Finance

โบรกฯประสานเสียงสั่งลุย ‘หุ้นแบงก์’ รับปัจจัยบวกเพียบ

จากการที่คณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงครั้งแรกในรอบ 7 ปี อีก 0.25% จากระดับ 1.50% เป็น 1.75% ทำให้นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เริ่มหันมาปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนหุ้นแบงก์มากขึ้น ขณะเดียวกันเชื่อว่า เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเกิดขึ้น น่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุน ทำให้ความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น ช่วยผลักดันให้ผลประกอบการกลุ่มแบงก์เติบโตได้ต่อเนื่อง  จึงหันมาแนะนำให้สะสม หุ้นแบงก์ขนาดใหญ่เข้าพอร์ตลงทุนได้แล้ว

บล.ฟินันเซียไซรัส ประเมินว่า ภายหลังการประกาศกนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี เป็น 1.75%เนื่องจากเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากอุปสงค์ในประเทศ ทำให้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมีความจำเป็นน้อยลง ธนาคารขนาดใหญ่ได้ประโยชน์จากการปรับบขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้

ฝ่ายวิจัยคงคำแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักลงทุนสำหรับหุ้นกลุ่มธนาคาร เพราะการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า และรัฐบาลใหม่จะนำไปสู่ความเชื่อมั่น และการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลดีต่อการกลับของสินเชื่อเพื่อการลงทุน (long-termproject loan) รวมถึงภาพรวมทางเศรษฐกิจที่จะดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นการบริโภคและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนเรื่องคุณภาพหนี้ฝ่ายวิจัยคาดว่ามีความเสี่ยงลดลงมากเมื่อเทียบกับ 2 ปีที่ผ่านมา

ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ในรอบปี2561 01

สำหรับธนาคารขนาดใหญ่เป็นผู้ได้ประโยชน์ โดยฝ่ายวิจัยชอบ KBANK เพราะเมื่อพิจารณาจากส่วนผสมของสินเชื่อ ธนาคารที่มีส่วนผสมของสินเชื่อธุรกิจและ SME จะได้รับอานิสงส์ของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้น เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่อิงกับอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (MLR, MOR และ MRR) ซึ่งไม่ได้มีการปรับมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 ในกรณีนี้ธนาคารที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดได้แก่ BBL, TMB และ KBANK ซึ่งมีสัดส่วนสินเชื่อธุรกิจราว 70% ของสินเชื่อทั้งหมด

อย่างไรก็ตามหากพิจารณากับ NIM (อัตราการทำกำไรจากการปรับขึ้นของสินเชื่อ) ฝ่ายวิจัยชอบ KBANK ที่สุด และจากการทดสอบความอ่อนไหวของกำไรของกลุ่มต่อการปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยทุกๆ 0.25% คาดว่าจะส่งผลต่อกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคาร 6%

ทั้งนี้ จากสถิติในอดีต เมื่อปี 2554 กลุ่มธนาคารมีกำไรเพิ่มขึ้นราว 20%จากงวดเดียวกันปีก่อน ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งล่าสุดระหว่างไตรมาส 2 ปี 2553 -ไตรมาส 3 ปี 2554 (6 ไตรมาส) มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย R/P ทั้งสิ้น 2.25% จาก1.25% เป็น 3.5%  พบว่าธนาคารขนาดใหญ่โดยเฉลี่ยจะมี NIM เพิ่มขึ้นราว 0.3%

จากการศึกษาพบว่า กำไรของกลุ่มธนาคารยังคงปรับเพิ่มขึ้นแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะเป็นขาลงตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปี 2556 โดยมีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิราว 20% เนื่องจากสินเชื่อที่ยังคงเติบโตในระดับสูงอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10% จนถึงปี 2555 จึงเกิดข้อสรุปว่าผลกำไรของธนาคารยังดี หากสินเชื่อยังสามารถเติบโตได้ดี และภาวะเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของการลงทุนที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ฝ่ายวิจัยได้ Overweight สำหรับกลุ่มธนาคาร เชื่อว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าและรัฐบาลใหม่จะนำไปสู่ความเชื่อมั่นและการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลดีต่อการกลับของสินเชื่อเพื่อการลงทุน (long-term project loan) รวมถึงภาพรวมทางเศรษฐกิจที่จะดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นการบริโภคและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนเรื่องคุณภาพหนี้คาดว่ามีความเสี่ยงลดลงมาก

ขณะที่ บล.กรุงศรี ระบุว่าฝ่ายวิจัยได้เพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้นแบงก์ เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นบวกต่อธนาคารขนาดใหญ่มูลค่าหุ้นยังถูก ซึ่งการที่กนง. มีมติปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% เป็น 1.75% ธนาคารอาจไม่จําเป็นต้องเร่งปรับดอกเบี้ยเงินกู้-ฝากขึ้นตามในรอบนี้และหุ้น BBL, KTB, KBANK, SCB & TISCO น่าจะได้ผลบวกหลักจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายธนาคารขนาดใหญ่ได้ประโยชนหลัก จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น

ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ในรอบปี2561V2 01

ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารปรับขึ้นโดดเด่นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น หากอิงสถิติในอดีต เราคงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคารที่ระดับ “มากกว่าตลาด” และยังคง BBL และ KBANK เป็นหุนเด่นในกลุ่มธนาคาร สนับสนุนหลักๆจากปัจจัยพื้นฐาน และความสามารถในการทํากําไรของกลุ่มธนาคารที่ดีขึ้นในปี 2562 นอกจากนี้ปัจจัยหนุนด้านบวกต่อกลุ่มธนาคาร หลักๆ มาจากประเด็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการเลือกตั้ง และจากมูลค่าหุ้นปัจจุบันที่ยังคงถูกน่าจูงใจต่อการลงทุนในระยะยาว

บล.โนมูระ พัฒนสิน มีมุมมองที่ดีต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากคาดกำไรสุทธิไตรมาส 4 ปี 2561จะเติบโตจากงวดเดียวกันปีก่อนได้ต่อเนื่อง สาเหตุหลักจากการตั้งสำรองที่ลดลง จากคุณภาพสินทรัพย์ที่ฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปและความกังวลต่อมาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS 9) ที่ลดลง ประกอบกับคาดกำไรปกติจะเพิ่มขึ้นในปี2562 ประมาณ 8% จากปี 2561 จากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เริ่มมองว่ากลุ่มธนาคารมีปัจจัยที่ต้องติดตามมากขึ้น คือ รายได้ค่าธรรมเนียมที่โดนกดดันจากการเข้ามาของยุคดิจิทัล ประกอบกับธุรกิจประกันที่เผชิญความท้าทาย จากกฎของคปภ.และธปท.ที่เข้มงวดด้านการขายมากขึ้น

ฝ่ายวิจัยคงแนะนำหุ้น BBL  เป็นหุ้นเด่นจากคาดกำไรสุทธิไตรมาส ปี 2561จะโตดีจากปีก่อน และจะโตต่อเนื่องสูงเป็นอันดับ 1 ของกลุ่มในปีหน้าที่เพิ่มขึ้น 12% จากงวดเดียวกันปีก่อน คุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้น และตั้งสำรองอย่างระมัดระวัง ทำให้ coverage ratio สูงสุดในธพ. ใหญ่ และได้รับผลกระทบที่จำกัดที่สุดในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่จากมาตรการสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ฉบับใหม่

สอดคล้องกับ บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) ระบุว่า คงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคารมากกว่าตลาดสำหรับภาพรวมปี 2562 เพราะชอบกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ พร้อมกับเลือก SCB และ BBL เป็นหุ้นเด่น เพราะสินเชื่อได้อานิสงส์จากการลงทุนขนาดใหญ่  อัตราดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้น เป็นบวกต่อ NIM และคาด Cost to income ratio กำลังผ่านพ้นจุดสูงสุดในไตรมาส 4ปี 2561 หลัง SCB เสร็จสิ้นแผนลงทุนไอทีภายใต้โครงการ SCB Transformation และหุ้นกลุ่มธนาคาร ซื้อขายราคาเทียบมูลค่าที่แท้จริง( PBV) ที่ 1.1 เท่า สะท้อนความกังวลต่อรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลง และ มาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยไปมากแล้ว

สำหรับ บล.เอเซียพลัส เชื่อว่า หุ้นที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งฝ่ายวิจัยแนะนำ BBL โดยดอกเบี้ยที่ขึ้นทุกๆ 0.25% จะทำให้กำไรสุทธิปี 2562 เพิ่มขึ้น 3.01% ขณะที่คาดกำไรสุทธิปี 2561 – 2562 เติบโต 9.4% จากงวดเดียวกันปีก่อน และ 5.2% จากปีก่อน แรงหนุนมาจากการเติบโตของธุรกิจหลักจากสินเชื่อรายใหญ่และ SME ที่จะได้รับผลบวกจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐและเอกชนที่ทยอยเกิดขึ้น และ KBANK โดยดอกเบี้ยที่ขึ้นทุกๆ 0.25% จะทำให้กำไรสุทธิปี 2562 เพิ่มขึ้น 1.58% คาดกำไรสุทธิปี 2561- 2562 เติบโต 12.2%จากงวดเดียวกันปีก่อน และ 4.9%จากงวดเดียวกันปีก่อน ขณะที่ราคาหุ้นปรับลดลงจนมากกว่าธนาคารใหญ่อื่นๆทำให้มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นเปิดกว้างถึง 34%

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight