The Bangkok Insight

จิ๊กซอว์สุดท้าย!ซีพีเอ็นปั้นลักชัวรีเอาท์เล็ต‘เซ็นทรัลวิลเลจ’

กว่า 38 ปีของการลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีกใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ถึงปัจจุบัน บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น เปิดตัวศูนย์การค้าไปแล้ว 32 สาขาทั่วประเทศ ภายใต้ 4 แพลตฟอร์ม ทั้งขนาดเล็กถึงใหญ่ รวมทั้งมิกซ์ยูส  รูปแบบอินดอร์และเอาท์ดอร์

ประกอบด้วย 4 แบรนด์  1.เซ็นทรัลเวิลด์ 2. เซ็นทรัล พลาซา 3. เซ็นทรัล เฟสติวัล และ 4.เซ็นทรัล ภูเก็ต คอนเซ็ปต์ศูนย์การค้า จำหน่ายแบรนด์เนมสำหรับนักท่องเที่ยว

ล่าสุด “ซีพีเอ็น” เปิดตัวแพลตฟอร์มและแบรนด์ใหม่  “เซ็นทรัล วิลเลจ” (Central Village – Bangkok Outlet Experience) รูปแบบ “ลักชัวรี เอาท์เล็ต” มาตรฐานระดับโลก เพิ่มเข้ามาในพอร์ตโฟลิโอ ของซีพีเอ็น

ทั้งยังเป็น “บิซิเนส โมเดล” ใหม่แห่งแรกในประเทศไทย เพื่อสร้างประสบการณ์ช้อปปิ้งในเมืองไทยให้ครบทุกมิติ ทั้งรูปแบบศูนย์การค้าครบวงจรและแบบลักชัวรี เอาท์เล็ต เช่นเดียวกับเมืองท่องเที่ยวระดับโลก  สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่จะสร้างให้ไทยเป็น “จุดหมาย” ปลายทางแห่งการท่องเที่ยวและช้อปปิ้งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เซ็นทรัล วิลเลจ เอาท์เล็ต ลักชัวรี

จิ๊กซอว์สุดท้ายผู้นำศูนย์การค้า-ผู้เล่นระดับโลก

วัลยา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและโครงการ บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา กล่าวว่าบริษัทใช้เวลาศึกษา “แพลตฟอร์ม”ศูนย์การค้าประเภท “ลักชัวรี เอาท์เล็ต” กว่า 6 ปี สำหรับการเปิดตัวแบรนด์ใหม่ “เซ็นทรัล วิลเลจ” ที่ถือเป็น New Shopping Platform ที่เมืองไทยยังไม่เคยมีมาก่อน

เซ็นทรัล วิลเลจ เอาท์เล็ต ลักชัวรี
วัลยา จิราธิวัฒน์

แพลตฟอร์ม ลักชัวรี เอาท์เล็ต เป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายของ ซีพีเอ็น ที่มีศูนย์การค้าครบทุกรูปแบบ และรักษาความเป็นผู้นำศูนย์การค้าทุกฟอร์มแมทให้อยู่ในมือคนไทย ตอกย้ำการเป็นหนึ่งใน Global Player ของเอเชีย

โครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ใช้งบลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท พื้นที่โครงการ  4 หมื่นตร.ม. บนที่ดิน 100 ไร่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ  ประกอบไปด้วยเอาท์เล็ต  “ลักชัวรี แบรนด์”จากทั่วโลกกว่า 235 ร้านค้า รวมทั้งแบรนด์ไทย ทุกระดับ ครอบคลุมสินค้าหลากหลากหลาย ทั้งแฟชั่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องใช้ในครัว ของเล่น อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน สปอร์ตแบรนด์ โดยมีบริษัทที่ปรึกษาเอาท์เล็ตระดับโลกมาช่วยพัฒนาโครงการ ซึ่งมีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในการพัฒนาเอาท์เล็ตระดับโลกในประเทศต่างๆ อาทิ จีน  ญี่ปุ่น ไต้หวัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโรงแรมขนาด 200 ห้อง  บริหารโดยอินเตอร์เนชั่นแบรนด์

“เราจะสร้าง unique experience ที่คนไทยและนักท่องเที่ยวต้องมาเยือน เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ 10 นาที คนกรุงเทพฯ เดินทางจากในเมืองประมาณ 45 นาทีด้วยทางด่วน และถนนสายหลักหลายสาย”

โครงการเซ็นทรัล วิลเลจ จะเปิดให้บริการ 2-3 เฟส อยู่ที่ความพร้อมของลักชัวรี แบรนด์ที่จะเข้ามาเปิดให้บริการ  โดยเฟสแรกจะเปิดให้บริการไตรมาส 3 ปี 2562  พร้อมทั้งมองโอกาสการเปิด “เอาท์เล็ต ลักชัวรี” แบรนด์เซ็นทรัล วิลเลจ อีก 2-3 โลเคชั่นหลังจากนี้

ช้อปแบรนด์เนมลดราคา 35-70% ทุกวัน

การสร้างประสบการณ์ช้อปปิ้ง “ลักชัวรี เอาท์เล็ต” จุดเด่นอยู่ที่ Price Point  ที่จะเสนอส่วนลด 35-70% ทุกวัน โดยไม่ต้องรอ “ซีซัน เซลส์” หรือไปช้อปต่างประเทศ

