Economics

ทำไม 37 ปี!! ‘สหภาพ กทพ.’ค้านขยายสัมปทานทางด่วน BEM

สหภาพ กทพ. ค้านยกสัมปทานทางด่วน 2 เส้นให้ BEM แลกหนี้ยาว 37 ปี แถมแบ่งรายได้ทางด่วนขั้น 1 ให้เพิ่มด้วย ด้านประธานบอร์ด-ผู้ว่าการ นัดประชุมเคลียร์ใจพนักงานวันคริสมาสต์นี้

นายชาญชัย โพธิ์ทองคำ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (21 ธ.ค.) สหภาพแรงงานฯ ได้เข้าพบ นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการการทางพิเศษฯ เพื่อสอบถามแนวทางการเจรจาขยายสัมปทานทางพิเศษ (ทางด่วน) ให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เพื่อแลกกับการยกหนี้ที่เกิดจากข้อพิพาทระหว่างทั้ง 2 หน่วยงาน

เบื้องต้นผู้ว่าการการทางพิเศษฯ ได้ให้ข้อมูลว่า การทางพิเศษฯ ได้ยื่นข้อเสนอจะขยายสัญญาสัมปทานทางด่วน 2 เส้นทางให้กับ BEM เป็นเวลา 37 ปี พร้อมจะแบ่งรายได้บางส่วนให้กับ BEM เพิ่มเติม เพื่อล้างหนี้ที่เกิดจากข้อพิพาทมูลค่า 1.37 แสนล้านบาทให้เป็น 0 โดยข้อเสนอมีดังนี้

ทางด่วน BEM
ขอบคุณภาพจาก บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM
  • ขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนอุดรรัถยา ช่วงบางปะอิน–ปากเกร็ด ระยะทาง 32 กิโลเมตร
  • ขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนศรีรัช โครงข่ายนอกเมือง (ทางด่วนขั้นที่ 2) ช่วง C รัชดาภิเษก-แจ้งวัฒนะ และช่วง D พระราม 9-ศรีนครินทร์ ระยะทางรวม 16.6 กิโลเมตร
  • แบ่งรายได้บางส่วนของทางด่วนเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) สายดินแดง-ท่าเรือ, สายบางนา-ท่าเรือ และสายดาวคะนอง-ท่าเรือ ระยะทางรวม 27.1 กิโลเมตรให้กับ BEM

ด้านสหภาพฯ ไม่ขัดข้อง หากการทางพิเศษฯ จะขยายสัมปทานให้กับ BEM เพื่อล้างหนี้ที่เกิดจากข้อพิพาท แต่ขยายสัมปทานควรอยู่บนพื้นฐานหนี้ที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่คดีที่ยังไม่ได้ข้อยุติหรือคดีที่ยังไม่มีการฟ้องร้อง โดยปัจจุบันศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินให้การทางพิเศษฯ จ่ายค่าชดเชยแก่ BEM เพียงคดีเดียว คิดเป็นมูลค่าหนี้เพียง 4,200 ล้านบาท แต่คดีอื่นๆ ยังไม่มีการตัดสิน

สหภาพฯ จึงไม่เห็นด้วยกับการใช้ตัวเลขมูลค่าหนี้สูงถึง 1.37 แสนล้านบาท เพราะการทางพิเศษฯ ได้นำมูลคดีการแข่งขันที่ยังไม่ได้ตั้งเรื่องฟ้องคดีจาก BEM จำนวน 7 หมื่นล้านบาท มารวมอยู่ด้วย ซึ่งอาจจะทำให้รัฐเสียประโยชน์ จึงเรียกร้องให้ผู้บริหารการทางพิเศษฯ แสดงความชัดเจนเรื่องการนำมูลค่าหนี้ 1.37 แสนล้านบาทมาลงบัญชี

ทางด่วน

นอกจากนี้สหภาพฯ แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการแบ่งรายได้ของทางด่วนขั้นที่ 1 ให้กับ BEM  เพิ่มเติมและต้องการคำตอบว่า ถ้าหากขยายสัมปทานทางด่วนให้ BEM ออกไปอีก 37 ปี ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) ที่เกิดขึ้น จำนวน 700 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 2.6 หมื่นล้านบาท

“สหภาพฯ ขอให้ผู้บริหารทบทวนตัวเลขมูลค่าหนี้และระยะเวลาการขยายสัมปทานให้เหมาะสม ไม่สูงเกินไป มูลค่าหนี้ควรคิดเฉพาะตัวเลขจริง ที่ศาลตัดสินเท่านั้น โดยสหภาพฯ ขอสัญญาว่าจะรักษาผลประโยชน์ของการทางพิเศษและประเทศชาติอย่างถึงที่สุด” นายชาญชัยกล่าว

ทั้งนี้ นายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการ (บอร์ด) และนายสุชาติ ผู้ว่าการการทางพิเศษฯ ได้นัดหารือกับพนักงานและสหภาพฯ ในเวลา 14.00 น. วันที่ 25 ธันวาคม 2561 เพื่อชี้แจงแนวทางการขยายสัมปทาน BEM และข้อสงสัยอื่นๆ ของพนักงาน

Avatar photo