Lifestyle

ต้องอึด!! แนะท่ากายบริหารรับสวดมนต์ข้ามปี

กลายเป็นกิจกรรมปกติของคนไทยไปเสียแล้ว สำหรับการ “สวดมนต์” ข้ามปี เพื่อเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตรับปีใหม่ แต่การสวดมนต์ต่อเนื่องข้ามวันระหว่าง  31 ธันวาคม 2561 จนถึง 1 มกราคม 2562  หลายชั่วโมงนี้ ที่ร่างกายต้องอยู่ในท่าประนมมือ และพับเพียบ อาจทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้า และมีผลต่อส่วนต่างๆของร่างกายได้   กรมอนามัยเลยชวนคนไทยเตรียมร่างกายให้พร้อมสวดมนต์ข้ามปี เพื่อทำให้การสวดมนต์นำมาซึ่งผ่านไปอย่าง

S 18563200 1
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ก่อนเข้าสู่ปีใหม่ ประชาชนนิยมสวดมนต์ข้ามปี เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับตนเอง และครอบครัว เป็นการเริ่มต้นที่ดีในปีใหม่ 2562 แต่ด้วยวิธีการปฏิบัติ และระยะเวลาในการสวดมนต์ที่ยาวนาน อาจทำให้ร่างกายเมื่อยล้า ส่งผลกระทบต่อสุขภาพตามมาได้

จึงควรมีการเตรียมร่างกายให้พร้อม โดยบริโภคอาหารในปริมาณที่ไม่มากเกินความต้องการของร่างกาย เลี่ยงอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ย่อยยาก เน้นเนื้อปลา ผัก และผลไม้  เลือกกินข้าวกล้อง ซึ่งถึงแม้จะย่อยยากกว่าข้าวขาว แต่อุดมไปด้วยใยอาหาร ช่วยไม่ให้ท้องผูก และกินปริมาณน้อยกว่าข้าวขาว แต่อิ่มเร็วกว่า เนื่องจากการกินอาหารมากเกินไป เมื่อนั่งสวดมนต์นานๆ จะทำให้เกิดอาการแน่น ท้องอืด อาหารไม่ย่อย เป็นอุปสรรคต่อการสวดมนต์ได้ และที่สำคัญดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ

“สำหรับประชาชนทั่วไป ก่อนสวดมนต์ประชาชนควรเตรียมพร้อม โดยยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ด้วยการยกแขน ขึ้นลง เอียงตัวไปทางซ้าย ขวา กำมือ แบมือ ซึ่งทุกกลุ่มวัยสามารถทำได้ ทั้งในลักษณะการยืนและนั่ง ” พญ.พรรณพิมล กล่าว

นอกจากนี้หากมีเวลาพักในช่วงสวดมนต์ ก็ควรเปลี่ยนอิริยาบถด้วยการเดิน หรือ การบริหาร ยืดเหยียดกล้ามเนื้อแบบค้างนิ่งไว้ประมาณ  10-30 วินาที แต่ละท่าทำอย่างน้อย 4 ครั้ง และเพื่อให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ในการยืดเหยียดกล้ามเนื้อให้ยืดจนถึงจุดที่รู้สึก ตึงแต่ไม่ใช่เจ็บ แล้วนิ่งค้างไว้ในท่านั้น ระหว่างการยืดเหยียดให้หายใจเข้า-ออกตามปกติ อย่ากลั้นหายใจ

นอกจากนี้ผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านข้อเข่า ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ อาจนั่งเก้าอี้แทนการนั่งกับพื้น เพื่อลดอาการปวดเข่าและ ทำให้สามารถสวดมนต์ได้ยาวนานขึ้น

Untitled 7

ทางด้าน นพ.อุดม อัศวุตมางกุร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาข้อเข่าควรหลีกเลี่ยงท่าที่พับข้อมากเกิน  90 องศา อาทิเช่น การนั่งพับเพียบ ในกรณีนั่งสวดมนต์ควรสลับท่านั่ง ระหว่างการนั่งพับเพียบกับการนั่งขัดสมาธิ และอย่าลืมการยกลำตัว หรือกระบังลมขึ้นเป็นช่วงๆ

ทั้งนี้เพื่อช่วยการกดน้ำหนักลงเฉพาะจุด ท่านั่งให้ยกลำตัว หรือกระบังลมขึ้น เป็นการออกแรงต้านทานแรงดึงดูดของโลก โดยทำเป็นช่วงๆ ช่วงละ10 นาที และคลายกล้ามเนื้อลงประมาณ 1 นาที สลับทำอย่างนี้ไปตลอดขณะทำการสวดมนต์จะทำให้กล้ามเนื้อลำตัวแข็งแรงขึ้น และไม่ปวดเมื่อยจากการกดน้ำหนักของลำตัวส่วนบน

“ท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อที่ทำได้ง่ายและเหมาะในช่วงพักของการสวดมนต์ คือ การยืดเหยียดคอ โดยให้เอียงศีรษะไปทางขวาลู่ไหล่ลงทั้ง 2 ช้าง ใช้มือขวาวางบนศีรษะด้านซ้าย แล้วดึงศีรษะเบาๆ ไปทาง ไหล่ขวา ค้างไว้ 10-30 วินาที สลับข้าง และทำซ้ำแบบเดียวกัน”

รวมถึงการยืดเหยียดน่อง โดยยืนห่างจากฝาผนัง 2-3 ฟุต แล้วก้าวเท้าซ้ายเข้าใกล้ผนัง ให้เท้าทั้งสองข้างตั้งฉากกับฝาผนัง งอเข่าซ้าย เข่าไม่ควรเลยปลายเท้า แขนทั้งสองข้างแนบฝาผนัง ขาขวาตึงและส้นเท้าแนบพื้น ค้างไว้ 10-30 วินาที สลับข้างและทำซ้ำ  แบบเดียวกัน พยายามให้เท้าทั้งสองข้างขนานกัน และตั้งฉากกับฝาผนัง ส้นเท้าหลังแนบพื้นและเข่าหลังสามารถงอได้เล็กน้อยระหว่างการยืดเหยียด

ขอบคุณภาพปก จากเว็บไซต์ กระทรวงวัฒนธรรม

Avatar photo