Business

10 ปรากฏการณ์ธุรกิจการตลาดแห่งปี 2561

ปี 2561 ถือเป็นอีกปีที่แวดวงธุรกิจและการตลาดสร้างสีสันตลอดปี ทั้งปรากฎการณ์ใหม่ กลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจ “บิ๊กเซอร์ไพร์ส” ที่มีมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง The Bangkok Insight  สรุป 10 ปรากฏการณ์ธุรกิจการตลาด โดดเด่นแห่งปี 2561

10 ปรากฏการณ์ธุรกิจการตลาดแห่งปี 2561

BNK 48 ไอดอลมาแรง

จากจุดเริ่มต้นบิซิเนสโมเดล “แฟรนไชส์” AKB 48 ในปี 2560 ภายใต้คอนเซปต์ “ไอดอลที่สามารถพบเจอได้”  (Idols you can meet) ของประเทศญี่ปุ่น  ปี 2561 ต้องเรียกว่าถนนทุกสายวิ่งไปสู่ “เกิร์ล กรุ๊ป” BNK 48 

การเปิดตัวซิงเกิ้ลแรก วันที่ 2 มิถุนายน 2560 มียอดจอง 13,500 แผ่น เป็นการเริ่มจากวันที่ไม่มีใครรู้จัก มาถึงซิงเกิ้ล “คุกกี้เสี่ยงทาย” (Koisuru Fortune Cookie) ที่ทำให้ทั่วประเทศรู้จักและสมัครเป็น “โอตะ” ของสาวๆ  BNK 48  ความสำเร็จของ  BNK 48  ตลอดปี 2561 สะท้อนได้จากยอดขายซิงเกิ้ล บัตรจับมือ สปอนเซอร์ งานพรีเซ็นเตอร์กว่า 20 แบรนด์ในปีนี้ ตามมาด้วยการต่อยอด “ทาเลนท์” ทั้งภาพยนตร์ ซีรีส์ และรายการวาไรตี้

ตอกย้ำด้วยการเข้ามาลงทุนถือหุ้นและจัดตั้งบริษัทใหม่ร่วมกับ BNK 48 ของ 2 บริษัทใหญ่ในกลุ่มสื่อ คือ  “แพลน บี มีเดีย” ที่เข้ามาร่วมถือหุ้น 35% ในบริษัท บีเอ็นเค 48 ออฟฟิศ และร่วมทุนกับ “เวิร์คพอยท์” จัดตั้งบริษัท บีเอ็นเค โปรดักชั่น จำกัด ประกอบธุรกิจผลิตรายการทีวีและออนไลน์ รวมทั้งอีเวนท์และคอนเสิร์ต

bnk48 1

จิรัฐ บวรวัฒนะ ซีอีโอ บริษัท บีเอ็นเค48 ออฟฟิศ จำกัด ย้ำว่าการทำงานของ BNK48 วันนี้  “ไม่ได้คิดเติบโตคนเดียวอีกต่อไป แต่มองการทำงานร่วมกับกลุ่มเพื่อนและพันธมิตร ที่จะช่วยเติมเต็มในสิ่งที่ขาด และเชื่อในสิ่งที่เรามี เพื่อช่วยกันทำงานในด้านที่แต่ละคนเก่งและถนัด”

ก้าวต่อไปของ BNK 48  หลังจากนี้คือการหา “พันธมิตร” ที่ร่วมกันพัฒนาคอนเทนท์หรือคอนเซปต์งานใหม่ๆ โดยมีแผนที่จะออกไปทำกิจกรรมในต่างประเทศ กลุ่ม CLMV เพราะมีวัฒนธรรมความสนใจและชื่นชอบเรื่องราวของคอนเทนท์ใกล้เคียงกัน และแผน 3-5 ปี มองไกลถึงตลาด “จีน” ที่เชื่อว่า “ทาเลนท์และคอนทนท์” ของไทยแข่งขันได้ในภูมิภาคนี้

“ไอคอนสยาม”แลนด์มาร์กริมเจ้าพระยา

ได้ฤกษ์เปิดประตูอภิมหาโครงการเมืองไอคอนสยาม ไปเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 บนพื้นที่ 55 ไร่  ย่านเจริญนคร มูลค่าโครงการกว่า 5.4 หมื่นล้าน ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี โดยจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการช่วงกลางปี 2562

“ไอคอนสยาม” ถือเป็น “เดสทิเนชั่น” พลิกโฉมการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ด้วยคอนเซปต์ Creating Shared Value และ Co-Creation ในสเกลที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลก บนพื้นที่  7.5 แสนตร.ม.

