Opinions

นโยบาย ‘เศรษฐกิจใหม่’ ในสนามเลือกตั้ง 62

Avatar photo
1314

เข้าสู่โหมดเลือกตั้ง “นโยบาย” ในการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ก็จะเป็นประเด็นที่ถูกจับตา โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ พรรคใดจะนำเสนอแนวนโยบายที่เหมาะกับสถานการณ์ และทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก

Part WAS Was7640753 1 1 0

ข้อมูลจาก IMF เมื่อตุลาคม 2561 มีรายงานระบุว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวลดลง จาก 3.9% เมื่อ 3 เดือนที่แล้วมาเป็น 3.7% ในปีนี้ และปีหน้า

ในช่วงเวลาเดียวกัน The Economists ฉบับที่ 13-19 ตุลาคม 2561 ก็ขึ้นปกว่า “The Next Recession : how bad it will be” ในตอนท้ายของบทความเรื่องนี้ มีข้อแนะนำว่า ให้โลกเตรียมพร้อมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ที่อาจเกิดขึ้นในปีหน้า

ส่วนประเทศไทย IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในปี 2562 เพียง 3.9% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศในอาเซียน 5 ประเทศ (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย) ซึ่งอยู่ในระดับ 5.0% ในปี 2561 และ 5.1% ในปี 2562

จะว่าไปแล้ว เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำมายาวนาน แต่โชคดีที่พื้นฐานและเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังดีอยู่ แต่หากเศรษฐกิจของไทยขยายตัวในระดับนี้ต่อไป อาจส่งผลต่อเสถียรภาพ และโอกาสจะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางไปสู่รายได้สูงจะมีน้อยลง ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีความผันผวน ความไม่แน่นอนสูง ยิ่งทำให้ไทยต้องเร่งสร้างความมั่นคง ยั่งยืน แก่เศรษฐกิจของประเทศโดยเร็ว

ในอดีตที่ผ่านมา ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจในระดับแนวหน้าของภูมิภาค โดยที่เรามีโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพิง การส่งออกสินค้า การลงทุนจากต่างประเทศ การท่องเที่ยว เป็นรายได้หลัก แต่ตลอดระยะเวลา ที่ผ่านมากว่า 6 ทศวรรษ ไทยก็ยังคงอยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดิมๆ อาจจะมีบางช่วงเวลาในระยะหลังที่ฝ่ายการเมืองเสนอนโยบายส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) หรือนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล หรือในปัจจุบันนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวตกรรมก็ตาม

จะเห็นได้ว่า นโยบายที่กล่าวมานี้ ล้วนมีความคืบหน้าไปอย่างช้าๆ มาโดยลำดับ และผลของนโยบายเหล่านี้ยังไม่สามารถ ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามเป้าหมาย และลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนลงได้ เป็นเศรษฐกิจที่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก จนเกิดกระแสของคำว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” โมเดลเศรษฐกิจเก่า ที่ใช้กันมายาวนาน เริ่มหมดความขลังลงแล้ว

ดังนั้น โอกาสที่ไทยกำลังก้าวกลับไปสู่เส้นทางประชาธิปไตย โดยคาดว่าจะมีการเลือกตั้งใน เดือนกุมภาพันธ์ 2562 จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมอีกครั้งที่พรรคการเมืองจะนำเสนอแนวนโยบายเศรษฐกิจ ที่มีความเหมาะสมทันสมัย และทันกับความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของเทคโนโลยี

Digitalisierung Digitalisierung geralt pixabay 1 1024x585

ผมมองว่า นโยบายเศรษฐกิจ จึงต้องเป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Model) ที่สามารถเข้ามาแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และต้องเป็นเศรษฐกิจที่สร้างความเป็นธรรม สร้างโอกาสอย่างทั่วถึงมากขึ้น ลดการผูกขาด มีระบบสวัสดิการสังคมที่เหมาะสม

แน่นอนว่า การจัดทำนโยบายเศรษฐกิจของประเทศให้ได้ผลดี ผู้จัดทำต้องมีความเข้าใจ เกี่ยวกับกลไกการทำงานของระบบเศรษฐกิจ และมีความสามารถเพียงพอที่จะคาดการณ์ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภายในระบบเศรษฐกิจ และของคู่ค้าไทยได้

นอกจากนั้น การจัดทำนโยบายยังต้องอยู่ในกรอบของข้อกฎหมายที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 พ.ร.บ.จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 ประกอบกับประกาศเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ( พ.ศ.2561-2580) รวมทั้ง พ.ร.บ.วินัยทางการเงินและการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 อีกด้วย

การจัดทำนโยบายของพรรคการเมืองครั้งนี้ อาจทำให้ผู้ร่างนโยบายขาดความเป็นอิสระไปบ้าง รวมทั้งกระบวนการจัดทำมีความยากเย็นขึ้น ในขณะที่สังคมและประชาชนเริ่มมีอำนาจ และมีช่องทางผ่านสื่อในการเรียกร้องแนวนโยบายเศรษฐกิจ ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างทั่วถึงมากขึ้น

ดังนั้น การพัฒนาของระบบเศรษฐกิจ โดยการเปลี่ยนแปลงลักษณะและโครงสร้างที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น จะต้องเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาจากนี้ไป การไม่เปลี่ยนแปลงเท่ากับย่ำอยู่ที่เดิม จึงไม่แปลกใจที่ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของไทย อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายแล้ว

ผมก็ได้แต่หวังว่า พรรคการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ จะสามารถนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจ และแผนปฏิบัติการ ที่สามารถนำพาประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่ ที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวสร้างประสิทธิภาพ สร้างรายได้และกระจายรายได้สู่ประชาชน และสุดท้ายหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางที่มีมานานกว่า 40 ปี ให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูงต่อไปได้

เราอาจจะไม่ต้องใช้นโยบายลดแลกแจกแถมกันบ่อยๆ ครับ