มขึ้น” แต่จำนวนช่องเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว นั่นเท่ากับว่า ทั้งผู้ชมและเม็ดเงินโฆษณากระจายตัวไปยังทีวีดิจิทัล “ช่องใหม่” แม้ช่องผู้นำยังครอง “อันดับ” เรตติ้ง เหมือนเดิม แต่ทั้งผู้ชมและรายได้โฆษณา “ไม่เหมือนเดิม” โดยเฉพาะการเติบโตของประชากรออนไลน์ ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตแล้วกว่า 80% ของคนไทย มีพฤติกรรมเสพคอนเทนท์และสื่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และโซเชียลมีเดียมากขึ้น

หากจะวิเคราะห์สถานการณ์สื่อทีวี คงต้องดูที่ “รายใหญ่” เป็นลำดับแรก โดย ช่อง 7 ถือเป็นผู้นำเรตติ้งอันดับหนึ่ง จากข้อมูลของ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปี 2557  มีรายได้ 10,428  ล้านบาท กำไรสุทธิ  5,510  ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.34%  ปี 2558  รายได้ 7,189  ล้านบาท  กำไรสุทธิ 2,723 ล้านบาท ลดลง 50.57%  ปี 2559  รายได้ 5,825  ล้านบาท  กำไร 1,567 ล้านบาท  ลดลง 42.43%  และ ปี 2560 รายได้  5,723 ล้านบาท  กำไรสุทธิ 1,516 ล้านบาท  ลดลง 3.26%

เห็นได้ว่าแนวโน้มรายได้และกำไรช่อง 7 ในยุคทีวีดิจิทัล ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง แต่เริ่มมีอัตราการถดถอยลดลงในปี 2560

ช่อง 3 ทีวีดิจิทัล

เช่นเดียวกับผู้นำเรตติ้งเบอร์สอง ช่อง 3 รายงานผลประกอบการของ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในยุคทีวีดิจิทัล  โดยปี 2557 มีรายได้ 16,381 ล้านบาท กำไรสุทธิ  4,415 ล้านบาท  ปี 2558 รายได้ 16,018 ล้านบาท กำไรสุทธิ  2,982 ล้านบาท  ปี 2559  รายได้  12,534 ล้านบาท กำไรสุทธิ  1,218 ล้านบาท ปี 2560 รายได้  11,226  กำไรสุทธิ 61 ล้านบาท และ 3 ไตรมาสแรก ปี 2561 รายได้  7,939 ขาดทุน  70.26 ล้านบาท 

สำหรับ “บีอีซี เวิลด์” จากบริษัทที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) 1 แสนล้านบาท ในปี 2557 เพียง 4 ปี ของยุคทีวีดิจิทัล มาร์เก็ตแคป ปี 2560 ลดลงมาอยู่ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท  สะท้อนให้เห็นถึงภาวะถดถอยของสื่อทีวี

เมื่อผลประกอบการ “ช่อง 3” เริ่มขาดทุน จึงต้องเร่งแก้ไขสถานการณ์ “ต้นทุน” เพราะแบกทีวีดิจิทัลไว้ถึง 3 ช่อง มาตรการลดต้นทุน ปี 2561 จึงมีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์ ต่างประเทศมาออกอากาศ ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าการผลิตเอง การนำละครมารีรีนที่ ช่อง 3 ในช่วงส่งท้ายปีให้ดูกันแบบมาราธอน 2 เรื่อง คือ “ลิขิตรัก The Crown Princess” และ “อังกอร์”  เพราะช่วงครึ่งเดือนหลังธันวาคมของทุกปี เป็นจังหวะที่เริ่มหยุดงานก่อนฉลองปีใหม่ ผู้ชมทีวีลดลง และเอเยนซีมักไม่วางแผนซื้อสื่อในช่วงนี้ การทำละครมารีรัน จึงเป็นการประหยัดต้นทุนได้ทางหนึ่ง

ช่อง 3 ลุยเสิร์ฟละครสุดอิน-ฟินครบรส
ลิขิตรัก The Crown Princess

ไม่เพียงแค่นั้น ปี 2561 ช่อง 3 ยังต้องมีมาตรการ “ลดต้นทุน” ด้วยการปรับโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเลิกจ้างพนักงานหลังเกษียณอายุ

