COLUMNISTS

สิ่งแรกที่ควรทำ เมื่อดอกเบี้ยขึ้น

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
226

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 8 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของปีนี้ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่ผ่านมา ไม่ได้เหนือความคาดหมาย ที่ประชุม กนง. ซึ่งมีหน้าที่กำหนดทิศทางนโยบายการเงิน  ลงมติ 5 ต่อ 2 ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (เครื่องมือชี้นำตลาดของแบงก์ชาติ) 0.25% หรือจาก1.50% เป็น 1.75% ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 7 ปีเศษ ของกนง.

 นายทัตนันท์  มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการแบงก์ชาติ ฐานะโฆษก กนง. แถลงสรุปความได้ว่า มติกรรมการเสียงข้างมาก เห็นควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งพอไม่จำเป็น ต้องใช้นโยบายการเงินผ่อนปรนมากเหมือนหลายปีที่ผ่านมา ที่ประชุมได้ยกตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ระหว่างปี 2551-2559 มีอัตราเฉลี่ย 3% ส่วนปี 2560-2562 คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 4% และมั่นใจว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.75% จะไม่กระทบเศรษฐกิจภาพรวมมากนัก

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ของแบงก์ชาติรอบนี้ ถือว่ามีอิสระและปลอด การแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองพอสมควร  มีเพียงตัวแทนสายตรงของรัฐบาลใน กนง. ที่ยกมือค้านวาระปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในที่ประชุม และเสียงบ่นจาก อภิศักดิ์ ตันติวรวงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ยังเชื่อมั่นว่านโยบายการเงินควรสอดคล้องกับนโยบายการคลังเท่านั้นคือทางออกเศรษฐกิจไทยเวลานี้

บรรยากาศแบงก์ชาติขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ เทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นระหว่าง แบงก์ชาติกับรัฐบาลในอดีตซึ่งบางครั้งนำไปสู่ความขัดแย้ง และลามเป็นแรงกดดันให้เปลี่ยนตัวผู้ว่าฯแบงก์โทษฐานไม่สนองฝ่ายการเมือง

ค่าเงินบาท

การแสดงจุดยืนว่า นโยบายการเงินถึงเวลาเปลี่ยน รวมถึงการอัพเกรด เกณฑ์ แอลทีวี หรือ สัดส่วนการปล่อยกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยของมูลค่าหลักประกัน เพื่อลดความร้อนแรงจาก ภาวะเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งล้วนเป็นนโยบายที่มีแรงเสียดทานจากผู้มีส่วนได้เสีย ช่วยเพิ่มความยอมรับในตัว ดร.วิรไท สันติประภพ  หลังรับตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติมาตั้งแต่ปลายปี 2558

หากประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อคือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลอย่างไรต่อดอกเบี้ยเงินกู้  จะเป็นไปตามที่ผู้ว่าแบงก์ชาติ ประกาศไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ว่า “อัตราดอกเบี้ยจะยังไม่ขึ้นทันที” โดยยกเหตุผลต่างๆ อาทิ แบงก์พาณิชย์ยังมีช่องว่างให้ขยับ และในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะขึ้นตามระยะเวลาการฝากเงิน 3 เดือน 6 เดือน รายจ่ายดอกเบี้ยของแบงก์พาณิชย์จะยังไม่ปรับตาม  เนื่องจากเงินฝากประจำระยะ 3- 6 เดือน แม้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแล้วก็ตาม

เบื้องต้นดูเหมือนว่า แบงก์พาณิชย์หลายแห่งคล้อยตามในคำชักชวนให้ปฏิบัติตามล่วงหน้าของผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ (อย่ารีบขึ้นดอกเบี้ย) พอสมควร โดย 2 วันก่อนการประชุม กนง. บัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแบงก์กสิกร พูดออกสื่อว่า แบงก์กสิกรจะยังไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทันที  โดยยกเหตุผล เรื่องสภาพคล่องที่ยังมีมากพอแบงก์ไม่ได้แข่งขันปล่อยกู้ และกังวลว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ จะกระทบกับผู้กู้รายย่อย 

เช่นเดียวกับนายแบงก์อีกหลายๆคนที่ยก เรื่อง สภาพคล่องล้นในระบบ จะเป็นปัจจัยควบคุมไม่ให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับขึ้นทันควัน  ส่วนแบงก์เฉพาะกิจ มงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสเอ็มอีแบงก์ ผู้บริหาร ประกาศชัดว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้อย่างน้อย 2 เดือน

แม้ท่าทีนายแบงก์หลายคนดูเหมือนจะหนุนความปรารถนาของ ผู้ว่าแบงก์ชาติ ที่ต้องการยืดเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้นานที่สุด  แต่ในขณะเดียวกันมีการคาดการณ์ว่า กนง. น่าจะปรับขึ้นอัตรานโยบายอีกครั้ง ในการประชุมครั้งแรกของปีหน้า หรือช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และจะปรับขึ้น ต่อเนื่องโดยมีเป้าหมายอยู่ 2 %

มุมมองดังกล่าว สวนทางกับที่ ดร.วิรไท เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ทำนองว่า  ความเข้าใจที่ว่าเมื่อปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรก จะมีการขึ้นต่อเนื่องเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แบงก์ชาติ และ กนง.ต้องประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจก่อนทุกครั้ง 

สิ่งที่ตามมาหากกนง. มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องอย่างที่คาดการณ์กัน คือ ช่วงเวลาที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของแบงก์ไม่ให้ขยับตามดอกเบี้ยนโยบายอาจจะสั้นมากๆ ชนิดผ่านไปอย่างไม่ทันได้สังเกตุเห็น อีกทั้งธรรมชาติของ นายแบงก์ คงไม่ปล่อยให้ดอกเบี้ยอยู่ว่างๆนานจนเสียโอกาสทางการค้า  ทั้ง 2ปัจจัย คงกดดันให้การปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยของแบงก์พาณิชย์จะปรากฎให้เห็นในไม่ช้า

สำหรับคน มีหนี้ ต้องเข้าใจว่า สถานการณ์วันนี้เปลี่ยนไปแล้ว ดอกเบี้ยขาขึ้นกำลังจะเข้ามาแทนที่ดอกเบี้ยขาลง วิธีรับมือสิ่งที่กำลังจะเกิดที่ดีที่สุดคือ ” อย่า ก่อ หนี้ เพิ่ม” สี่คำเท่านั้น