COLUMNISTS

4 ปี คสช.กับวังวนปฏิรูปตำรวจ ‘ไม่หวังก็ไม่ผิดหวัง’

Avatar photo
678

หลายคนตั้งความหวังไว้ว่าอย่างน้อยจะมีการปฏิรูปหนึ่งเรื่องที่จะได้เห็นเป็นรูปเป็นร่างคือ การปฏิรูปตำรวจ เพราะมีทั้งรัฐธรรมนูญเขียนบังคับไว้ในมาตรา 258  และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคสช. ก็ทำท่าขึงขังออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตอาจารย์ของนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

ปฏิรูปตำรวจ

พล.อ.ประยุทธ์ การันตีว่าจะมีความเป็นอิสระ ไม่มีทางรับคำสั่งจากใคร พร้อมกับแสดงความเชื่อมั่นเกินร้อยว่า จะมีวิจารณญาณที่เหมาะสมในการกำหนดแนวทางปฏิรูปตำรวจว่าจะไปในทิศทางใด

แต่สุดท้ายก็เป็นได้แค่บัวแล้งน้ำ เพราะนายกรัฐมนตรี ที่เคยแสดงตนว่าศรัทธาอดีตอาจารย์ กลับหมดความเชื่อมั่นต่อผลงานของ พล.อ.บุญสร้าง แบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย

หันไปพึ่งบริการยาสามัญประจำบ้านของ คสช. แต่งตั้ง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ รื้อโครงสร้างปฏิรูปตำรวจชุดที่พล.อ.บุญสร้าง ใช้เวลาเกือบหนึ่งปี ก่อนที่จะสรุปรายงานส่งนายกฯ

ที่สำคัญคือการแต่งตั้งนายมีชัย เกิดขึ้น ในวันที่ 3 เมษายน 2561 หลังจากที่พล.อ.บุญสร้าง ส่งรายงานการปฏิรูปตำรวจให้นายกรัฐมนตรีในวันที่ 29 มีนาคม 2561 เพียงแค่ 5 วันเท่านั้น

ตลกร้ายไปกว่านั้นคือนายมีชัย ประกาศชัดว่าจะรื้อแผนปฏิรูปตำรวจที่คณะกรรมการชุดพล.อ.บุญสร้างทำไว้ โดยมีวลีเด็ดบ่งบอกถึงความบกพร่องของคณะกรรมการที่มีอดีตอาจารย์นายกรัฐมนตรี ที่พล.อ.ประยุทธ์ มั่นใจว่าไม่มีใครสั่งได้ เอาไว้ว่า

“แผนการปฏิรูปตำรวจของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ที่มีพล.อ.บุญสร้าง เป็นประธานที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นมานั้น ยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ เพราะยังไม่มีความเด็ดขาดในการปฏิรูป ยังมีความเกรงใจตำรวจอยู่จึงต้องปรับแก้ไขใหม่”

ถ้าเป็นจริงดังคำพูดของนายมีชัย ก็แสดงว่านายกฯ มองคนไม่ทะลุ ใช้คนผิดมาทำงานปฏิรูปตำรวจที่ต้องการความเด็ดขาด จนทำให้บ้านเมืองเสียเวลาไปอีกเกือบ 1 ปี โดยไม่มีใครคิดที่จะรับผิดชอบกับโอกาสของชาติที่เสียไป

จะว่าไปแล้วสภาพที่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ในการปฏิรูปตำรวจยุคคสช.ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดซ้ำซากจนคนอาจจะขี้เกียจจำ กระทั่งลืมไปแล้ว จึงขอไล่เรียงย้อนความจำให้เห็นภาพการปฏิรูปตำรวจสไตล์คสช.กันหน่อย

10 กรกฎาคม 2557 ออกประกาศคสช.ฉบับที่ 88/2557 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ มีเนื้อหาสำคัญอยู่ที่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการคัดเลือก ผบ.ตร. ให้ปลัดกระทรวงกลาโหมเข้ามาร่วมเป็น กตช. จนเกิดข้อวิจารณ์เอาทหารมาตั้งตำรวจ และกำหนดให้การแต่งตั้งผบ.ตร.ใหม่ ต้องมาจากการเลือกของผบ.ตร.คนปัจจุบัน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง

