Economics

ลั่นสู้คดี! กทพ.เบรกขยายสัมปทาน BEM 37 ปี 

กทพ. รับข้อเสนอสหภาพฯ เบรกขยายสัมปทาน 37 ปีแลกหนี้ทางด่วน พนักงานลั่น! พร้อมรับความเสี่ยง สู้คดีที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้อง  “ผู้บริหาร-พนักงาน”ปิดห้องถกแนวทางแก้ปัญหาต่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ (25 ธ.ค.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้จัดงานสัมมนา “แนวทางการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทผู้รับสัมปทานของ กทพ.” เพื่อเป็นเวทีให้ผู้บริหาร, สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กทพ. และพนักงาน พูดคุยถึงแนวทางการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วน 2 เส้นทางให้กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นเวลา 37 ปี เพื่อล้างหนี้ที่เกิดจากข้อพิพาทมูลค่า 1.37 แสนล้านบาทให้เป็น 0 บาท

กทพ.

บรรยากาศภายในงานสัมมนาเป็นไปอย่างคึกคัก ผู้บริหารที่เข้าร่วมหารือประกอบด้วย นายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการ , นายปกรณ์ อาภาพันธ์ บอร์ด, นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการการทางพิเศษฯ และนายสุทธิศักดิ์ วรรธนวินิจ รองผู้ว่าการฝ่ายกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน การทางพิเศษฯ ขณะเดียวกันสมาชิกสหภาพฯ และพนักงานได้เข้าร่วมหารือมากกว่า 300 คน จนล้นห้องประชุมชั้น 3 อาคาร 2 ของสำนักงานใหญ่การทางพิเศษฯ

สมาชิกสหภาพฯ และพนักงานได้แสดงท่าทีคัดค้านแนวทางการขยายสัมปทานทางด่วน 37 ปีอย่างชัดเจน พร้อมตั้งคำถามว่าถึงผลกระทบด้านต่างๆ เช่น การเงิน ความเสี่ยงทางการเงิน เป็นต้น ขณะเดียวกันพนักงานส่วนใหญ่ประสงค์จะจ่ายค่าชดเชยคดีที่ศาลพิพากษาสิ้นสุด 1 คดี วงเงิน 4,200 ล้านบาท ด้านคดีที่เหลือให้ดำเนินการสู้คดีตามขั้นตอน เพราะอาจจะไม่ได้แพ้ทุกคดี และก็พร้อมรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

ชาญชัย โพธิ์ทองคำ
ชาญชัย โพธิ์ทองคำ

นายชาญชัย โพธิ์ทองคำ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) กล่าวว่า พนักงานการทางพิเศษฯ พร้อมสู้คดีอย่างสุดตัวและร่วมรับผิดชอบของผลที่เกิดขึ้น จึงขอให้บอร์ดและผู้บริหารพิจารณาแนวทางนี้และแสดงเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาด้วย

ดังนี้ จึงขอให้ กทพ. เลื่อนการนำเสนอแนวทางการขยายสัมปทานแลกหนี้ เข้าสู่คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางด่วนศรีรัช) ในวันพรุ่งนี้ (26 ธ.ค.) ออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อน ต้องใช้เวลาระยะเวลาพิจารณานานกว่านี้

นอกจากนี้ สหภาพฯ ยังพบว่าการขยายสัมปทานทางด่วน 37 ปี เพื่อแลกกับมูลค่าหนี้สูงสุด 1.37 แสนล้านบาท คิดเพียงการจ่ายหนี้ด้านเดียว แต่ถ้าหาก กทพ. นำทางด่วนดังกล่าวมาบริหารเองก็จะสร้างรายได้เกือบ 3 แสนล้านบาท ซึ่งก็เพียงพอจะจ่ายหนี้ได้ด้วย

กทพ.

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ผู้บริหารรับข้อเสนอของสหภาพฯ และพนักงาน โดยผู้บริหารจะเชิญตัวแทนพนักงานและบริษัทที่ปรึกษาหารือถึงประเด็นต่างๆ ที่พนักงานมีข้อสงสัยและเสนอแนะ คือ ด้านบัญชี ความเสี่ยงขององค์กร และการนำทางด่วนขั้นที่ 2 ซึ่งกำลังจะหมดสัญญากับ BEM ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 มาบริหารเอง

ขณะเดียวก็จะนำความเห็นของพนักงานที่ไม่เห็นด้วยกับการขยายสัมปทานทางด่วนเพื่อแลกกับข้อพิพาทกับ BEM เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาด้วย แต่พนักงานและสหภาพฯ ก็ต้องเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาอื่นๆ ให้ชัดเจน เช่น จะสู้คดีอย่างไร แหล่งเงินทุนมาจากไหน เป็นต้น

สุรงค์ บูลกุล
สุรงค์ บูลกุล

นายสุรงค์ กล่าวถึงมติบอร์ด กทพ. ที่ให้ดำเนินการเจรจากับ BEM เพื่อขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนแลกกับการปลดหนี้จากข้อพิพาทเป็น 0 บาทว่า มติบอร์ด กทพ. ดังกล่าวยึดข้อหลักการว่า กทพ. ต้องไม่เสียเงินพนักงานต้องไม่ได้รับผลกระทบ และรัฐบาลได้รับสัดส่วนรายได้ 60% เท่าเดิม แต่ถ้าหากพนักงานมีความเห็นเป็นอย่างอื่น ก็ “ยินดี” รับฟังและหารือร่วมกัน แต่ยืนยันว่ามติ กทพ. ยังไม่ได้เป็นที่สิ้นสุด เพราะต้องเสนอเรื่องตามขั้นตอนและสุดท้าย ครม. จะเป็นผู้ตัดสิน

ทางด้านนายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงกระแสข่าวว่ารัฐบาลและนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม “ไม่เห็นด้วย” กับมติบอร์ดเรื่องการขยายสัมปทานทางด่วน 37 ปี เพื่อแลกกับหนี้สิน 1.37 แสนล้านบาทว่า ส่วนตัวไม่ทราบเรื่องดังกล่าวและยังไม่มีผู้ใหญ่เรียกไปหารือ โดย กทพ. ได้นัดหารือและรับฟังความคิดเห็นกับพนักงานในวันนี้เท่านั้น

Avatar photo