5 ICONSIAM
ปรากฏการณ์ ไอคอนสยาม

ในพื้นที่โครงการถือเป็นแหล่งรวม  Global Iconic Stores ของลักชัวรี่แบรนด์ชื่อดังของโลก ที่สร้างสรรค์ สถาปัตยกรรมที่ไม่เหมือนที่ใดในโลกกับการเปิดสโตร์ที่เป็นปรากฏการณ์ “ที่สุด” และ “ครั้งแรก” ของแบรนด์ชื่อดังระดับแนวหน้าของโลกและของไทยกว่า 7,000 แบรนด์ ที่มาพร้อมคอนเซปต์ใหม่

เรียกว่าเป็นแหล่งรวมของ “โกลบอลแบรนด์” เปิดแฟลกชิพสโตร์ ในอาคารไอคอนลักซ์ (ICONLUXE) ซึ่งมีพื้นที่ 2.5 หมื่นตร.ม.อยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

ไฮไลท์แบรนด์และสโตร์ที่เป็นปรากฏการณ์ “ที่สุด” และเปิดตัว “ครั้งแรก” คือ  สยาม ทาคาชิมายะ ห้างสรรพสินค้าระดับตำนาน 180 ปี จากประเทศญี่ปุ่น เปิดสาขาแรกในประเทศไทยบนพื้นที่ขนาด 3.6 หมื่นตร.ม. 7 ชั้น นำเสนอสินค้ากว่า 500 แบรนด์ ในจำนวนนี้ เป็นแบรนด์ญี่ปุ่นชื่อดังกว่า 180 แบรนด์ และมีกว่า 80 แบรนด์ เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นครั้งแรก

Apple ICONSIAM

อีกช็อป คือ Apple Store แห่งแรกในประเทศไทย กับ Apple ICONSIAM จุดศูนย์รวมให้ผู้คนมาแลกเปลี่ยนความคิด เรียนรู้ และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้กับคนในชุมชน

ไอคอนสยาม ภายใต้ความร่วมมือของ 3 กลุ่มทุนใหญ่ กลุ่มสยามพิวรรธน์ เจ้าของโครงการสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ กลุ่มแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) และเครือเจริญโภคภัณฑ์  วางเป้าหมายเป็นโกลบอล เดสทิเนชั่น ที่นักท่องเที่ยวต้องแวะมาเยี่ยมเยือน และเป็น “แลนด์มาร์ก” แห่งใหม่ สัญลักษณ์แห่งความรุ่งโรจน์ของไทยริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

“บุพเพสันนิวาส” โกยเรตติ้งสนั่นวิก 3

นับตั้งแต่ยุคเริ่มต้น “ทีวีดิจิทัล” ในปี 2557 ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์สื่อโทรทัศน์ต่างไปจากยุคอนาล็อกที่มีฟรีทีวี 6 ช่อง เพราะด้วยจำนวนที่เพิ่มขึ้น 24 ช่อง หลังการประมูลใบอนุญาตในช่วงปลาย ปี 2556 ปัจจุบันออกอากาศ 22 ช่อง  

เมื่อผู้มาใหม่ในสมรภูมิทีวีดิจิทัลไม่ใช่ “หน้าใหม่” แต่เป็นผู้ผลิตคอนเทนท์ที่มีความแข็งแกร่งไม่ต่างจากเจ้าของฟรีทีวีรายเดิม เพราะอยู่ในฐานะผู้เช่าเวลามากกว่า 20-30 ปี  เมื่อทีวีดิจิทัลเริ่มออนแอร์ อันดับผู้นำจึงเปลี่ยนตำแหน่ง แม้ 2 ช่องผู้นำเรตติ้งเดิมทั้ง ช่อง 7 และ  ช่อง 3 ยังรักษาตำแหน่งเดิมไว้ได้ แต่เรตติ้งผู้ชมก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จาก “ช่องใหม่” ที่มีคอนเทนท์แข็งแกร่งเข้าเบียดชิงเรตติ้งแบบหายใจรดต้นคอ โดยเฉพาะการช่วงชิง “เบอร์ 2” ที่ ช่อง 3 ครองตำแหน่งมา 4 ทศวรรษนับจากจุดเริ่มต้น

บุพเพสันนิวาส

ทีวีดิจิทัลที่ก้าวสู่ปีที่ 5 ว่ากันโดยข้อมูลเรตติ้งแล้ว อันดับสอง “ช่อง 3” ตัวเลขลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อ Content is King เป็นสิ่งที่อมตะในทุกยุค ละคร “บุพเพสันนิวาส” ที่มีเนื้อหาโดดใจผู้ชมทุกวัย จากการเล่นใหญ่ของ “แม่การะเกด” เบลล่า-ราณี แคมเปน และ “พี่หมื่น” โป๊ป- ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ  ที่สร้างกระแส “ออเจ้า” ติดกันทั่วบ้านทั่วเมือง

เรียกว่าเป็นละครที่โกยเรตติ้งหน้าจอทีวีสูงสุดของ ช่อง 3  นับตั้งแต่เริ่มออนแอร์ครั้งแรกวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561  จนสร้างประวัติศาสตร์ ในตอนจบ วันที่ 11 เมษายน ด้วยเรตติ้งทั่วประเทศ 18.6 ถือเป็นละครที่เรตติ้งสูงสุดในยุคทีวีดิจิทัลของช่อง 3 และแซงแชมป์เก่า “นาคี” ที่ได้เรตติ้งตอนจบที่ 17.291

สรุปเรตติ้ง บุพเพสันนิวาส 15 ตอน
สรุปเรตติ้ง บุพเพสันนิวาส 15 ตอน

กระแสแรงของ “บุพเพสันนิวาส” ไม่เพียงแค่หน้าจอทีวีเท่านั้น แต่ตัวเลขทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ดังเปรี้ยงไม่แพ้กัน แบรนด์สินค้าและบริการจำนวนมากทำการตลาดเกาะกระแส”ออเจ้า”กันคึกคัก สามารถสร้างรายได้จากโฆษณาให้ ช่อง 3  ทั้ง เฟิร์สรัน และ รีรัน รวมไปถึงอีเวนท์ คอนเสิร์ต สปอนเซอร์ และการขายลิขสิทธิ์ในตลาดต่างประเทศ  เรียกได้ว่า “บุพเพสันนิวาส” ถือเป็นละครที่สร้างประวัติศาสตร์เรตติ้งให้กับช่อง 3 และทีวีดิจิทัลในปีนี้

“นาคี 2” หนังไทยรายได้สูงสุดปี 61

หลังจากละคร “นาคี” สร้างสถิติเรตติ้งสูงสุดในช่วงปี 2559 ที่ออนแอร์ทาง ช่อง 3 หรือในยุคทีวีดิจิทัล ด้วยกระแสความนิยมละครดังกล่าว ทำให้เกิดโปรเจคภาพยนตร์ “นาคี 2”  ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างฝั่งผู้สร้างภาพยนตร์ 3 ฝ่าย คือ  “อ๊อฟ-พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง”  บริษัท เซิร์ช เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด และ นายประวิทย์ มาลีนนท์ อดีตกรรมการผู้จัดใหญ่ ช่อง 3  ร่วมกับค่ายหนัง “เอ็ม พิคเจอร์ส” ที่ดูแลด้านการทำตลาด

“นาคี 2” ใช้งบลงทุนสร้างกว่า 50 ล้านบาท นำแสดงโดยคู่ขวัญ  ณเดชน์ คูกิมิยะ และ ญาญ่า อุรัสยา เสปอร์บันด์ พร้อมด้วย เคน ภูภูมิ พงศ์ภาณุภาค และ แต้ว ณฐพร เตมีรักษ์ คู่พระนางจากละคร

นาคี 2

สมกับเป็นหนังฟอร์มยักษ์ หลังจากโปรแกรมเข้าโรงวันพฤหัส 18 ตุลาคม 2561  กวาดรายได้จากการเข้าฉายในวันแรกทั่วประเทศ 50 ล้านบาท,  เข้าฉาย 2 วัน โกยรายได้ 100 ล้านบาท และ 4 วัน ทำรายได้ 200 ล้านบาท ต้องเรียกว่าทุบสถิติหนังไทยทำรายได้ผ่านหลัก  50-200 ล้านบาทเร็วที่สุดในรอบ 10 ปี  ท้ายที่สุดเมื่อออกจากโรงทำรายได้รวมทั่วประเทศ 441 ล้านบาท สูงสุดของหนังไทยในปีนี้

