Business

บิ๊กดีล 2018 ทุนใหญ่ ‘ควบรวม-ซื้อทรัพย์-ซื้อกิจการ’

ปี 2018 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป เป็นอีกปีที่ภาคธุรกิจมีการดีลการซื้อ-ขาย ควบรวม และซื้อทรัพย์สิน ซื้อกิจการหลายราย แต่หากสรุปบิ๊กดีลสำคัญๆ ที่สร้างเสียงฮือฮาในตลาด เรียกความสนใจจากสังคมได้มาก ต้องยกให้ 5 ดีลใหญ่แห่งปี  ซึ่งสามในห้าดีลที่เกิดขึ้นในบ้านเรา มาจากกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

F6E79443 8E5F 428A A339 F1B9DBC1FC98

ปี 2561 ต้องบอกว่าเป็นปีแห่งความคึกคัก ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แม้ต้นปีดูเหมือนค่อนข้างเงียบเหงา แต่ดีลการซื้อกิจการการในกลุ่มธุรกิจอสังหาฯ ได้เริ่มมาตั้งไต่เดือนแรกของไตรมาสสองกันเลยทีเดียว และเป็นดีลที่หลายคนจับตามอง เพราะเป็นการเจรจาซื้อขาย จากผู้เสนอขายกับเสนอซื้อคู่แรก เป็นรายใหญ่ในตลาดอสังหาฯ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ มาลงตัวที่ผู้เสนอซื้อรายที่สองมาจากธุรกิจด้านท่องเที่ยว

‘คิง เพาเวอร์’ ควัก 1.4 หมื่นล้าน ซื้อ ‘มหานคร’

นั่นคือ ดีลการซิ้อโครงการมหานคร โดยกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เจ้าพ่อดิวตีฟรีไทย ของเจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา ผู้ล่วงลับไปในเดือนตุลาคม แต่ดีลนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2561 มาได้ข้อสรุปลงตัวและชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 โดยนายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์  ให้สัมภาษณ์ว่า ดีลนี้เป็นการซื้อสินทรัพย์บริษัทลูกของ บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

คือ บริษัท เพซ โปรเจ็ค วัน จํากัด (PP1) และบริษัท เพซ โปรเจ็ค ทรี จำกัด (PP3) ที่ดูแลธุรกิจโรงแรม จุดชมวิว ตึกคิวบ์ และพื้นที่ส่วนรวมด้านหน้า โดยบริษัท คิง เพาเวอร์ มหานคร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นใหม่เป็นผู้ซื้อ และได้ทำการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินกับเรียบร้อยแล้ว ด้วยมูลค่าการซื้อกว่า 14,000 ล้านบาท

คิง เพาเวอร์ มหานคร
การเข้าซื้อทรัพย์สินของ คิง เพาเวอร์ มหานคร

ก่อนหน้าที่คิง เพาเวอร์ จะบรรลุข้อตกลง ในการซื้อทรัพย์สินดังกล่าว ทางเพซ ดีเวลลอปเมนท์ ทางเพซฯได้มีการนำเสนอขายทรัพย์สินดังกล่าว ต่อบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) แต่ดีลล่มลงโดยแสนสิริ แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ไม่สามารถตัดสินใจซื้อทรัพย์สินของเพซฯ ได้เนื่องจากได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน

อย่างไรก็ตาม ดีลนี้จบลงที่ บริษัท คิง เพาเวอร์ มหานคร จำกัด ได้ทรัพย์สินในโครงการมหานคร ไปดังนี้ จากโครงการมหานคร ที่เป็นอาคารสูง 78  ชั้น ประกอบด้วย โรงแรม , เรสซิเด้นซ์, ตึกคิวบ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ค้าปลีก และจุดชมวิว  Sky Observation Deck บริเวณชั้น 74-78 สินทรัพย์ที่คิงเพาเวอร์ มหานคร