ก่อนหน้านี้ ทีวีดิจิทัล หลายช่อง ได้ใช้มาตรการลดต้นทุนด้วยการปลดพนักงานมาแล้วอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 แม้ กสทช.จะจัดแพ็คเกจชุดใหญ่ออกมาอุ้มหลายครั้ง แต่ด้วยจำนวนช่องที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากถึง 4 เท่าตัว จากยุคอนาล็อก และเม็ดเงินโฆษณาไม่ได้โตตาม อีกทั้งยังมีสื่อออนไลน์ เข้ามามีบทบาทสำคัญ “การอยู่รอดครบทุกช่อง ยังต้องลุ้นต่อไป”

10 ปี “หนังสือพิมพ์” เม็ดเงินหาย “หมื่นล้าน”

หากพิจารณามูลค่าโฆษณากลุ่มสื่อสิ่งพิมพ์ ที่รายงานโดย นีลเส็น ประเทศไทย และการคาดการณ์ปี 2561-2562 ของ MAAT  ทั้งหนังสือพิมพ์และนิตยสาร  ช่วง 10 ปีนี้  พบว่าปี 2553 โฆษณา “หนังสือพิมพ์” มีเม็ดเงินโฆษณาแตะ 15,000 ล้านบาท เติบโต  6.01%  โดยปี 2556 มีมูลค่าสูงสุด 15,258 ล้านบาท  เติบโต 0.49%

นับจากปี 2557 ที่สื่อโซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลในอุตสาหกรรมโฆษณา พบว่างบโฆษณาสื่อสิ่งพิมพ์ ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด  โดยโฆษณาหนังสือพิมพ์ มูลค่าอยู่ที่ 13,166  ล้านบาท  ลดลง 13.7%   ปี 2558  มูลค่า 12,332 ล้านบาท ลดลง 6.45%  ปี 2559  มูลค่า 9,843 ล้านบาท ลดลง 20.12%  และปี 2560 มูลค่า  7,706 ล้านบาท ลดลง 21.82%

สำหรับปี 2561  MAAT คาดการณ์โฆษณาหนังสือพิมพ์อยู่ที่ 6,100 ล้านบาท ลดลง 21%  และปี 2562  มูลค่าอยู่ที่ 4,575 ล้านบาท ลดลง 25%

โฆษณาหนังสือพิมพ์

จากสื่อโฆษณาที่ครองอันดับ 2 ของอุตสาหกรรมโฆษณามากว่า 20 ปี  หากเป็นไปตามคาดการณ์ของ MAAT  ปี 2562 โฆษณาหนังสือพิมพ์ จะร่วงไปอยู่อันดับ 7 รองจาก ทีวี, อินเทอร์เน็ต, สื่อกลางแจ้ง, สื่อในโรงภาพยนตร์ ,สื่อที่ใช้ในการเดินทาง และสื่อวิทยุ

สถิติมูลค่าโฆษณาหนังสือพิมพ์ที่เคยสูงสุดในปี 2556 ที่ 15,258 ล้านบาท และทิศทางยังอยู่ในช่วง “ขาลง” ในปี 2562 จะเห็นได้ว่าช่วง  10 ปีนี้ เม็ดเงินโฆษณาหายไปกว่า “หมื่นล้านบาท”

แนวโน้ม ปี 2562 โฆษณาสื่อหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ยังคงลดลงต่อเนื่องในอัตรา 25-30% ขณะที่สื่อโฆษณาอื่นๆ เริ่มฟื้นตัว

ที่ผ่านมาสื่อสิ่งพิมพ์ ได้มีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ด้วยการขยายไปยังช่องทางออนไลน์ แต่เนื่องจากรายได้จากโฆษณาออนไลน์ยังอยู่ในอัตราต่ำ เมื่อเทียบกับสื่ออื่นๆ  และยังมีต้นทุนสูงจากสื่อดั้งเดิม หลังจากนี้ยังคงเห็นการปรับตัวของสื่อสิ่งพิมพ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างโอกาสหารายได้และอยู่รอด!!