ปัจจัยที่ทำให้หนังนาคี 2 ได้รับความนิยมมาจาก “คอนเทนท์” ที่น่าสนใจ เป็นการต่อยอดกระแสมาจากละคร อีกทั้ง คอมพิวเตอร์ กราฟฟิค (ซีจี) มีความโดดเด่นและสวยงาม  นอกจากนี้เนื้อหายังเป็นหนังแนว thriller และ fantasy ที่ได้รับความสนใจในตลาดแมส โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่เป็นสัดส่วนรายได้ 60% ของหนังเรื่องนี้

อีกองค์ประกอบสำคัญมาจากจำนวนสาขาและโรงภาพยนตร์ของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ในตลาดต่างจังหวัดเข้าถึงระดับอำเภอ ปัจจุบันครอบคลุม 53 จังหวัด  ขณะที่สาขาโดยรวม ณ เดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ 115 สาขา จำนวน 747 โรง  โดยมีสาขาในต่างจังหวัด 105 สาขา

นาคี 2

พฤติกรรมดูหนังของคนต่างจังหวัดนิยมหนังไทย  “นาคี 2” ได้รับความสนใจในพื้นที่อีสานมากที่สุด  โดยกำหนดฉายในไตรมาส 4 ในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์ บั้งไฟพญานาค วันออกพรรษา ที่สอดคล้องไปกับเนื้อหาเรื่องราวพญานาคของหนังนาคี 2

นอกจากสร้างสถิติทำรายได้สูงในประเทศไทยแล้ว นาคี 2 ยังทำสถิติสูงสุดของปี 2561 ในประเทศลาว ด้วยเช่นกัน หลังจากนี้ ภาพยนตร์ นาคี 2  จะทำการตลาดขายลิขสิทธิ์ทั้งการฉายในโรงภาพยนตร์และทุกช่องทางในทุกตลาดทั่วโลก นับเป็นภาพยนตร์ไทยที่ปลุกกระแสหนังไทยให้กลับมาคึกคักอีกครั้งในปี 2561

ศึกเอาท์เล็ต “สยามพิวรรธน์-เซ็นทรัล”

นอกจากปรากฎกาณ์เปิดตัวบิีกโปรเจค “ไอคอนสยาม” ในปี 2561 แล้ว  ในเดือนมิถุนายน กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์  ยังได้จับมือร่วมทุนกับ “ไซม่อน” บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีกเบอร์หนึ่งของโลก เพื่อสร้าง “ลักชัวรี พรีเมียม เอาท์เล็ต”  ในประเทศไทยรวม 3 แห่ง ด้วยเงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท ในกรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่, และภูเก็ต

สยามพิวรรธน์ ไซม่อน
ชฎาทิพ จูตระกูล – มาร์ค ซิลเวสทรี

โดยโครงการลักชัวรี พรีเมียม เอาท์เล็ตแห่งแรก ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาดใหญ่ 150 ไร่ ในกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ประกอบไปด้วยร้านค้ากว่า 200 ร้าน ที่ให้ส่วนลด 25-70% ทุกวัน ทั้งยังผสมผสานพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ การนัดสังสรรค์และกินดื่ม รวมทั้งกิจกรรมเพื่อสาระและความบันเทิงต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเป็นเดสทิเนชั่น “ช้อป กิน เที่ยว” มีกำหนดเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2562

ภายใต้แผนลงทุน ลักชัวรี พรีเมียม เอาท์เล็ต  เป็นกลยุทธ์สำคัญให้สยามพิวรรธน์ ขยายธุรกิจในเครือไปสู่ “ต่างจังหวัด” ทั่วประเทศไทยได้ เพราะรูปแบบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อค้าปลีกที่ลงตัวและเหมาะกับพื้นที่ต่างจังหวัดที่จะมีทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติและตลาดไทย

สยามพิวรรธน์
ชฎาทิพ จูตระกูล

การพัฒนาศูนย์การค้าในช่วงกว่า 40 ปี ของสยามพิวรรธน์ เป็นการลงทุนในกรุงเทพฯ ทั้งหมด เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ แต่ละโครงการเป็นการนำเสนอแนวความคิดที่ล้ำสมัย สร้างสิ่งที่เป็นต้นแบบ (prototype) ใหม่ให้เกิดขึ้นในวงการค้าปลีก ที่ไม่เหมือนใคร และมีรูปแบบในการพัฒนาโครงการที่โดดเด่น แต่รูปแบบดังกล่าวอาจไม่เอื้ออำนวยให้สามารถขยายได้ทั่วประเทศไทย

ดังนั้นการทำธุรกิจลักชัวรี เอาท์เล็ต มอลล์  จะตอบสนองกลยุทธ์ที่จะทำให้ สยามพิวรรธน์มีความพร้อมแล้วสามารถขยายธุรกิจในต่างจังหวัด!!