ทรัพย์สินดังกล่าว ประกอบด้วย โรงแรม ซึ่งสัญญาเดิมในขณะนั้น คือเครือแมริออท ที่จะใช้แบรนด์ “ดิ เอดิชั่น” เข้ามาเปิดบริษัท ซึ่งอยู่ในอาคารมหานครชั้น 1-20 จำนวน 155 ห้อง รวมห้องอาหาร ห้องจัดสัมมนา มูลค่า 6,715 ล้านบาท แต่ภายหลังการซื้อลุ่ล่วงไป โครงการเดินหน้าก่อสร้างแล้วเสร็จ คิง เพาเวอร์ ได้ตัดสินใจเปลี่ยนเชนบริหารโรงแรม จากเครือแมริออท มาเป็นกลุ่มแอคคอร์

โดยล่าสุด แอคคอร์ได้ประกาศเปิดตัวแบรนด์ใหม่เป็นแห่งแรกของโลก ที่อาคารคิง เพาเวอร์มหานคร คือ “โอเรียนท์ เอ็กซ์ เพรส กรุงเทพมหานคร” (Orient Express Mahanakhon Bangkok)  ที่ก่อตั้งขึ้นมาจากการร่วมมือระหว่างแอคคอร์ และบริษัทขบวนรถไฟหรูข้ามประเทศอันเลื่องชื่อ “โอเรียท์ เอ็กซ์เพรส” ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 136 ปี โดยโรงแรมใหม่แห่งนี้ จะพร้อมเปิดให้บริการช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562    

อาคเนย์ประกันภัย
อาคเนย์ประกันภัย

‘อาคเนย์’ ควบรวม ‘ไทยประกันภัย’ 2.5 หมื่นล้าน

ดีลต่อมาเกิดขึ้นในวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 เมื่อ บมจ.ไทยประกันภัย (TIC) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2561 รับทราบแผนการดำเนินธุรกิจ ร่วมกับบริษัท เครืออาคเนย์ จากัด (SEG) ตามที่เครืออาคเนย์ ได้ส่งข้อเสนอการเข้าเป็นพันธมิตร

โดยแจ้งถึงเจตนาและข้อเสนอในการดำเนินธุรกิจร่วมกัน กับบริษัทภายใต้แผนการปรับโครงสร้างกิจการ และแผนการดำเนินธุรกิจร่วมกับเครืออาคเนย์ ซึ่งคณะกรรมการบริษัทเห็นชอบ ให้บริษัทเข้าทำสัญญาร่วมลงทุนกับ SEG เพื่อทำความตกลงเกี่ยวกับการดำเนินการ ตามแผนปรับโครงสร้างกิจการ และแผนดำเนินธุรกิจร่วมกับ SEG

วิธีดำเนินการ คือ เครืออาคเนย์ โอนกิจการทั้งหมดให้แก่ บริษัท โฮลดิ้ง (บริษัทมหาชนจำกัด ที่บริษัทจะดำเนินการจัดตั้งขึ้นใหม่ ภายใต้แผนการปรับโครงสร้างกิจการ) ภายใต้ชื่อ บมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ ซึ่งประกอบด้วยสินทรัพย์และหนี้สินของ SEG รวมถึงหุ้นทั้งหมดที่ SEG ถืออยู่ใน บมจ.อาคเนย์ประกันชีวิต ในสัดส่วน 99.97% ในบมจ.อาคเนย์ประกันภัย ในสัดส่วน 97.33% และ บริษัทอื่น ๆ อีก 10 บริษัท

โดยบริษัทโฮลดิ้ง จะออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนเป็นจำนวน 730.14 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 10 บาท ให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) คือ SEG ในราคาหุ้นละ 34.241 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 25,000 ล้านบาท เพื่อชำระเป็นค่าตอบแทน ในการโอนกิจการทั้งหมดของ SEG ให้แก่บริษัทโฮลดิ้ง แทนการชำระด้วยเงินสด

