Economics

กฟผ.เตรียมแตกไลน์ ‘ธุรกิจนวัตกรรม’

อยู่เฉยไม่ได้แล้วสำหรับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นอกจากเทคโนโลยีในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Disruptive Technology)แล้ว ผู้บริโภคกลายเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า (Prosumer) การรุกคืบของโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) รายเล็ก (SPP)  และรายเล็กมาก (VSPP) ที่ทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของกฟผ.ลดลงตามลำดับ ตอนนี้เหลือ 30% เศษเท่านั้น

ก่อนอื่นกฟผ.ก็เริ่มปรับโครงสร้างองค์กร มีการเขย่าพนักงานให้มีขนาดพอเหมาะพอควร ไม่ได้โละคนในวันนี้ แต่อัตราการทดแทนผู้เกษียณลดลง ซึ่งในช่วงปี 2561 – 2566 จะมีคนเกษียณประมาณ 6,900 คน  รับเฉพาะวิชาชีพที่จำเป็นเท่านั้น ทำให้ในปี 2564 กฟผ.จะมีพนักงานรวม 16,500 คน จาก 21,800 คนในปัจจุบัน

ขณะเดียวกันก็นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการทำงานทุกเรื่อง โดยกฟผ.สนับสนุนทั้งคนกฟผ. และนักวิจัยภายนอก รวมถึงเยาวชนรุ่นใหม่ให้มีการคิดค้นวิจัยที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในกิจการไฟฟ้าและที่เกี่ยวข้องให้เกิดประสิทธิภาพ

สัดส่วนการสนับสนุนงานวิจัยไว้ 5 ด้าน

  1. ด้านนวัตกรรมระบบไฟฟ้าของประเทศ สัดส่วน 40 %
  2. ด้านการแก้ไขปัญหา เพิ่มประสิทธิภาพ และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ กฟผ. สัดส่วน 25 %
  3. ด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม สัดส่วน 15 %
  4. ด้านการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนกับชุมชน สัดส่วน 10 % มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนรอบโรงไฟฟ้าและระบบส่ง รวมถึงลดมลพิษที่ส่งผลต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมรอบโรงไฟฟ้า
  5. ด้านการมุ่งสู่ธุรกิจใหม่ สัดส่วน 10 % เน้นงานวิจัยที่สามารถต่อยอดได้ในเชิงธุรกิจ
DSC 6763
ดร.จิราพร ศิริคำ

ดึงหุ่นยนต์ช่วยงาน

ดร.จิราพร ศิริคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และ พัฒนาธุรกิจ กฟผ. ระบุว่า ต่อไปนี้ทุกสายงานต้องดึงเทคโนโลยี นวัตกรรม และปฏิบัติงานโดยนำดิจิทัลเข้ามาใช้ ตอนนี้บางส่วนงาน เช่น ในโรงไฟฟ้าก็นำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยแล้วในงานซ่อมบำรุง

“เมื่อโลกเปลี่ยน ทุกคนต้องเปลี่ยน อยู่แบบเดิมไม่ได้แล้ว ทางกฟผ.ก็ปรับโครงสร้างองค์กรให้ฟิตไปแล้ว มีการปรับสายงานต่างๆ และมีคนรุ่นใหม่มาทำงานกับเราในสัดส่วนที่มากขึ้น”

8744 39

นอกเหนือจากนี้ยังเปิดรับทั้งคนใน และคนนอก ให้เข้ามาเสนอผลงาน เพื่อขอรับการสนับสนุนทุนวิจัย โครงการล่าสุด เช่น  Super Cool Idea Contest 2018 เพื่อนำไปสู่วิสาหกิจเริ่มต้น ( Startup)  ซึ่งมีผลงานถึง 172 ไอเดียที่ระดมสร้างสรรค์กันเข้ามาให้กฟผ.นำไปต่อยอดได้

เมื่อเร็วๆนี้ ยังได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาเทคโนโลยีภาครัฐและตลาดภาครัฐสำหรับ สตาร์ทอัพ ร่วมกับนายวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) และสตาร์ทอัพ จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท อินเทลเล็คชวล ดีไซน์ กรุ๊ป จำกัด บริษัท ซิสเท็ม สโตน จำกัด และ บริษัท โลเคิล อไลค์ จำกัด

“ถือเป็นก้าวสำคัญในการนำร่องระหว่างหน่วยงานภาครัฐ กับสตาร์ทอัพ ที่จะร่วมกันยกระดับขีดความสามารถทางนวัตกรรมของประเทศ พัฒนาการให้บริการประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของภาครัฐ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 “ ดร.จิราพร กล่าว

154887

ร่วมมือกับสตาร์ทอัพต่อยอดธุรกิจ

ความร่วมมือครั้งนี้ รวม 4 ฉบับ 1.เป็นการลงนามร่วมกับบริษัท อินเทลเล็คชวล ดีไซน์ กรุ๊ป จำกัด หรือ IDG ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบ พัฒนา ปกป้องแบรนด์ และผลิตภัณฑ์ โดยจะร่วมมือกับฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมของ กฟผ. จัดทำคู่มือสำหรับการใช้สัญญา เพื่อตอบโจทย์การดำเนินนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ของ

ลงนามกับบริษัท ซิสเท็ม สโตน จำกัด ผู้ให้บริการระบบบริหารจัดการงานซ่อมบำรุงด้านวิศวกรรมบนมือถือ จะร่วมกับโรงไฟฟ้าวังน้อย จัดทำระบบบริหารจัดการงานซ่อมบำรุง ด้วยแอพลิเคชั่นบนมือถือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการดำเนินงาน

และ 4 ลงนามกับบริษัท โลเคิล อไลค์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่สนับสนุนกิจการเพื่อสังคม จะร่วมมือกับโรงไฟฟ้าบางปะกง พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชนคลองตำหรุ จ.ชลบุรี และร่วมมือกับเขื่อนศรีนครินทร์ พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชน บ้านแก่งปลากด จ.กาญจนบุรี ลงพื้นที่สำรวจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการและเส้นทางท่องเที่ยว เพื่อก่อให้เกิดการให้บริการในรูปแบบนวัตกรรมเชิงสังคมด้านการท่องเที่ยว

JOE258 31

เตรียมจับมือสวทช.ตั้งบริษัททำธุรกิจวิจัย

นอกจากนี้หลายปีที่ผ่านมากฟผ.ยังร่วมมือกับสำนักวิจัยสถาบันต่างๆเพื่อวิจัย และพัฒนานวัตกรรมใหม่ร่วมกัน โดยลิขสิทธิ์เป็นของ กฟผ.สามารถหยิบจับมาพัฒนาต่อยอดเมื่อใดก็ได้

ในขณะนี้ มีงานวิจัยดีๆในมือที่กฟผ.กำลังเล็งมาต่อ ยอดในเชิงธุรกิจ  ดร.จิราพร บอกว่ากำลังคิดที่จะตั้งบริษัทร่วมกันระหว่างกฟผ. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และดึงบริษัทเอกชนมาร่วมด้วย เพื่อมาพัฒนานวัตกรรมด้วยกัน ถือเป็นธุรกิจใหม่ของเรา ผลผลิตจากงานวิจัยที่ได้ จะใช้ในกิจการของกฟผ.เอง และให้บริการคนนอก ตอนนี้กำลังคิดโครงสร้างกันอยู่

Avatar photo