เซ็นทรัล วิลเลจ

ฟาก “เซ็นทรัลพัฒนา” หรือ CPN เดินหน้าก่อสร้างโครงการลักชัวรี เอาท์เล็ต  “เซ็นทรัล วิลเลจ” ภายใต้คอนเซปต์ Bangkok Outlet Experience ระดับโลกแห่งแรกในประเทศไทย จิ๊กซอว์ค้าปลีกใหม่ ที่จะเปิดให้บริการเดือนสิงหาคม ปี 2562

โครงการดังกล่าวใช้เงินลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท พื้นที่โครงการ  4 หมื่นตร.ม. บนที่ดิน 100 ไร่  ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ ออกแบบและตกแต่งในสไตล์ไทยร่วมสมัย บรรยากาศธรรมชาติผสานกับพื้นที่เอาท์ดอร์ พร้อมด้วยบริการ อาทิ โรงแรมมาตรฐานระดับโลก, ร้านอาหาร, จุดบริการนักท่องเที่ยว, สนามเด็กเล่น เป็นต้น เพื่อตอบสนองลูกค้าทุกวัย วางเป้าหมายดึงดูดทราฟฟิกจากกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูงปีละกว่า 6 ล้านคน หรือวันละกว่า 1.7 หมื่นคน

ปัจจุบันเซ็นทรัล วิลเลจ ได้ปิดดีลการขายจากแบรนด์เนมระดับโลกไปมากกว่า 50%  จากบูทีค สโตร์รวมกว่า 235 ร้านค้า อาทิ บริษัท เซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป จำกัด (ซีเอ็มจี) ผู้นำเข้าแบรนด์แฟชั่นชั้นนำของประเทศ มีแบรนด์ชั้นนำระดับโลกตอบรับแล้ว อาทิ Polo Ralph Lauren, Kenzo, Vivienne Westwood เอาท์เล็ตแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย, CK Jeans, และ Adidas

เซ็นทรัล วิลเลจ เอาท์เล็ต ลักชัวรี

กลุ่มเป้าหมายหลักลูกค้าคนไทยที่มีรายได้สูงและคนที่ชื่นชอบสินค้าแบรนด์เนมทั่วประเทศ ที่จะต้องมาช้อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนมในราคาคุ้มค่า ซึ่งมีที่เราเพียงที่เดียว รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยว Young Affluent จากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ชาวจีน รัสเซีย

แนวทางการพัฒนาลักชัวรี่ เอาท์เล็ต ดังกล่าวเป็นการตอบรับเทรนด์การสร้างเมืองสนามบิน หรือแอโรโทรโพลิส (Aerotropolis) ที่เป็นเทรนด์ของการพัฒนาเมืองในเขตสนามบินทั่วโลก ที่มีการพลิกโฉมความครบครันทั้งแหล่งช้อปปิ้งอย่าง ศูนย์การค้า โรงแรม เอาท์เล็ต มอลล์ ร้านอาหาร จนถึงเอ็นเตอร์เทนเมนต์ และ เวิร์คกิ้งฮับ ที่ครบวงจร และกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก

โปรเจคเซ็นทรัล วิลเลจ ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่ตอกย้ำความเป็น หนึ่งในผู้เล่นระดับเอเชียและระดับโลกของเซ็นทรัลพัฒนา ในอนาคตมีแผนจะเปิดเซ็นทรัล วิลเลจในโลเคชั่นอื่นๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ

“โอสถสภา” 127 ปี ได้ฤกษ์เข้าตลาดฯ

จากจุดเริ่มต้นร้านยา “เต็กเฮงหยู” ในย่านสำเพ็ง เมื่อ ปี 2434  ปัจจุบัน “โอสถสภา” ก้าวสู่อาณาจักรบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ในภูมิภาคอาเซียน  ภายใต้การนำทัพของ เจนเนอเรชั่น 4  ธุรกิจระดับตำนาน 127 ปี  ก้าวสู่บริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์  เทรดหุ้น OSP ครั้งแรกในวันที่ 17 ตุลาคม 2561