ที่ผ่านมา ร้านแบรนด์เนม ไม่มีพื้นที่ขายสินค้า “ซีซันเก่า” จึงมักนำไปจัดเซลส์ ร่วมกับสินค้าซีซันใหม่ เมื่อจำหน่ายซีซันเก่าไม่หมด จะค้างเป็นสต็อกเพิ่มขึ้น

“เซ็นทรัล วิลเลจ” ถือเป็น ลักชัวรี เอาท์เล็ต แห่งแรก ที่ร้านแบรนด์เนม สามารถนำสินค้าซีซันเก่ามาจำหน่ายได้  ขณะที่นักช้อปจะได้สินค้าแบรนด์เนมลดราคาทุกวัน  ปกติราคาสินค้าเอาท์เล็ต จะต่ำกว่าราคาร้านค้าปลีกปกติอยู่แล้ว

คอนเซ็ปต์ของร้านเอาท์เล็ต คือสินค้าแบรนด์เนม ซีซันเก่า แต่ยังมีคุณภาพดี ขณะที่สินค้าในดิวตี้ ฟรี  เป็นสินค้าซีซันใหม่ ปลอดภาษี จึงไม่แข่งขันกับร้านเอาท์เล็ต  ปัจจุบันแบรนด์เนมต่างประเทศจะดูแลราคาขายปลีกในแต่ละประเทศไม่ให้แตกต่างกันมาก ดังนั้นหากร้านค้าปลีกจัดโปรโมชั่นลดราคา 30-40% จะไม่แตกต่างจากร้านปลอดภาษีมากนัก

เซ็นทรัล วิลเลจ เอาท์เล็ต ลักชัวรี

เจาะนักช้อปแบรนด์เนม-นักท่องเที่ยว

ทางด้าน ปกรณ์ พรรธนะแพทย์  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานปฏิบัติการ กล่าวว่า เซ็นทรัล วิลเลจ ใช้กลยุทธ์ Customer Centric มีบริการหลากหลายครบวงจรเทียบเท่าศูนย์การค้า รวมถึง facility ต่างๆ อาทิ ร้านอาหาร, จุดบริการนักท่องเที่ยว, playground, โรงแรม, และซูเปอร์มาร์เก็ต

นอกจากนี้มีจุดเด่น ทำเลที่ตั้ง ที่ใกล้สุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นสนามบินที่ติดอันดับ 1 ที่มีจำนวนผู้โดยสารมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือกว่า 55 ล้านคนในปี 2560 และติด 1 ใน 10 อันดับของสนามบินที่มีจำนวนผู้โดยสารมากที่สุดในเอเชีย และในปี 2563 คาดการณ์ว่า ส่วนขยายของสนามบินจะทำให้รองรับผู้โดยสารได้เป็น 60 ล้านคนต่อปี

การสร้าง New Shopping Platform “เซ็นทรัล วิลเลจ” จะตอบโจทย์เทรนด์การเติบโตของกลุ่มคนรักสินค้าแบรนด์เนม ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชีย  ซึ่งเกิดจากกำลังซื้อที่เพิ่มสูงขึ้นของกลุ่ม Young Affluent  ซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ใหม่ที่กำลังเป็นที่จับตามองของแบรนด์เนมจากทั่วโลก ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีอายุไม่มากนัก หรือ 25-40 ปี  ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว กลุ่มเป้าหมายนี้จะมีลักษณะเป็น Smart Shopper ชอบซื้อสินค้าที่มีคุณภาพคุ้มค่าคุ้มราคา (Quality Seeker) อีกทั้งต้องการมอบรางวัลให้ตนเอง (Self-rewarding) และแสดงสถานะของตนเองในสังคม (Status Hunter)

เซ็นทรัล วิลเลจ เอาท์เล็ต ลักชัวรี

สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลัก แบ่งเป็นคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทั่วประเทศ  65% และ กลุ่มนักท่องเที่ยว 35% โดยในปี 2560 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากถึง 35 ล้านคนมายังประเทศไทย ปีนี้คาดอยู่ที่ 37 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวจีนและรัสเซีย เป็นกลุ่มที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวและใช้จ่ายสูงระหว่างเดินทาง  รวมทั้งนักท่องเที่ยวในกลุ่มอาเซียน

ในปี 2560  นักท่องเที่ยวต่างชาติใช้เงินช้อปปิ้งในไทยกว่า 4 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 25% ของการจับจ่ายใช้สอยในการท่องเที่ยว

เซ็นทรัล วิลเลจ วางเป้าหมายนักช้อปมาใช้บริการปีละ 6 ล้านคน เฉลี่ยวันละ 1 หมื่นคน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยให้เป็นหนึ่งใน  World Class Shopping Destination ของภูมิภาคนี้

ด้านผลประกอบการซีพีเอ็น ปี 2560 มีรายได้  3.45 หมื่นล้านบาท เติบโต 18%  วัลยา กล่าวว่าปีนี้วางเป้าหมายเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักต่อเนื่อง

 

 

 

Avatar photo