เนื่องจากเครืออาคเนย์ จะเข้ามามีอำนาจควบคุมในกิจการของบริษัท ผ่านบริษัทโฮลดิ้ง ภายหลังจากที่ดำเนินการต่างๆ แล้วเสร็จตามแผนการปรับโครงสร้างกิจการ ดังนั้น เครืออาคเนย์ จึงได้แจ้งต่อบริษัทว่า SEG หรือบุคคลที่ SEG กำหนด มีความประสงค์ที่จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท โดยความสมัครใจแบบมีเงื่อนไข (Conditional Voluntary Tender Offer)

เพื่อเป็นทางเลือกลำดับแรก ให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ประสงค์จะขายหุ้นของบริษัท และรับชำระราคาเป็นเงินสด ในราคาเสนอซื้อหุ้นละ 34.24 บาท

ทั้งนี้ เครืออาคเนย์ หรือ SEG เป็นกิจการที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือกลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดี หรือตระกูลสิริวัฒนภักดี เจ้าของอาณาจักรสุรา และเบียร์ช้าง ส่วนไทยประกันภัย มีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือตระกูลตู้จินดา ซึ่งถือหุ้นรวมกันสัดส่วนประมาณ42%

ดีลนี้จากข้อมูลที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุว่าฝ่ายอาคเนย์ประกันภัย เป็นผู้แจ้งความจำนงค์ขอร่วมกิจการเข้ามา ซึ่งก็คือผู้เสนอซื้อ ดังนั้นน่าจะสรุปได้ว่าเป็นการเข้ามาเทคโอเวอร์ โดยบริษัทอาคเนย์ ของเจ้าสัวเจริญ เจ้าพ่อนักซื้อกิจการทุนหนา ที่สบายปีกเข้าลงทุน ซื้อกิจการ และควบรวมธุรกิจ ทั้งในและต่างประเทศต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ประทีป ตั้งมติธรรม
นายประทีป ตั้งมติธรรม

‘ศุภาลัย’ ซื้อ ‘มั่นคง’ จ่าย 4 พันล้าน

ดีลต่อมา เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2561 เป็นดีลน้องซื้อพี่ ของตระกูล “ตั้งมติธรรม” ซึ่งฝ่ายพี่ชายคือ “ชวน ตั้งมติธรรม” เป็นเจ้าของและผู้ก่อตั้ง บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) ฝ่ายน้องชาย คือ “ประทีป ตั้งมติธรรม” เป็นเจ้าของและผู้ก่อตั้ง บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ ประทีป เคยทำงานอยู่กับมั่นคงเคหะการ ก่อนที่จะแยกตัวมาตั้งบมจ.ศุภาลัย ดีลนี้จึงเป็นการซื้อขายโดยสมัคร (Voluntary Tender Offer)  โดย ประทีป ตั้งมติธรรม เผยว่าการเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้ จะเป็นการร่วมมือทางธุรกิจแบบ WIN-WIN ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ข่าววงในระบุว่า เหตุผลที่มั่นคงฯ ต้องการขายหุ้นครั้งนี้ เป็นเพราะ นายชวน ตั้งมติธรรม มีอายุมากแล้ว ประกอบกับ บุตรชาย และบุตรสาวทั้งสองคน ก็ไม่สนใจที่จะดำเนินธุรกิจต่อ นายชวน จึงได้ขายหุ้นให้กับกลุ่มฟินันซ่า ไปในช่วงกลางปี 2558 จนทำให้กลุ่มฟินันซ่า เข้าถือหุ้นในมั่นคงอยู่มากกว่า 30%