โอสถสภา

ด้วยประสบการณ์ดำเนินธุรกิจมากว่า 127 ปี  ปัจจุบัน “โอสถสภา” เป็นผู้ผลิต ทำการตลาด และผู้จัดจำหน่ายชั้นนำในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ไม่ผสมแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคลในประเทศไทย และเป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในเมียนมาและลาว รวมถึงยังเป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มในประเทศต่างๆ  ทั่วโลกรวม 25 ประเทศผ่านผู้จัดจำหน่าย

เริ่มจากสินค้าผลิตภัณฑ์ยา กฤษณากลั่น, ทัมใจ, โบตัน จุดเปลี่ยนสำคัญ คือนำเครื่องดื่มชูกำลังแบรนด์แรก “ลิโพวิตัน-ดี” เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยปี 2508  ถือเป็นการเปิดตลาดเครื่องดื่มชูกำลังให้เป็นที่รู้จักและมีคู่แข่งเข้ามาทำตลาดจำนวนมาก แต่สินค้าของ “โอสถสภา” ยืนหยัดเป็น “ผู้นำ”ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังมาต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังให้บริการอื่นๆ เช่น บริการบริหารจัดการด้านซัพพลายเชน ได้แก่ การผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าให้แก่บุคคลภายนอกภายใต้กิจการร่วมค้าและสัญญาบริการผลิตสินค้า (OEM)

เพชร โอสถานุเคราะห์
เพชร โอสถานุเคราะห์

เพชร โอสถานุเคราะห์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัทโอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP  บอกเล่าเหตุผลที่โอสถสภา เข้าตลาดฯ หลังจากยั่งยืนมาได้ 127 ปี เพราะ ครอบครัวโอสถานุเคราะห์  ต้องการให้อยู่ต่อไปอีก 200 ปี และไม่อยากให้เป็นบริษัทครอบครัวอีกต่อไป  ดังนั้นเพื่อความยั่งยืนในอนาคต  มองว่าการบริหารจัดการแบบมืออาชีพ ภายใต้บริษัทมหาชน เพื่อระดมทุนจากสาธารณะ จึงเป็นแนวทางการเติบโตแบบยั่งยืนดีที่สุด  และต้องการให้ โอสถสภา เป็นบริษัทที่ยั่งยืนของคนไทย

เป้าหมายต่อไปของ โอสถสภา คือขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ทั้ง ซีแอลเอ็มวี และเอเชีย  โดยเฉพาะ เวียดนามและจีน ที่กำลังศึกษาบิซิเนส โมเดล ที่เหมาะสม   “เป้าหมายของเราไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่มองตลาดเอเชีย และส่งออกทั่วโลก ที่ปัจจุบันทำตลาดอยู่ใน 25 ประเทศ”  การเข้าตลาดฯ ในวัย 127 ปี เพื่อเป็นช่องทางระดมทุน ขยายธุรกิจในอนาคต

วีจีไอผนึกเคอรี่ ยึดธุรกิจขนส่ง

นับตั้งแต่ปี 2558  “วีจีไอ โกลบอล มีเดีย”  ในเครือ บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ซึ่งเริ่มต้นจากธุรกิจสื่อนอกบ้าน (OOH) เดินหน้าสร้างเครือข่ายสื่อด้วยการเข้าซื้อกิจการ (M&A) และร่วมทุน (JV) ใน 3 กลุ่มธุรกิจ คือ สื่อโฆษณานอกบ้าน  เพย์เม้นต์ และโลจิสติกส์ รวมเม็ดเงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท

เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (Kerry Express)

ดีลใหญ่ที่สุดต้นปีนี้คือการลงทุนธุรกิจโลจิสติกส์ ด้วยการซื้อหุ้น 23% มูลค่า  6,000 ล้านบาท ใน “เคอรี่ เอ็กซ์เพรส” ธุรกิจขนส่งที่เติบโตสูงสุดในช่วง  2 ปีที่ผ่านมา

ทั้ง 3 ธุรกิจ คือ “สื่อ-อีเพย์เม้นต์-โลจิสติกส์” ถือเป็น บิซิเนส โมโดล ของวีจีไอ ในการให้บริการลูกค้า ที่ตอบโจทย์ธุรกิจในการปรับตัวสู่การค้ายุคใหม่  ด้วยการใช้เป็น “เครื่องมือ” กตลาด และการค้าขาย  พร้อมทั้งใช้เป็น บิซิเนส โมเดล รุกขยายการลงทุนในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะประเทศที่มีระบบรถไฟฟ้าให้บริการ