10 กรกฎาคม 2557 ออกประกาศ คสช.ฉบับที่ 89/2557 เรื่อง “หลักเกณฑ์การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ” มีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดลำดับอาวุโส โดยให้เหตุผลในเรื่องการแต่งตั้ง โยกย้ายตามระบบคุณธรรม

หลังจากนั้นมีการตั้ง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาการผบ.ตร.ในขณะนั้น ดูแลเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจ มีแนวคิดเปลี่ยนสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นกระทรวง แต่ถูกคัดค้านจากหลายฝ่ายจนต้องพับแผนนี้ไป และการปฏิรูปตำรวจที่เคยประกาศว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมภายในสี่เดือนก็เงียบฉี่ เลือนหายไปในกลีบเมฆ

21 พฤษภาคม 2558  พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศกลางที่ประชุม สนช.ระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 เกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจว่า

 “วันนี้ผมปฏิรูปไปได้แค่ 10 % อีก 90 % ให้เป็นหน้าที่รัฐบาลหน้า โดยเฉพาะการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจจะรื้อปรับอย่างไรบอกรัฐบาลหน้า…”

คำประกาศดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายออกมาวิจารณ์และโจมตีนายกฯที่แสดงเจตจำนงค์ว่าจะไม่เดินหน้าปฏิรูปตำรวจ

14 สิงหาคม2558  กตช.ตามโครงสร้างใหม่และหลักเกณฑ์แต่งตั้งโยกย้ายที่ คสช.กำหนด มีมติให้ พล.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผบ.ตร.อาวุโสลำดับที่ 5 เป็น ผบ.ตร.โดยไม่ได้ยึดหลักอาวุโสที่ คสช.เห็นว่าเป็นระบบการแต่งตั้งโยกย้ายที่มคุณธรรมแต่อย่างใด

ส่วนพล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผบ.ตร.อาวุโสลำดับที่ 1 ต้องชวดตำแหน่งไป แต่ได้ตำแหน่งอื่นเป็นการตอบแทน โดยครม.มีมติเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 ขยับชั้นจากซี 10 นั่งแท่นซี 11 ในฐานะปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ยถือเป็นนายตำรวจที่ข้ามห้วยไปโตในตำแหน่งสูงสุด ของหน่วยงานอื่นเป็นคนที่สองต่อจาก พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ที่ถูกย้ายไปนั่งเป็นเลขา สมช.เปิดทางให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธุ์ ดามาพงศ์ ขึ้นเป็น ผบ.ตร.ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์

นี่คือสไตล์การแต่งตั้งโยกย้ายแบบมีคุณธรรมตามแบบฉบับของ คสช.

ตลอดการบริหารภายใต้รัฐบาลคสช. มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการซื้อขายตำแหน่งนายตำรวจอย่างหนาหู แต่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่เพียงออกมาปฏิเสธเท่านั้น แต่ยังฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลจนเป็นคดีค้างอยู่มาจนถึงทุกวันนี้

แต่เรื่องที่ไร้มูลนายสายตาของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้ามาแก้ปัญหา

20 กุมภาพันธ์ 2560 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 7/2560 เรื่อง การปรับปรุงระบบการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ โดยให้เหตุผลว่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการซื้อขายตำแหน่ง

5 กรกฎาคม 2560 นายกฯตั้ง 36 กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) มีพล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตอาจารย์ของนายกฯเป็นประธาน

29 มีนาคม 2561 คกก.ชุดพล.อ.บุญสร้าง สรุปแผนการปฏิรูปตำรวจส่งนายกรัฐมนตรี

3 เมษายน 2561 ครม.ตั้ง คกก.พิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ 16 คน มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ส่วนพล.อ.บุญสร้าง ลดชั้นไปเป็นหนึ่งในกรรมการชุดนี้

นี่คือความเป็นไปเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจในยุค คสช. ที่ล่าสุดนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า การปฏิรูปตำรวจจะจบที่ชุดของนายมีชัย

ใครจะเชื่อตามนายวิษณุก็ไม่ว่ากัน แต่ส่วนตัวเชื่อว่า “ไม่หวังก็ไม่ผิดหวัง”

ไม่ว่าปฏิรูปตำรวจยุค คสช.จะมีบทสรุปอย่างไร ก็ไม่มีทางทำให้ผิดหวังได้อย่างแน่นอน เพราะไม่เคยตั้งความหวังไว้อยู่แล้ว