Lifestyle

งัดกฎแรงปราบ ‘นักดื่มแล้วขับ’ ลดอุบัติเหตุ

กระทรวงสาธารณสุข เตรียมคน 1.6 แสนคนทั่วประเทศปฏิบ้ติหน้าที่ฉุกเฉินช่วงเทศกาลปีใหม่ พร้อมหนุนมาตรการป้องปรามผู้ดื่มแล้วขับ ให้รพ.เจาะเลือดหาระดับแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ กรณีมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ลดการบาดเจ็บจากการจราจรช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562

ผู้บริหารกระทรวงสาธารณจับมือหน่วยงานเกี่ยวข้อง ร่วมกันประกาศต่อสาธารณะสนับสนุนมาตรการคุมเข้ม “เมาแล้วขับ” นำโดย ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข   โดยกล่าวว่า สาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุมาจากการดื่มแล้วขับขี่ โดยพบผู้บาดเจ็บจากการดื่มแล้วขับเพิ่มขึ้น 7 %

แถลงข่าวเที่ยวปีใหม่ ๑๘๑๒๒๔ 0010
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร

กระทรวงสาธารณสุขห่วงใยประชาชนที่จะเดินทางกลับบ้าน หรือเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 27 ธันวาคม 2561 – 2 มกราคม 2562 จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย รณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย มั่นใจ ไร้แอลกอฮอล์” สร้างความปลอดภัยให้ประชาชนกลับถึงบ้าน ตามนโยบายรัฐบาล ที่กำหนดให้การสร้างความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระชาติ ดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เข้มข้นในช่วงเทศกาลสำคัญ

โดยสนับสนุนมาตรการป้องปรามผู้ดื่มแล้วขับ ซึ่งกรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  จัดทำ “โครงการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดผู้ขับขี่” ในกรณีที่เหตุนั้นทำให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ตลอดปี 2562 เพื่อให้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่ขับรถในขณะเมาสุราทุกราย ที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง หรือโรงพยาบาลที่ร่วมโครงการทั่วประเทศ

แถลงข่าวเที่ยวปีใหม่ ๑๘๑๒๒๔ 0007

โครงการนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนการตรวจวิเคราะห์จากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคมกว่า 69 ล้านบาท และดำเนินงานตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 โดยเฉพาะการไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีและผู้ที่มีอาการเมาสุรา รวมถึงการไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกเวลาที่กฎหมายกำหนด  การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ เน้นในลมหายใจในกลุ่มผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์

นอกจากนี้ ให้โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมความพร้อมบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อลดการเสียชีวิตและความพิการ โดย

แจ้งเหตุเร็ว  ขยายคู่สายแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน 1669  เป็น 300 คู่สายทั่วประเทศ

รับเร็ว ใช้ชุดปฏิบัติการทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ เอกชน และโรงพยาบาลต่าง ๆ ถึงที่เกิดเหตุภายใน 10 นาที ไม่น้อยกว่า 80 % ของการออกเหตุทั้งหมด

ส่งเร็ว ส่งต่อถึงมือแพทย์ในห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินทุกโรงพยาบาล ทำการรักษาอย่างรวดเร็ว กรณีบาดเจ็บ/เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถรับบริการที่โรงพยาบาลใกล้ที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรก ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP)

ด้านนพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัด สนับสนุนการทำงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน รณรงค์ “ขับรถดีมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Emergency Operation Center : EOC) ที่กระทรวงสาธารณสุขและระดับจังหวัด เป็นศูนย์ประสานและสนับสนุนการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง

และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาล สนับสนุนการทำงานของชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้นของอปท. ฝึกทักษะการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยฉุกเฉิน เตรียมความพร้อมศูนย์รับแจ้งเหตุ

และสั่งการทีมปฏิบัติการฉุกเฉินของโรงพยาบาลและเครือข่าย ภาครัฐและเอกชน ทั้งชุดปฏิบัติการฉุกเฉินระดับสูง (Advanced Life Support : ALS ) ระดับกลาง (Intermediate Life Support Unit : ILS) ระดับต้น (Basic Life Support : BLS) และระดับเบื้องต้น (First Response Unit : FR)

จัดหน่วยกู้ชีพระดับพื้นฐาน (Basic Life Support : BLS) และหน่วยปฏิบัติการระดับสูง (Advanced Life Support : ALS) ประจำบนเส้นทางถนนสายหลักที่มีจุดตรวจและจุดบริการอยู่ห่างกันมาก เพื่อให้การดูแลรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็ว โดยมีชุดปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับ 8,583 หน่วย รถปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับ 20,741 คัน และผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับ 166,441 คน  

แถลงข่าวเที่ยวปีใหม่ ๑๘๑๒๒๔ 0009

นอกจากนี้ ให้โรงพยาบาลทุกแห่งร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดำเนินการเจาะเลือดตรวจระดับแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุ ตามการร้องขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในกรณีที่ไม่สามารถเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจได้ รวมทั้งเตรียมทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู อุปกรณ์ต่าง ๆ และระบบส่งต่อ พร้อมดูแลหากเกิดอุบัติเหตุรุนแรง ตลอด 24 ชั่วโมง  รวมทั้งการส่งต่อผู้ป่วยต้องได้มาตรฐานตามที่กำหนด เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับบุคลากร และผู้ป่วยขณะนำส่ง

จากการวิเคราะห์ข้อมูลการให้บริการในช่วง 7 วัน เทศกาลปีใหม่  2561 มีผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษา 27,158 ราย เฉลี่ยวันละ 3,880 ราย เพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติ 67%  ซึ่งช่วงปกติเฉลี่ยวันละ 2,320 ราย ทำให้ในช่วงเทศกาลเจ้าหน้าที่ต้องทำงานหนักขึ้น ทั้งที่การบาดเจ็บจากการจราจรเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้