ธุรกิจโลจิสติกส์ “เคอรี่” ถือเป็นการลงทุนเพื่อรองรับการเติบโตในตลาดอีคอมเมิร์ซ  สะท้อนจากการให้บริการส่งสินค้าของเคอรี่ช่วงต้นปีอยู่ที่ 8 แสนชิ้นต่อวัน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน และปี 2562 วางเป้าหมายไว้ที่ 2 ล้านชิ้นต่อวัน กับเป้าหมายผู้นำธุรกิจขนส่งในประเทศไทย

เปิดแพ็คเกจ “อุ้มทีวีดิจิทัล”

ธุรกิจทีวีดิจิทัลที่เริ่มออนแอร์ในปี 2557 ถึงปัจจุบันปีที่ 5 จากอายุใบอนุญาต 15 ปี หรือสิ้นสุดในปี 2572 มาถึงวันนี้ ต้องบอกว่าส่วนใหญ่ “สาหัส” ก่อนถึงกำหนดจ่ายเงินค่าใบอนุญาตงวดที่ 5 เดือนพฤษภาคม 2561  ได้มีคำสั่ง มาตรา 44 ออกมาช่วยเหลือ 3 เรื่อง คือ 1.พักชำระ การจ่ายเงินค่าใบอนุญาตงวดต่อไป เป็นเวลา 3 ปี โดยผู้ประกอบการต้องรับภาระการจ่ายค่าดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี 2. กสทช. ช่วยจ่ายเงินค่าเช่าโครงข่าย (MUX) ไม่เกิน 50% เป็นเวลา 2 ปี และ 3.วางหลักการโอนใบอนุญาต แต่ห้ามมิให้ต่างชาติเป็นเจ้าของ

ทีวีดิจิทัล กสทช. นโยบายปี 62

แต่ดูเหมือนอาการของทีวีดิจิทัลยังไม่ดีขึ้นนัก กสทช. จึงต้องปล่อย “แพ็คเกจอุ้ม” ชุดใหญ่ เตรียมช่วยเหลือในปี 2562 ด้วยการนำคลื่นความถี่  700 MHz  ซึ่งทีวีดิจิทัล ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน นำไปประมูลในกิจการโทรคมนาคม ช่วงกลางปี 2562 เพื่อให้บริการ 5G ภายในปี 2563

เมื่อเป็นการเรียกคืนคลื่นฯ 700 MHz  ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน  กสทช.กำหนดวิธีการจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ คือช่องทีวีดิจิทัล รวมถึงการชดใช้ที่เหมาะสมให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ (ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ดิจิทัล)

กสทช. ทีวีดิจิทัล

หลังการประมูลคลื่นฯ 700 MHz  แพ็คเกจอุ้มทีวีดิจิทัล ที่มีการเสนอจากผู้ประกอบการ คือ การนำเงินมาจ่ายค่าส่งสัญญาณโครงข่ายจนสิ้นใบอนุญาตในปี 2572 ,การสนับสนุนการสำรวจเรตติ้งระบบดิจิทัล  รวมทั้งการจ่ายเงินค่าใบอนุญาต 2 งวดสุดท้ายแทน ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และคืนให้ผู้ประกอบการที่จ่ายล่วงหน้าไปแล้ว

คงต้องมารอลุ้นแพ็คเกจอุ้มทีวีดิจิทัลชุดใหญ่ในปี 2562 ว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการอยู่รอดได้หรือไม่ หรือ จะต้องจัดทำแพ็คเกจใหม่มาช่วยเหลือ

จุฬาฯ-เลิฟอีสคืนชีพ “ลิโด้”

หลังจากโรงภาพยนตร์ลิโด ที่มีอายุ 50 ปี นับจากเปิดตัวครั้งแรกในปี 2511 เริ่มต้นด้วยโรงภาพยนตร์ 1 โรง และปรับรูปแบบสู่มัลติเพล็กซ์ เพิ่มจำนวนเป็น 3 โรง ในปี 2536  ถือเป็นตำนานไลฟ์สไตล์ใจกลางเมืองย่านสยามสแควร์

วันที่ 31 พฤษภาคม 2561 กลุ่ม Apex  ผู้ประกอบการโรงหนังลิโด  หมดสัญญาเช่าพื้นที่กับสำนักทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU)  พร้อมปิดฉากโรงหนังลิโด แหล่งกำเนิดไลฟ์สไตล์ยุค 70