แผงหนังสือ
ภาพจาก pixabay

“สิ่งพิมพ์”ธุรกิจอัสดง ทยอยปิดตัว

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับสื่อสิ่งพิมพ์ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หากถามถึง “ทางรอด” ของสื่อสิ่งพิมพ์  ว่าจะไปต่ออย่างไร  ในวันนี้ที่ “ต้นทุน”  ถือว่าหนักมาก แต่รายได้ลดลง

ปัจจุบันจะได้ข่าวเศร้าการลาแผงของนิตยสารทุก 3 เดือน  ที่มาจากสาเหตุการพ่ายแพ้ต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม หรือบางรายอาจปิดตัวเพราะไม่ต้องการแบกภาระในช่วง “ขาลง”

หากวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ มาจาก 4 ปัจจัยหลัก คือ

1.ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งค่าขนส่ง โรงพิมพ์ เพราะธุรกิจได้รับผลกระทบเช่นกัน  ช่วงต้นปีนี้ 2 โรงงานผลิตกระดาษเพื่อพิมพ์นิตยสารในประเทศไทยเลิกผลิต และปรับไลน์การผลิตเป็นกระดาษรูปแบบอื่น เช่น แพ็กเกจกิ้ง  เนื่องจากความต้องการกระดาษนิตยสารลดลง โดยเปลี่ยนเป็นรูปแบบนำเข้ากระดาษนิตยสารจากญี่ปุ่นและจีน ตามออเดอร์ของนิตยสารแทน ทำให้ต้นทุนกระดาษนิตยสารเพิ่มขึ้น

2.แผงหนังสือปิดตัว โดยเฉพาะแผงย่อยในต่างจังหวัด ที่มีต้นทุนขนส่งเพิ่มขึ้นและทยอยปิดตัว เนื่องจากคนซื้อลดลง  อีกปัญหาสำคัญคือ ทายาทแผงหนังสือไม่สืบทอดกิจการ และเปลี่ยนธุรกิจไปเป็นรูปแบบอื่นๆ  พบว่าจำนวนแผงหนังสือค่อยๆ ลดลง ตั้งแต่ร้านสะดวกซื้อเริ่มเปิดพื้นที่ขายหนังสือ ทำให้หนังสือพิมพ์ ไม่ส่งแผงและหันไปส่งร้านสะดวกซื้อแทน จึงเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่”  ธุรกิจแผงหนังสือเรียกว่าเป็นธุรกิจที่เหนื่อย ทั้งต้นทุนเพิ่ม ผู้ซื้อลดลง มีคู่แข่งร้านสะดวกซื้อ และไม่มีทายาททำต่อ

3.พฤติกรรมผู้บริโภคซื้อและอ่านนิตยสารรูปเล่ม “ลดลง”  และหันไม่รับข้อมูลออนไลน์อ่านฟรีมากขึ้น ซึ่งช่องทางออนไลน์ ไม่ได้ทำลายธุรกิจนิตยสารหรือสื่อสิ่งพิมพ์  เพราะคอนเทนท์ที่นำเสนอในนิตยสารต้องใช้เวลาและขั้นตอนกาพิมพ์ที่กินเวลากว่าออนไลน์ ขณะที่เทคโนโลยีออนไลน์นำเสนอได้รวดเร็วและเรียลไทม์ และพฤติกรรมผู้บริโภควันนี้ ต้องการเสพคอนเทนท์แบบด่วน!!

4.เมื่อผู้อ่านลดลง อีกปัญหาใหญ่ คือ โฆษณาลดลง   ผู้ลงโฆษณาปรับไปใช้สื่ออื่นแทนสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะออนไลน์  ขณะที่รายได้ของนิตยสาร 80%  มาจากโฆษณา  จะเห็นได้ว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะ 5 ปีหลัง เม็ดเงินโฆษณาหายไปจากสื่อสิ่งพิมพ์ ทั้งนิตยสารและหนังสือพิมพ์ จำนวนมาก  จึงเห็นการปิดตัวของนิตยสารอย่างต่อเนื่อง ทั้งหัวไทยและต่างประเทศที่มีอายุยาวนาน

Avatar photo