และได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)  และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบสุขภาพอำเภอ (พชอ.)  ร่วมรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยกับหน่วยงานในพื้นที่ เช่น การตั้งด่านชุมชน และทำงานเชิงรุก ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ 2551 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการตรวจเตือน ประชาสัมพันธ์ช่วงก่อนเทศกาล สุ่มตรวจการกระทำผิดกฎหมาย ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตลอดช่วงเทศกาล โดยเฉพาะกรณีการขายสุราให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี การขายสุราในสถานที่และเวลาที่ห้ามขาย การเร่ขาย การโฆษณาหรือส่งเสริมการขาย

เนื่องจากพบว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา 17.91 %  ของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการดื่มสุราเป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เกือบทุกรายเป็นผู้ขับขี่จักรยานยนต์และไม่สวมหมวกนิรภัย

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด เฝ้าระวัง ตรวจเตือนและประชาสัมพันธ์ ตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ในช่วงก่อนเทศกาล และดำเนินการตรวจจับอย่างเข้มข้นในช่วงเทศกาล 7 วัน โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอเสี่ยงจำนวน 144 อำเภอ อยู่ใน 60 จังหวัด  และได้ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน เป็นค่าใช้จ่ายในการตรวจเลือดหาปริมาณแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ในกรณีที่อุบัติเหตุมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการดำเนินคดีกับผู้ที่ขับรถในขณะเมาสุราทุกราย ดำเนินการตลอดปี 2562  โดยส่งตรวจได้ที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลรัฐ และเอกชนที่ร่วมโครงการ รวมถึงโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานครเกือบทุกสังกัด เนื่องจากพบว่าสามารถป้องปรามผู้ดื่มแล้วขับได้ ซึ่งในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 เพียง 7 วัน พบผู้ขับขี่มีระดับแอลกอฮอล์เกินกฎหมายกำหนดมากกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สูงถึงเกือบ 60 %  แต่มาตรการนี้ส่งผลให้ผู้ขับขี่ที่บาดเจ็บ และดื่มสุราลดลงถึง  10 %

แถลงข่าวเที่ยวปีใหม่ ๑๘๑๒๒๔ 0006

ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 ที่ผ่านมา พบว่า จำนวนอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บลดลงจากปี 2560 โดยมีจำนวนอุบัติเหตุ 3,841 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรุนแรง 4,005 คน และมีผู้เสียชีวิต 423 ราย เป็นการเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุสูง 60 % สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด มาจากการเมาสุรา 43.66 % รองลงมาเป็นขับรถเร็ว 25.23 %  โดยเสียชีวิตบนถนนหลวงมากที่สุด 62 % ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 80% เป็นรถจักรยานยนต์ มักเกิดเหตุบนถนนสายรอง กลุ่มที่บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดมีอายุ 15-19 ปี รองลงมาคือ 20-24 ปี เวลาที่เกิดเหตุสูงสุด 16.00 – 21.00 น. วันที่เกิดเหตุสูงสุดคือ 31 ธันวาคม

ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้บริการตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดผู้ขับขี่ที่สถานพยาบาลส่งตรวจ ด้วยเครื่อง Gas Chromatography ให้ผลที่เที่ยงตรงและแม่นยำ ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO 15189 และ ISO/IEC 17025 ทราบผลภายใน 7-10 วันทำการ

นอกจากนี้ สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์  มีบริการสอบเทียบเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจ โดยใช้วัสดุอ้างอิงรับรองและสารมาตรฐาน ซึ่งได้รับการรับรองความสามารถตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025  หากพบว่าเครื่องมีค่าความผิดพลาดเกินเกณฑ์มาตรฐานกำหนดจะทำการปรับตั้งค่าใหม่ เพื่อให้เครื่องสามารถตรวจวัดค่าปริมาณแอลกอฮอล์ที่ถูกต้องแม่นยำ และใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดี ซึ่งเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจควรต้องผ่านการสอบเทียบ ตามรอบระยะเวลา 6 เดือน โดยที่จะมีสติกเกอร์ติดรับรองไว้ที่ตัวเครื่อง

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลเพิ่มสูงกว่าช่วงเวลาอื่น ทำให้เกิดความสูญเสียจำนวนมาก จากข้อมูลวิชาการพบว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชนกัน โดยรถใช้ความเร็วที่ 60 กม./ชม. ความรุนแรงเทียบเท่ากับการตกตึก 5 ชั้น ถ้าใช้ความเร็วที่ 80 กม./ชม. จะเทียบเท่ากับการตกตึก 8 ชั้น ถ้าใช้ความเร็วที่ 120 กม./ชม. ความรุนแรงเทียบเท่ากับการตกตึก 19 ชั้น

แสดงให้เห็นว่า การใช้ความเร็วมากขึ้นทำให้อัตราเสี่ยงเสียชีวิตสูงขึ้น พร้อมรณรงค์ให้มอบของขวัญสุขภาพดีไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระตุ้นย้ำเตือน “ให้เหล้า=แช่ง” ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน เทศกาลปีใหม่นี้ไม่มีของขวัญชิ้นใดที่ล้ำค่าไปกว่าคนในครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้ากัน

ทั้งนี้ กฎกระทรวงฉบับที่ 21 พ.ศ.2560 ออกตามความใน พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 กำหนดไว้ว่าหากพบว่าผลการตรวจวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจ หรือปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่มีค่าเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือกรณีผู้ขับขี่ที่มีอายุไม่ถึง 20 ปี ผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถ หรือผู้ขับขี่ซึ่งได้รับใบอนุญาตขับรถแบบชั่วคราว มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ให้ถือว่าเมาสุราเช่นกัน

Avatar photo