Lido Connect

สำนักทรัพย์สินฯ ได้รับการติดต่อเพื่อเสนอแผนบริหารพื้นที่ดังกล่าว 3-4 ราย  โดยตัดสินเลือก บริษัท เลิฟอีส เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ของค่ายเพลง Love is  เข้ามาบริหารพื้นที่โรงหนังลิโด ด้วยสัญญา 5 ปี  ด้วยแนวคิดพัฒนาพื้นที่สร้างคอมมูนิตี้ ที่เริ่มจากดนตรี สู่กลุ่มต่างๆ ทั้งด้านศิลปวัฒนธรรมอื่นๆ ทุกแขนง  เพื่อสร้างให้เป็นเดสทิเนชั่นใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ

“เลิฟอีส” ได้ปรับพื้นที่โรงหนังลิโดเก่า ปรับสู่ Lido Connect  โดยยังคงใช้ชื่อ Lido  แต่เพิ่มคำว่า Connect  และเปลี่ยนมาเขียนชื่อ “ลิโด้”  ตามการออกเสียงชื่อโรงภาพยนตร์ของคนทั่วไป วางเป้าหมายบริหารพื้นที่เชื่อมทุกกลุ่มเข้าไว้ด้วยกันโดยไม่ปิดกั้น

ด้วยคอนเซ็ปต์ Back to Original   โดยยังเก็บพื้นที่โรงภาพยนตร์ที่เป็นตำนานโรงที่ 1 และ 2  ไว้ฉายภาพยนตร์เช่นเดิมพร้อมตกแต่งใหม่  และปรับพื้นที่โรงที่ 3 ให้ใช้งานได้หลากหลาย ทั้งการแสดงงานด้านศิลปวัฒนธรรมแขนงต่างๆ  ทั้งดนตรี การแสดงโชว์ทุกรูปแบบ โดยเปิดกว้างให้ศิลปินทุกค่ายเข้ามาใช้พื้นที่ทำการแสดง พร้อมทั้งเพิ่มพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสมาใช้บริการ

พื้นที่ Lido Connect  จะเปิดโอกาสให้เป็นพื้นที่การแสดงความสามารถของศิลปินทุกคน และเปิดกว้างทำงานร่วมกับทุกสาขาอาชีพ  รวมทั้งเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมที่หลากหลาย ด้านการสร้างนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ โดย ลิโด้ คอนเนค จะเปิดให้บริการ วันที่ 1 พฤษภาคม 2562

เรือฟีนิกซ์ล่มวิกฤติทัวร์จีน

นักท่องเที่ยวจีน ถือเป็นตลาดอันดับหนึ่งที่เดินทางมายังประเทศไทย แต่ปี 2561 ต้องถือว่าเป็น “วิกฤติทัวร์จีน” จากเหตุการณ์ เรือฟีนีกซ์ล่มที่ภูเก็ต ในเดือนกรกฎาคม ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิต 47 ราย บาดเจ็บ 37 ราย สถานการณ์ดังกล่าวทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงอย่างมาก เริ่มตั้งแต่เดือนเกิดเหตุ

S 71286848

ข้อมูลของทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่านักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาประเทศไทยมีจำนวนสะสม 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2561 มีจำนวน 8.37 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนคิดเป็นสัดส่วน 29.34% ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมด สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 4.6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 30% ของรายได้จากการท่องเที่ยวของต่างชาติทั้งหมด

อย่างไรก็ตามตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 ที่เกิดเหตุเรือฟีนิกซ์ล่ม พบว่าชาวจีนยังครองแชมป์ อันดับหนึ่ง แต่จำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องถึงเดือนตุลาคม นักท่องเที่ยวจีนยังวิกฤติหายไปเกือบ 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน

แต่ล่าสุดเริ่มเห็นสัญญาณบวกนักท่องเที่ยวจีน ซึ่ง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่าพ้นจุดต่ำสุดในเดือนตุลาคมไปแล้ว ขณะนี้ปัญหาได้คลี่คลาย มั่นใจธันวาคมนี้ ต่อช่วงปีใหม่ ถึงตรุษจีนปีหน้า  นักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาเที่ยวไทยเหมือนเดิม วางเป้าหมาย 10.5 ล้านคนในปี 2561 และปี 2562 จะมีนักท่องเที่ยวจีนไม่ต่ำกว่า 11-12 ล้านคน 

Avatar photo