ในขณะที่ฝ่ายประทีป ผู้เป็นน้องชาย มองว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของมั่นคงฯ มีแบรนด์ที่ตลาดยอมรับ และมีโครงการในทำเลดีหลายโครงการ จึงต้องการดึงเข้ามาในพอร์ตธุรกิจของศุภาลัย ซึ่งทำตลาดใกล้เคียงกันอยู่แล้ว จึงได้เสนอซื้อหุ้นจากมั่นคงฯดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายประทีป ได้ทยอยซื้อหุ้นของบริษัทมั่นคงเคหะการ มาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ในสัดส่วน 11.29% สูงกว่าผู้ถือหุ้นอันดับ 2 อย่าง บริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) ที่มีสัดส่วน 9.78 และอันดับ 3 บริษัท ซีพีดี โฮลดิ้ง จำกัด ที่มีหุ้นในสัดส่วน 9.07%

อย่างไรก็ดี หากนับรวมจากผู้ถือหุ้นรายอื่นแล้ว กลุ่มฟินันซ่ามีหุ้นรวมกันประมาณ 30-35% โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา นายประทีป ให้เหตุผลในการซื้อหุ้นของบริษัทมั่นคงเคหะการว่า เป็นการลงทุนส่วนตัว เนื่องจากตนเองมีเงินสดเหลืออยู่ในมือ และมองว่าราคาหุ้นยังต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชี ซึ่งการเข้าซื้อหุ้นมั่นคงฯดังกล่าว นายประทีป ใช้เงินลงไปทั้งสิ้นกว่า 4,000 ล้านบาท

หลายคนมองดีลนี้ ว่าเป็นการทวงสินทรัพย์ของตระกูล “ตั้งมติธรรม” คืนจากฟินันซ่า ที่ซื้อหุ้นมั่นคงฯไปก่อนหน้านี้ แต่นายประทีป ยืนยันว่าไม่ได้เป็นเจตนาทวงคืนสินทรัพย์ของตระกูลแต่อย่างใด แต่เป็นการมองโอกาสทางธุรกิจ เพราะเห็นว่าราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี

และยังสามารถนำมาพัฒนาเพิ่มมูลค่าได้ เพราะดำเนินธุรกิจเดียวกันกับศุภาลัย ดีลนี้จึงเกิดขึ้น ซึ่งก็ทำให้ขนาดธุรกิจของศุลาลัย เติบโตขึ้นจากพอร์ตมั่นคงเคหะการที่เพิ่มเข้มา นั่นเอง

จี ทาววอร์
อาคารจี ทาวเวอร์

‘ซีพีเอ็น’ ซื้อ ‘จีแลนด์’ 1.9 หมื่นล้าน  

บิ๊กดีลต่อมาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2561 เมื่อบริษัทลูกของซีพีเอ็น บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เครือเซ็นทรัล ของตระกูล “จิราธิวัฒน์” ตัดสินใจใช้เงินก้อนแรกกว่า 1 หมื่นล้านบาท เข้าซื้อหุ้นกว่า 50.43% ในบริษัท จีแลนด์ จำกัด (มหาชน) ของตระกูล “บุญดีเจริญ” และตระกูล “รัตนรักษ์” จำนวนหุ้นที่ซื้อกว่า 3,278 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 3.10 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น กว่า 10,162 ล้านบาท โดยใช้บริษัท ซีพีเอ็น พัทยา จำกัด เข้าทำการซื้อขาย

นอกจากนี้ ซีพีเอ็น ยังได้ทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมดของจีแลนด์ (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) ภายใน 21 วัน สิ้นสุดเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2561 จำนวนทั้งสิ้นกว่า 3,221 ล้านหุ้น คิดเป็น 49.57% ของหุ้นที่ออก และขายแล้วทั้งหมดของจีแลนด์ ตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยทำคำเสนอซื้อในราคาเดียวกันคือหุ้นละ 3.10 บาท ซึ่งต้องใช้เงินในการทำคำเสนอซื้ออีกกว่า 9,987 ล้านบาท

การซื้อหุ้นครั้งนี้ เท่ากับเป็นการซื้อกิจการจีแลนด์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใหญ่อีกราย ที่มีอาณาจักร อสังหาริมทรัพย์ อยู่ย่านถนนพระราม 9 – รัชดาภิเษก ที่ถูกขนานนามว่าเป็น “NEW CBD” หรือเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ เพราะ จีแลนด์ เป็นเจ้าของทรัพย์สินและที่ดินแปลงใหญ่ถึง 70 ไร่ ริมถนนรัชดาภิเษก-พระราม 9 บริเวณหัวมุมแยกพระราม 9 ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการอสังหาฯขนาดใหญ่ เช่น อาคารจี ทาวเวอร์, อาคารยูนิลีเวอร์ เฮ้าส์ , เซ็นทรัล พระราม 9, เดอะ ไนน์ ทาวเวอร์ และเบล คอนโดมิเนียม

รวมทั้ง แผนพัฒนาโครงการซูเปอร์ ทาวเวอร์ อาคารสูง 600 เมตร 125 ชั้น ที่จี แลนด์ ตั้งใจพัฒนาเป็นอาคารสูงที่สุดในอาเซียน นอกจากนี้ยังรวมถึง โครงการพัฒนาอสังหาฯแนวราบ โครงการแกรนด์ คาแนล บ้านจัดสรรระดับหรูย่านดอนเมือง และย่านถนนสามัคคี ประชานิเวศน์

จี แลนด์ มีโครงการพัฒนาอสังหาฯ 3 โครงการ ล้วนตั้งอยู่ในทำเลที่ดี คือ ติดแนวรถไฟฟ้า โดยที่ดินแปลงดอนเมือง เนื้อที่กว่า 100 ไร่ และแปลงโลคัล โรด เนื้อที่ 35 ไร่ ติดแนวรถไฟฟ้าสายสีแดง ส่วนที่ดินแปลงที่ติดถนนพหลโยธิน และวิภาวดีรังสิต เนื้อที่ 49 ไร่ (ตรงข้ามแดนเนรมิตร) ติดจุดตัดสถานีรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีเขียว

ดีลนี้มีความน่าสนใจ ไม่เพียงการซื้อหุ้นเท่านั้น แต่เป็นการซื้อกิจการของสองบริษัทอสังหาฯรายใหญ่ ซึ่งทันทีที่การซื้อสำเร็จ ทำให้ซีพีเอ็น กลายเป็นกลุ่มค้าปลีกใหญ่ ที่มีที่ดินศักยภาพสูงในเมือรวดเดียวหลายแปลง ทั้งทำเลพระราม 9-รัชดาภิเษก และทำเลพหลโยธิน จุดตัดรถไฟฟ้าสายสีเหลือง-สีเขียว สร้างความแข็งแกร่งด้านทรัพย์สิน ให้เครือเซ็นทรัล ได้เปรียบคู่แข่งในธุรกิจค้าปลีกหลายราย

uber

‘แกร็บ’ ซื้อ ‘อูเบอร์’

ดีลใหญ่ช่วงต้นปี ที่สั่นสะเทือนวงการธุรกิจบริการเรียกรถรับส่งผ่านแอพพลิเคชันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ “แกร็บ” เข้าซื้อกิจการ “อูเบอร์” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด โดยที่อูเบอร์ก็เข้าถือหุ้นในแกร็บ 27.5%  ภายใต้ข้อตกลงที่แกร็บบอกแต่เพียงว่า มีมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์การซื้อธุรกิจออนไลน์ในภูมิภาค

หลังจากควบรวมกันแล้ว บริการของแกร็บประกอบด้วย บริการรับส่งอาหาร เดินทางขนส่ง  บริการชำระเงินผ่านมือถือ และบริการทางการเงิน

อย่างไรก็ดี การซื้อขายกิจการนี้ ทำให้เกิดความวิตกถึงเรื่องการผูกขาดตลาดขึ้นมา หลายชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พากันออกมาประกาศสอบสวนเรื่องนี้อย่างเข้มงวด

Avatar photo