Media

โฆษณาวิทยุปี 61 สัญญาณฟื้น เจาะผู้ฟัง 10 ล้านคน

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสื่อในยุคดิจิทัล “วิทยุ” ถือเป็นอีกสื่อที่ได้รับผลกระทบเม็ดเงินโฆษณาถดถอย จากการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสื่อและพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนี้

หากดูตัวเลขการใช้งบโฆษณาผ่านสื่อ ที่รายงานโดยนีลเส็น ปี 2560 โฆษณาวิทยุ อยู่ที่  4,476  ล้านบาท  ติดลบ 14.95%  มาในปี 2561 ตัวเลขล่าสุด 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) มูลค่าโฆษณาวิทยุอยู่ที่ 4,352 ล้านบาท เติบโต 6.96%  ถือเป็นการฟื้นตัวในรอบ 2 ปี โดยสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) คาดการณ์ปี 2561 มีมูลค่า 4,600 ล้านบาท เติบโต 3%  ปี 2562 คาดการณ์มูลค่าอยู่ที่  4,600 ล้านบาท ทรงตัว

ภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ สายงานการวางแผนและกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มีเดีย อินไซต์ จำกัด ให้มุมมองว่า “วิทยุ” ยังเป็นสื่อโฆษณาที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคนกรุงเทพฯ ได้ดี  โดยเฉพาะการรับฟังในรถยนต์ ที่สภาพการจราจรติดขัด และการฟังในที่ทำงาน  ซึ่งสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อ

หลังจากโฆษณาวิทยุชะลอตัวช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปีนี้เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว และน่าจะกลับมาเติบโตได้ในปีนี้ต่อเนื่องปีหน้า

การรายงานข้อมูลการใช้งบโฆษณาวิทยุของ นีลเส็น เป็นสื่อวิทยุดั้งเดิมระบบเอฟ.เอ็ม. ขณะที่ผู้ประกอบการวิทยุเอฟ.เอ็ม. ได้ขยายสื่อสู่แพลตฟอร์มใหม่ ทั้งออนไลน์ และแอพพลิเคชั่นมือถือ ซึ่งการใช้งบโฆษณาวิทยุ บนดิจิทัลแพลตฟอร์มอื่นๆ จะอยู่ในงบโฆษณาออนไลน์  ดังนั้นผู้ประกอบการวิทยุที่มีหลายแพลตฟอร์มนอกจากวิทยุ เอฟ.เอ็ม. มีโอกาสหารายได้จากงบโฆษณาสื่อดิจิทัลอีกช่องทาง

งบโฆษณาสื่อวิทยุ ปี 2553-2562

สำหรับการใช้งบโฆษณาสื่อวิทยุ ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรายงานโดยนีลเส็น  พบว่าเม็ดเงินลดลงต่อเนื่อง โดยปี 2553 มูลค่า  6,114  ล้านบาท  ติดลบ 0.88%, ปี 2554 มูลค่า  5,928  ล้านบาท  ติดลบ 3.07%, ปี 2555 มูลค่า  6,349  ล้านบาท   เติบโต 7.28%, ปี 2556  มูลค่า  6,321  ล้านบาท  ติดลบ 0.58%

ปี 2557  มูลค่า 5,625  ล้านบาท  ติดลบ 11%, ปี 2558 มูลค่า  5,675  ล้านบาท เติบโต 1.16%, ปี 2559 มูลค่า  5,252  ล้านบาท  ติดลบ  7.28%, ปี 2560 มูลค่า 4,476  ล้านบาท  ติดลบ 14.95%

ทั้งนี้ MAAT คาดการณ์ ปี 2561  มูลค่าอยู่ที่ 4,600  ล้านบาท  เติบโต 3% และ ปี 2562  มูลค่า 4,600  ล้านบาท ทรงตัว

กสทช.รายงานผู้ฟังวิทยุ
สํานักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (วส.)

คนฟังวิทยุ 10.5 ล้านคน ผ่านเครื่องรับสูงสุด

ณัฐชญา ทวีวิทย์ชาครียะ นักวิชาการ สํานักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (วส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รายงานสภาพตลาดกิจการวิทยุล่าสุด เดือนพฤศจิกายน 2561 ผู้ฟังวิทยุคลื่นหลักระบบเอฟ.เอ็ม. 40 สถานี (87.5-107.0 MHz) จากทุกช่องทาง เช่น เครื่องรับฟังวิทยุ โทรศัพท์มือถือ แทบเล็ต และคอมพิวเตอร์ ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล  ในกลุ่มประชากรไทยอายุ 12 ปีขึ้นไป ฟังวิทยุประมาณ 10.5 ล้านคน  ลดลง  0.3% จากเดือนตุลาคม

ทั้งนี้ จากข้อมูลพฤติกรรมการรับฟังวิทยุ  พบว่าผู้คนส่วนใหญ่นิยมรับฟังวิทยุที่บ้าน  สัดส่วน 52.16%  ตามมาด้วยการรับฟังวิทยุในรถยนต์ 36.17%, ฟังในที่ทำงาน 11.07% และอื่นๆ 0.6%

นอกจากนี้ยังพบว่าประชาชนส่วนใหญ่นิยมฟังวิทยุผ่านเครื่องรับวิทยุ 73.12%  ตามด้วยโทรศัพท์มือถือ  25.83%  และคอมพิวเตอร์ 1.05%

ขณะที่เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อวิทยุคลื่นหลักระบบเอฟ.เอ็ม. ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 36 สถานี  คลื่นเอฟ.เอ็ม. 88.0-91.5, 93.0-103.5  และ 104.5-107.0 MHz  พบว่าเดือนพฤศจิกายน 2561 มีมูลค่าโฆษณารวม  437 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อน 1.84 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบการโฆษณาผ่านสถานีวิทยุของเดือนพฤศจิกายน  2561 กับปีก่อนหน้า มีมูลค่าลดลง 1.75 ล้านบาท

Avatar photo