Finance

จัดหนักโค้งสุดท้าย!! คัดหุ้นน่าช้อปรอดัชนีฟื้นรอบใหม่

ท่ามกลางบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงสิ้นปีคงเป็นโค้งสุดท้ายที่ไม่น่าประทับใจของผู้ลงทุนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งในปี 2561 ถือเป็นปีที่ดัชนีหุ้นไทยให้ผลตอบแทนต่ำสุดรอบ 3 ปีที่ผ่านมา โดยปี 2561 ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงไป 9.72% ขณะที่ปี 2560 เพิ่มขึ้น 13.66% ปี 2559 เพิ่มขึ้น 19.97% ปี 2558 ลดลง 14%

การที่ดัชนีปรับตัวลดลงมาต่ำกว่าระดับ 1,600 จุดบ่อยครั้งหากนำมาเทียบกับปัจจัยพื้นฐานที่กำไรของบริษัทจดทะเบียนมีการเติบโตต่อเนื่อง ดังนั้นดัชนีในระดับปัจจุบัน ก็น่าจะเป็นจุดที่สามารถทยอยสะสมหุ้นขนาดใหญ่ที่ราคาปรับลดลงมาแรง และปัจจัยพื้นฐานดี เพื่อรอการฟื้นตัวของดัชนีรอบใหม่อีกครั้ง

จากการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ประเมินต้นปีหน้า ดัชนีน่าจะมีโอกาสฟื้นตัวได้และดัชนีน่าจะกลับมายืนเหนือระดับ 1,600 จุดได้อย่างมั่นคงอีกครั้ง ขณะที่หุ้นที่แนะนำให้ลงทุน ยังคงเป็นหุ้นอิงการเติบโตในประเทศ เช่น ธนาคาร, ค้าปลีก, นิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น

บล.เอเซียพลัส แนะนำว่า เมื่อดัชนีมีโอกาสปรับตัวขึ้น (rebond) ควรเลือกหุ้นปัจจัยพื้นฐานดีมีค่าความผันผวน (Beta) สูง ท่ามกลางปัจจัยกดดันจากภายนอก ทั้งสงครามการค้า และปัญหาการเมืองในยุโรป กดดันตลาดหุ้นโลกปรับฐานต่อเนื่องมานาน ส่งผลให้ดัชนีปรับฐานลง ตั้งแต่ต้นปี 2561 หรือจากยอดสูงสุด 1,841 จุด จนถึงปัจจุบันลดลง 14%


ดัชนีหุ้น 10 ปีย้อนหลัง 01

 

หากพิจารณาเฉพาะ 2 สัปดาห์หลังจากที่จีน-สหรัฐ ประกาศพักรบ การประกาศสงครามทางการค้า จากวันที่ 4 ธันวาคมจนถึงวานนี้พบว่า ดัชนีหุ้นไทยลดลงกว่า 5.3%  จนทำให้ดัชนีปิดหลุดต่ำกว่า 1,600 จุดเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 6 เดือน อย่างไรก็ตาม ระดับดัชนีปัจจุบัน พบว่า มีค่าพีอีเรโชล่วงหน้า (Expected P/E) ปี 2561 อยู่ที่ราว 14.7 เท่า และลดลงเหลือ 14.1 เท่า ในปี 2562 ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน

ประกอบกับเชื่อว่าแรงขายต่างชาติลดลง และพร้อมจะกลับมาซื้อหุ้นไทยและเอเชีย หลังจากจากที่ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐลดลงมาใกล้กับของไทย ดังกล่าวข้างต้น น่าจะหนุนให้เห็นแรงซื้อต่างชาติกลับเข้ามาตลาดหุ้นไทยชัดเจนในปี 2562 ฝ่ายวิจัย จึงทำการคัดกรองหุ้นด้วยวิธีเชิงปริมาณ โดยเลือกหุ้นที่ปรับลดลงแรง แต่มีปัจจัยพื้นฐานดี, เป็นหุ้นที่ฝ่ายวิจัยแนะนำ ซื้อ, มีโอกาสปรับตัวขึ้นสูง, ผลประกอบการมีแนวโน้มเติบโต และมีค่า Beta ที่สูงกว่า 1 เพื่อคาดหวังการฟื้นตัว  ที่แรงกว่าตลาดฯ  เน้นหุ้น Domestic เช่น KBANK, AMATA, WHA, ROBINS, BJC, CPALL, TASCO, CK, THANI

สอดรับกับ บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส(ประเทศไทย) ระบุว่า การลงทุนตอนนี้ให้เน้นไปยังหุ้นขนาดใหญ่ (Big Cap) ที่กองทุนในและต่างประเทศให้ความสนใจ หาจังหวะลงทุนได้แก่ ADVANC, AEONTS, BBL, KKP, TISCO, BEM, CPALL, PTTEP, TOP และหุ้นที่ราคาอ่อนลงมากแต่กำไรยังเติบโตดีในปี 62 คือ GOLD, SVI ดัชนีเป้าหมายปี 2562 เป็น 1,780 จุด ใช้ประมาณการกำไรสุทธิต่อหุ้น(EPS) เติบโตปี 2561 เป็น 8% และปี 2562 ที่ 6%

