Finance

ส่องหุ้นใหญ่ครองแชมป์ราคาพุ่งสวนทางตลาดปี 61

ภาพรวมตลาดหุ้นไทยปี 2561 ดัชนีหุ้นปรับตัวลดลง 11.24%  โดยดัชนีหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางดัชนีรวมประกอบด้วย กลุ่มไฟแนนซ์ เพิ่มขึ้น 1.56% กลุ่มกองทุนอสังหาริมทรัพย์ และรีท เพิ่มขึ้น 5.28% กลุ่มโรงพยาบาล เพิ่มขึ้น 9.27% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆปรับตัวลดลงทั้งหมด

จากการรวบรวมข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่า หุ้นที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ขนาดใหญ่ 50 อันดับแรกในตลาดหุ้นไทยนั้น มีหุ้นที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางดัชนีหุ้นไทยเพียง 15 บริษัท ส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์, แบงก์, ค้าปลีก, โรงพยาบาล และโรงไฟฟ้ารายใหญ่

หุ้นที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นมากสุดในปี 2561ได้แก่ หุ้น KTC เพิ่มขึ้น 61.29% รองลงมาหุ้น MTC 24.52% หุ้น BDMS 24.4% หุ้น GULF19.23% หุ้น HMPRO 17.19% หุ้น GLOBAL17.03% หุ้น EGCO 15.74% หุ้น BTS13.86% หุ้น PTTEP 11.5% หุ้น GLOW 7.69% หุ้น PTT 2.84% หุ้น KTB 2.6% หุ้น CPF 2.08% หุ้น BH 1.06% หุ้น BBL 0.5% หุ้น TOA 0.77% สำหรับผู้ลงทุนที่ถือหุ้นในกลุ่มดังกล่าว หากเข้ามาลงทุนในปีนี้จะยังมีกำไรจากการลงทุน

10 หุ้นใหญ่27121

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ส่วนใหญ่ยังคงแนะนำให้เข้าลงทุนหุ้นกลุ่มดังกล่าว เพราะประเมินว่าเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานดีและปลอดภัยภายใต้สถานการณ์ที่ดัชนีผันผวนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มไฟแนนซ์ จะเห็นว่าราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรอบปี 2561

บล.ทิสโก้ ประเมินว่า กลุ่มไฟแนนซ์ โดยเฉพาะในกลุ่ม non-bank สามารถยึดตลาดทั้งเครดิตการ์ดและสินเชื่อส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว แต่เรามองว่าปี 2562 – 2563 จะเป็นความเสี่ยงจากสัดส่วนของสินเชื่อบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้นมากแล้ว แต่สินเชื่อส่วนบุคคลอื่นๆ ยังสามารถเพิ่มขึ้นได้ และฝ่ายวิจัยมองว่าการเลือกตั้งในปี 2562 จะเป็นปัจจัยหนุนการบริโภค และคุณภาพสินทรัพย์

ทั้งนี้ KTC และ AEONTS หันมาเน้นสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นใน ปี 2562 – 2563 ซึ่ง AEONTS มีส่วนแบ่งการตลาดที่สูงในกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลที่ 11.2% เทียบกับ KTC ที่ 7% แม้ว่า KTC จะมีนโยบายในเชิงรุกมากกว่า และมีสัดส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นจาก 30% ในปี 2556 เป็น 35.6% ในไตรมาส 3ปี 2561 ในขณะที่ AEONTS ลดสัดส่วนสินเชื่อในส่วนนี้ลงจากความกังวลด้านคุณภาพสินทรัพย์ ทำให้สัดส่วนสินเชื่อบุคคลลดลงเป็น 52.1% ในช่วงไตรมาส 2ปี 2561จากเดิม 62% ในปี 2556 ซึ่งฝ่ายวิจัยคาดว่าสินเชื่อส่วนบุคคลจะเพิ่มขึ้น 10-13% สำหรับทั้ง 2 บริษัท

