CSR

กระทุ้ง ‘ปตท.สผ.’ จัดรถไฟ CSR เชื่อม ‘ท่าเรือคลองเตย-บางซื่อ’ หลังชนะประมูลแหล่งก๊าซใหญ่

“ไพรินทร์” กระทุ้ง “ปตท.สผ.” จัดรถไฟ CSR เชื่อมท่าเรือคลองเตย-บางซื่อ หลังชนะประมูลแหล่งก๊าซใหญ่ในอ่าวไทย

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเหนือพื้นดินระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เพื่อปรับปรุงทางรถไฟสายแยกเข้าโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ในวันนี้ (24 ธ.ค.) ว่า

การท่าเรือฯ ได้อนุญาตให้การรถไฟฯ ปรับปรุงทางรถไฟสายแยกเข้าโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ซึ่งตั้งอยู่ภายในพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ (ท่าเรือคลองเตย) เพื่อส่งเสริมการขนส่งปิโตรเลียมทางราง

เบื้องต้นบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. จะเป็นลูกค้าขนส่งปิโตรเลียมทางรางในเส้นทางดังกล่าว ซึ่งจะช่วยต้นทุนและเพิ่มความปลอดภัยในการขนส่งมากขึ้น เพราะปัจจุบันขนส่งปิโตรเลียมด้วยรถเทรลเลอร์ 20 เที่ยวต่อวัน ก็จะลดเหลือรถไฟเพียง 2-3 ขบวนต่อวันเท่านั้น

5FF93839 D6F5 4078 8A66 A10BDF7D1CCF
ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

อย่างไรก็ตาม เมื่อซ่อมแซมเส้นทางเสร็จและเปิดใช้งานแล้ว ก็ไม่ต้องการให้ใช้ในการขนส่งสินค้าหรือปิโตรเลียมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้มีรถไฟท้องถิ่นขนส่งผู้โดยสารระหว่างท่าเรือคลองเตย ไปยังมักกะสันหรือบางซื่อด้วย โดยขอฝากให้ ปตท.สผ. พิจารณาเป็นโครงการตอบแทนสังคม (CSR) ด้วย เพราะ ปตท.สผ. ก็เพิ่งชนะการประมูลแหล่งก๊าซใหญ่ในอ่าวไทยมา

รถไฟ

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน ในฐานะรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การลงนามสัญญาครั้งนี้สืบเนื่องมาจาก ที่ผ่านมาทางรถไฟสายแยกเข้าโรงกลั่นน้ำมันบางจากซึ่งอยู่ภายในพื้นที่ท่าเรือคลองเตย มีสภาพชำรุดทรุดโทรมจนก่อให้เกิดอุบัติเหตุแก่การขนส่งทางรถไฟ จนต้องมีการประกาศงดใช้เส้นทางดังกล่าว

 ดังนั้นเพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งทางถนนมาสู่ภาคการขนส่งทางราง และทางน้ำ อันจะส่งผลต่อการประหยัดพลังงาน และลดต้นทุนการขนส่งสินค้าในประเทศตามนโยบายของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม การรถไฟฯ จึงได้ร่วมลงนามสัญญาดังกล่าว เพื่อเร่งเข้าไปปรับปรุงทางรถไฟให้สามารถกลับมาเปิดให้บริการเดินรถขนส่งสินค้าได้เป็นปกติอีกครั้ง

32DE65D3 0A31 44BD 9D19 05AF26CCA735
วรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ ภายในรายละเอียดสัญญา การท่าเรือฯ ได้ตกลงให้การรถไฟฯ มีสิทธิเหนือพื้นดิน ณ ท่าเรือกรุงเทพ จำนวนเนื้อที่ 5,912.29 ตารางวา บริเวณทางรถไฟสายแยกเข้าโรงกลั่นน้ำมันบางจากเพื่อใช้ประโยชน์ในการเดินรถ การปฏิบัติการเดินรถ และการขนส่งสินค้าทางรถไฟ 

โดยการรถไฟฯ จะเข้าไปทำการรื้อถอนทางรถไฟสายแยกเข้าโรงกลั่นน้ำมันบางจากที่มีอยู่เดิม และทำการก่อสร้างทางรถไฟใหม่ตามแนวเส้นทางเดิม รวมถึงทำการก่อสร้างระบบและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการเดินรถ การปฏิบัติการเดินรถ และการขนส่งสินค้าทางรถไฟ เป็นระยะทางทั้งสิ้น 6,410.80 เมตร 

นอกจากนี้ การรถไฟฯ ยังได้รับการยกเว้นเรียกเก็บค่าใช้ประโยชน์ที่ดินหรือค่าใช้จ่ายจากการท่าเรือฯ มีกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับถัดจากวันลงนามในสัญญาอีกด้วย และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว การท่าเรือฯ ยังตกลงให้การรถไฟฯ ใช้สิทธิเหนือพื้นดินต่อไปอีกคราวละ 5  ปี โดยการรถไฟฯ ต้องแสดงเจตนาขอใช้สิทธิเหนือพื้นดินเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบล่วงหน้าก่อนที่อายุสัญญาจะสิ้นสุดลงไม่น้อยกว่า 6 เดือน อย่างไรก็ดี การท่าเรือฯ ยังมีสิทธิเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสินค้าผ่านทางจากผู้ที่มาใช้บริการขนส่งทางรถไฟได้เป็นปกติ

EC254087 4D9D 4660 BF96 C56C7ED56B5E

“การรถไฟฯ คาดหวังว่าการเข้าไปปรับปรุงทางรถไฟสายแยกเข้าโรงกลั่นน้ำมันบางจากในครั้งนี้ จะสามารถช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ขนส่งให้กับประเทศ และลดปัญหาการจราจรแออัดบนท้องถนน รวมถึงเพิ่มปริมาณผู้ใช้บริการขนส่งสินค้า ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำมันดิบผ่านทางระบบขนส่งทางรางยิ่งขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์จากการขนส่งนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศให้มีความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ในระยะยาว” นายวรวุฒิ กล่าว

Avatar photo