The Bangkok Insight

บีโอไอหนุน ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ ไฟเขียวตั้งสถานีชาร์จทั่วไทย-แบตเตอรี่

“บีโอไอ” หนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ไฟเขียวเอกชนไทยลงทุนกว่า 1,000 ล้าน ตั้งสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้า สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า 3,000 หัวจ่าย กระจายในทุกภาคทั่วประเทศ พร้อมอนุมัติโครงการผลิตแบตเตอรี่ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าหนุนการเติบโต หลังค่ายรถยนต์ชั้นนำของโลก หันลงทุนในไทยป้อนตลาดรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลกว่า 1.2 ล้านคันภายในปี 2564

โชคดี แก้วแสง
นายโชคดี แก้วแสง

นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการส่งเสริมการลงทุน ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุน โครงการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ของบริษัท พลังงานมหานคร จำกัด เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,092 ล้านบาท นับเป็นโครงการลงทุนแห่งแรก ในกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าของภาคเอกชน ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ

โครงการดังกล่าว เป็นการลงทุนเพื่อรองรับการขยายตัวของ รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก หรือปลั๊กอินไฮบริด (Plug-In Hybrid Electric Vehicle: PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) ซึ่งปัจจุบัน ค่ายรถยนต์ชั้นนำของโลก ได้ให้ความสนใจและวางแผน จะตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยตามแผนของการขับเคลื่อนด้านพลังงาน และส่งเสริมการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล คาดว่าจะมีรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านคันภายในปี 2564

nissan leaf nismo 1
นิสสันลีฟ รถยนต์ไฟฟ้าจากค่ายนิสสัน

รองเลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ปัจจุบันมีหน่วยงานต่างๆ เช่น ขสมก. กฟน. กฟผ. และปตท. จัดให้มีสถานีอัดประจุไฟฟ้าบ้างแล้ว แต่เป็นเพียงโครงการนำร่อง สำหรับรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า หรือรถไฟฟ้าในหน่วยงาน ดังนั้น การลงทุนของบริษัทครั้งนี้ ซึ่งมีแผนกระจาย การจัดตั้งสาขาสถานีบริการทั่วประเทศ

จำนวนมากกว่า 3,000 หัวจ่าย ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น ระยอง ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ภูเก็ต สงขลา และสุราษฎร์ธานี นอกจากจะเป็นการบริการและอำนวยความสะดวก สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้รถ ยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ ให้บริษัทรถยนต์ลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯยังได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุน บริษัท ดีทีเอส แดร็คเซิลไมเออร์ ออโทโมทีฟ ซีสเท็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในกิจการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เงินลงทุนกว่า 542 ล้านบาท โดยโครงการนี้ เป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ที่เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จากการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

battery pack assembly for 2015 chevrolet spark ev electric car at gms brownstown michigan plant 100466967 m
ตัวอย่างโรงงานแบตเตอร์รี่รถยนต์ไฟฟ้าในยุโรป

โดยเฉพาะแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญของระบบขับเคลื่อน ต้องใช้เทคโนโลยีทันสมัย และมีกระบวนการผลิต เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยนอกจากการลงทุนในกิจการครั้งนี้แล้ว บริษัทยังวางแผนจัดฝึกอบรม และส่งพนักงานคนไทยไปต่างประเทศ เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยี ในการผลิตและการตรวจสอบคุณภาพการผลิตแบตเตอรี่ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และการประกอบผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่อีกด้วย

ทั้งนี้ บีโอไอ ประกาศให้การส่งเสริมการลงทุน ในกิจการรถยนต์ไฟฟ้า ครอบคลุมทั้ง 3 ประเภท ได้แก่

  • รถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle: HEV)
  • รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก หรือปลั๊กอินไฮบริด (Plug-In Hybrid Electric Vehicle: PHEV)
  • รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV)

รวมถึงกิจการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า และกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย และสอดคล้องกับการเปลี่ยนเทคโนโลยียานยนต์ของโลก

ปัจจุบันมีค่ายรถยนต์ ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ แล้วหลายโครงการ อาทิ โครงการผลิตรถยนต์ไฮบริดของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท นิสสันมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ส่วนกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก หรือ ปลั๊กอินไฮบริด ได้แก่ เมอร์เซเดสเบนซ์ บีเอ็มดับเบิลยู เป็นต้น

Avatar photo