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยคาดกำไรก่อนการตั้งสำรองของ KTC เพิ่มขึ้น 8.6%, 10.1% และ 9.1% สำหรับปี 2561-2563 และสำหรับ AEONTS ที่ 13.8%, 11.3% และ 12.1% หากรวมการตั้งสำรองส่วนเกินแล้ว ผลประกอบการของ KTB จะเพิ่มขึ้น 58.6%, 12.4% และ 10% ทำให้มีอัพไซด์สำหรับปี 2562-2563 และผลประกอบการของ AEONTS จะเพิ่มขึ้น 22%, 15.9% และ 15.1% สำหรับปี 2561-2563 หนุนโดยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น และหนี้เสียที่ฟื้นตัว

10 หุ้นใหญ่27123

ขณะที่ บล.เอเซียพลัส ประเมินว่าผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 4 ปีนี้ กลุ่มเช่าซื้อ จะยังเติบโตทั้งงวดไตรมาสก่อนและงวดเดียวกันของปีก่อน นำโดย หุ้น JMT เพราะได้เพิ่มประสิทธิภาพการเก็บหนี้จากกองหนี้ที่ตัดต้นทุนหมดแล้ว รวมถึงหนี้รับซื้อใหม่ที่เข้ามาในช่วงหลัง  ส่วน หุ้น SAWAD เข้าฤดูกาลสินเชื่อ อีกทั้ง บริษัทเริ่มกลับมาเติบโตเป็นปกติภายหลังปรับโครงสร้างธุรกิจร่วมกับ BFIT เสร็จสิ้น

ขณะที่ THANI เข้าฤดูกาลสินเชื่อ ความต้องการสินเชื่อรถบรรทุกแข็งแกร่งมาก สำรองหนี้ฯเริ่มเบาตัว ด้านหุ้น AEONTS เข้าฤดูกาลสินเชื่อรายย่อย ตามด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐช่วยหนุนมาก และยังเข้าใกล้ช่วงเลือกตั้ง  และหุ้น MTC เข้าฤดูกาลสินเชื่อแรงหนุนจากการเปิดสาขาที่ผ่านมายังส่งผลบวกต่อเนื่อง

ทั้งนี้ โดยรวมคาดกำไรสุทธิปี 2561 เติบโต 17.9%จากงวดเดียวกันของปีก่อน  และปี 2562 เติบโต 20%จากงวดเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในปี 2562 ถือเป็นความเสี่ยงลำดับแรกที่จะมีผลกระทบต่อต้นทุนดอกเบี้ยจ่าย ซึ่งผู้ประกอบการต่างมีการปรับตัวด้วยการออกหุ้นกู้ และเปลี่ยนเงินกู้จากระยะสั้นเป็นระยะยาวมากขึ้น โดยกลุ่มที่มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย( spread) อยู่ในระดับสูง (SAWAD, MTC, AEONTS, TK, S11) สามารถทนแรงเสียดทานจากผลกระทบจากต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นได้มากกว่า กลุ่มผู้ประกอบการที่มี spread เฉลี่ยระดับตํ่ากว่า (THANI, ASK)

บล.ฟินันเซีย ไซรัส คาดว่า KTC จะมีกำไรสุทธิปีนี้ 5.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 61% จากงวดเดียวกันปีก่อน โดยแนวโน้มกำไรไตรมาส 4 ปี 2561 ที่น่าจะทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้งตามฤดูกาลการจับจ่ายใช้สอย ส่วนปีหน้าคาด 6.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% จากงวดเดียวกันปีก่อน จากรายได้ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นตามการเติบโตของสินเชื่อที่เป็นผลตอบแทนสูง( High-yield) ทำให้สเปรทดีขึ้นและคาดต้นทุนทางการเงินลดลงจากการตั้งสำรองฯระดับสูงที่มีความจำเป็นน้อยลง เพราะคุณภาพสินเชื่อที่ดีขึ้น ซึ่งจะเห็นว่า ราคาหุ้นที่ยังลดลง (Underperform) เมื่อเทียบกับเซ็ท 50 และค่าพีอีต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตอยู่ 11% ทำให้โอกาสที่จะปรับตัวลดลงมีค่อนข้างจำกัด

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight