Lifestyle

ถึงตาย!! หมูสุกๆ ดิบๆ เสี่ยงโรคไข้หูดับ

หมูสุกๆ ดิบๆ ยังเป็นอาหารจานโปรดของหลายคน ทั้งลาบหลู้ หรือหมูกระทะที่ปิ้งไม่สุก หรือจิ้มจุ่มต้มไม่สุก รู้หรือไม่ว่า “อร่อย” แต่อาจเสี่ยงขั้นหูหนวกถาวร และเสียชีวิต กระทรวงสาธารณสุข จึงออกโรงเตือนประชาชน โดยเฉพาะช่วงกินเลี้ยงสังสรรค์ปีใหม่ ให้รับประทานอาหารปรุงสุก ใหม่ สะอาด ป้องกันความเสี่ยงทั้งโรคระบบทางเดินอาหาร และเสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้หูดับ หลังพบสถิติปี 2561 ผู้ป่วยเพิ่ม 2 เท่า เสียชีวิต 29 ราย 

หมอสุวรรณชัย กรมควบคุมโรค 1
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลวันหยุดส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ มักมีการจัดเลี้ยงสังสรรค์ในครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อน โดยเฉพาะประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัดหลายวัน จึงขอแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องการประกอบอาหาร ให้เน้นการบริโภคอาหารที่ปรุงสุก ใหม่ และสะอาด

หากมีการบริโภคแบบสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะเนื้อหมูที่ชำแหละกันเองในหมู่บ้าน และนำมารับประทานดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบหลู้หมูดิบ หมูกระทะปิ้งย่างไม่สุก จิ้มจุ่มที่ต้มไม่สุก  นอกจากเสี่ยงป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วงแล้ว  มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับด้วย

ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 14 ธันวาคม 2561 พบผู้ป่วยโรค ไข้หูดับจำนวน 323 ราย เสียชีวิต 29 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ อายุมากกว่า 65 ปี รองลงมา คือ อายุ 55-64 ปี และ 45-54 ปี ตามลำดับ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 พบว่าปีนี้มีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หูดับเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า เป็นจำนวนผู้ป่วย 318 ราย เสียชีวิต 15 ราย

หูดับ1

นพ.สุวรรณชัย อธิบายว่า โรคไข้หูดับเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตรปโตคอกคัส ซูอิส โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่กำลังป่วย โรคนี้ติดต่อได้ 2 ทาง ประกอบด้วย

1.การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ ทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่เป็นโรค โดยติดต่อสู่คนทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา

2.เกิดจากการบริโภคเนื้อ และเลือดหมูที่ปรุงแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ที่มีเชื้ออยู่ผู้ป่วยจะมีอาการหลังรับประทาน 3-5 วัน ซึ่งเชื้อจะเข้าไปทำให้เยื่อหุ้มสมอง เยื่อบุหัวใจอักเสบ อาจทำให้ประสาทหูทั้ง 2 ข้างอักเสบและเสื่อมจนหูหนวกถาวร และอาจเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือดได้

สำหรับวิธีการป้องกัน คือ

1.รับประทานหมูสุกเท่านั้น โดยปรุงเนื้อหมูให้สุกทั่วถึง ด้วยความร้อน หรือทำให้สุกจนเนื้อไม่มีสีแดง ไม่รับประทานสุกๆ ดิบๆ และควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสด หรือห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ

2.ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง

สำหรับกลุ่มผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไข้หูดับสูงสุด คือผู้ที่สัมผัสกับสุกรที่ติดโรคโดยตรง เช่น ผู้เลี้ยงสุกร ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อสุกร เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่เสี่ยงมีอาการป่วยรุนแรงถ้าติดเชื้อ ได้แก่ ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไต มะเร็ง หัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น เนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคอ่อนแออยู่แล้ว

ทั้งนี้โรคนี้รักษาหายขาดได้ โดยทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศมีศักยภาพในการรักษา จึงขอแนะนำประชาชนที่มีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระ ปวดหัว คอแห้งกระหายนํ้า หรือมีไข้ หลังจากรับประทานอาหารที่ปรุงมาจากเนื้อหมู เลือดดิบๆ หรือปรุงสุกๆ ดิบๆ ขอให้รีบพบแพทย์ทันที ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

Avatar photo