ขณะที่ บล.ยูโอบีเคย์เฮียน (ประเทศไทย) คาดการณ์แนวโน้มดัชนีหุ้นอยู่ ณ จุดวัดใจ 1,570-1,580 จุด ซึ่งมีโมเมนตัมในการฟื้นหรือหลุดจาดระดับดังกล่าวในระดับ 30 จุด จากความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ภาพรวมกลยุทธ์ ยังเน้นการลงทุนในกลุ่มหุ้นปลอดภัย โดยเฉพาะไฟฟ้า ค้าปลีก ธนาคาร โดยหุ้นที่ฝ่ายวิจัยชอบได้แก่ GPSC, EGCO, GULF, CPALL, BBL, KTB, SCB

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ประเมิน กลยุทธ์ยังคงเป็นชะลอเพื่อดูทิศทางตลาด ถือเงินสดให้มากขึ้น หากจะเข้าลงทุนควรเน้นหุ้นที่มีปัจจัยบวกสนับสนุน มีค่าพีอีเรโชไม่สูง (เทียบอดีต-หุ้นตัวอื่นในกลุ่มเดียวกัน) และปรับกรอบเวลาลงทุนเป็นเล่นสั้นๆ หุ้นเด่นของ KTBST ประกอบด้วย BDMS, BJC, GULF, GLOW,TISCO

บล.เออีซี ระบุว่า ด้วยสภาวะตลาดที่มีแรงกดดันจากทั้งในและต่างประเทศ แนะนำทยอยสะสมหุ้น Domestic Play 3 กลุ่มหลักที่ยังมีปัจจัยหนุนเฉพาะกลุ่ม ดังนี้

set30

กลุ่มสื่อ ซึ่งมีฐานต่ำในปีก่อน จากได้รับผลกระทบจากการขึ้นป้ายไว้อาลัยบวกกับคาดเม็ดเงินโฆษณามีทิศทางสดใสขึ้นรับผลบวกในช่วงเม็ดเงินโฆษณาภาคเอกชนยังโตต่อเนื่อง แนะนำ PLANB (แผนขยายMedia Capacity 15-20%จากงวดเดียวกันปีก่อน และสร้างจุดเด่นด้วย Engagement Marketing), VGI (รับรู้รายได้ป้ายโฆษณาบนสถานี BTS ที่เพิ่มขึ้นตามการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายใหม่บวกกับแรงหนุนจากSynergy ในกลุ่มธุรกิจที่ชัดเจนขึ้น พร้อมแผน M&A อีก 2-3 บริษัทในปีหน้าเพื่อก้าวสู่การเป็น Marketing Solution), MACO (แผนปรับปรุงจอโฆษณาจาก Static เป็น Digital ในเชิงรุกมากขึ้น

กลุ่มค้าปลีก มองช่วงไตรมาส 4/2561 กำลังซื้อจะดีกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้าที่อยู่ในช่วงไว้อาลัยนอกจากนี้ปีหน้ายังมีอานิสงส์บวกจากมาตรการคืน VAT 5% ให้ประชาชนทุกคนที่ใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตผูกบัญชีพร้อมเพย์ ตั้งแต่ 1-15 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อกระตุ้นนโยบาย E-Payment เลือก ROBINS (คาดโตจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นเพราะเปิดสาขาใหม่ และกลยุทธ์ปรับ Product Mixed มาเน้นขายสินค้าในกลุ่ม Private Brand มากขึ้น)

CPN (คาดโตจากการเปิดศูนย์การค้าใหม่ และการปรับปรุงศูนย์การค้าที่เปิดดำเนินการอยู่แล้ว ควบคู่กับการบริหารต้นทุนการดำเนินงาน โดยปัจจุบัน CPN บริหารจัดการศูนย์การค้า 33 แห่ง มีพื้นที่ให้เช่าสุทธิรวม 1.7 ล้าน ตร.ม. เพิ่มจาก 1.6 ล้าน ตร.ม. ณ สิ้นช่วง 3Q60) และ COL (มีแผนขายสิทธิแฟรนไชส์เพื่อเปิดสาขาได้ราว 3-4 สาขาสำหรับปีนี้ และปีหน้าตั้งเป้าขยายอีก 15-20 สาขาและแผนเพิ่มกลุ่มสินค้าใหม่ เจาะลูกค้ากลุ่มโรงแรม ร้านกาแฟ และร้านอาหาร ซึ่งแผนงานนี้จะทำให้บริษัทมีรายการสินค้าเพิ่มเข้ามาอีก 4,000 SKU)

กลุ่มนิคม มองได้อานิสงส์บวกจากการเลือกตั้งที่มีความคืบหน้าชัดเจนขึ้น คาดหนุนทั้งราคาขายและยอดขายพื้นที่ในเขต EEC โตเด่นแนะนำ AMATA (ปัจจุบันมีพื้นที่รอการขาย 2,777 ไร่ และพื้นที่รอการพัฒนาอีกราว8,172 ไร่), WHA (ปี 62 ตั้งเป้าขายที่ดินในนิคมไม่ต่ำกว่า1,000 ไร่พร้อมคาดได้รับลูกค้าคลังสินค้าเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1 แสน ตรม.)

จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ยังคงเน้นให้ลงทุนในหุ้นกลุ่มที่อ้างอิงเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความไม่แน่นอนของตลาดหุ้นไทยในช่วงต้นปีหน้ายังคงผูกติดกับปัจจัยต่างประเทศ ดังนั้นแนวโน้มดัชนีหุ้นไทยน่าจะยังผันผวนต่อไปอีก และผู้ลงทุนอย่างนิ่งนอนใจควรพิจารณาติดตามพอร์ตลงทุนของตัวเองอย่างใกล้ชิด

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight