Economics

กพช.เคาะทีโออาร์ประมูลเอราวัณ-บงกช แบ่งกำไรรัฐ50%

เอราวัณ

การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2561 (ครั้งที่ 15) ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้รับทราบการดำเนินการของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ในการเปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติที่กำลังจะสิ้นอายุสัมปทานในปี 2665-2566 (แหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช) โดยให้ออกประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมประมูล ในวันที่ 24 เมษายน 2561 ตามทีโออาร์การเปิดประมูลระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract : PSC)

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขหลักในการประมูล

  • ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตต้องผลิตก๊าซธรรมชาติปริมาณการผลิตขั้นต่ำ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปี ในแปลงสำรวจหมายเลข G1/61 และต้องผลิตก๊าซธรรมชาติในปริมาณการผลิตขั้นต่ำ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปี ในแปลงสำรวจหมายเลข G2/61
  • ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องเสนอราคาก๊าซธรรมชาติที่ไม่สูงไปกว่าราคาเฉลี่ยของราคาก๊าซธรรมชาติในปัจจุบันตามสูตรราคาที่กำหนดในเงื่อนไขการประมูล
  • ให้ผู้เข้าร่วมประมูลเสนอสัดส่วนการแบ่งกำไรให้แก่รัฐ ซึ่งจะต้องไม่ต่ำกว่า 50% และเสนอผลประโยชน์พิเศษต่าง ๆ เช่น โบนัสการลงนาม โบนัสการผลิต และผลประโยชน์พิเศษอื่นๆ
  • ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องเสนอสัดส่วนการจ้างพนักงานไทยไม่ต่ำกว่า 80% ในสิ้นปีที่ 1 และไม่ต่ำกว่า 90% ในสิ้นปีที่ 5 ของการดำเนินงาน

asd1 01 1

ทั้งนี้ แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและบงกช เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติหลักของประเทศ  ปัจจุบันทั้ง 2 แหล่งมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 2,110 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็น 75% ของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในอ่าวไทย

สำหรับกลุ่มแหล่งเอราวัณมีปริมาณการผลิต 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ตามสัญญาสัมปทาน เลขที่ 1/2515/5 และเลขที่ 2/2515/6 ซึ่งจะสิ้นอายุสัมปทาน วันที่ 23 เมษายน 2565

ขณะที่กลุ่มแหล่งบงกชมีปริมาณการผลิต 870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน อยู่ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ตามสัญญาสัมปทาน เลขที่ 5/2515/9 โดยจะสิ้นอายุสัมปทาน วันที่ 23 เมษายน 2565 และสัญญาสัมปทาน เลขที่ 3/2515/7 และจะสิ้นอายุสัมปทาน วันที่ 7 มีนาคม 2566

คาดไม่ต่ำกว่า 3 รายเข้าประมูล

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า มั่นใจจะมีผู้เข้าร่วมประมูลไม่ต่ำกว่า 3 รายได้แก่ เชฟรอน มูบาดาลา และปตท.สผ.

ในส่วนของ ปตท.สผ.จะเข้าร่วมประมูลทั้ง 2 แหล่ง โดยการคัดเลือกจะเป็นเป้าหมายเดิม สิ้นปี 2561 รับทราบผู้ชนะ และลงนามสัญญาเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ปตท.สผ.พร้อมเข้าร่วม

ขณะที่นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปตท.สผ. ยืนยันว่า ปตท.สผ.จะเข้าร่วมในการประมูลครั้งนี้อย่างแน่นอน โดย ปตท.สผ.มั่นใจว่าประสบการณ์และความชำนาญในการสำรวจ พัฒนาและผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแหล่งบงกชที่บริษัทเป็นผู้ดำเนินการมาถึง 20 ปี ทำให้มีความเข้าใจลักษณะทางธรณีวิทยาของแหล่งเป็นอย่างดี รวมถึงมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและลดต้นทุนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีต้นทุนที่แข่งขันได้ และหาก ปตท.สผ.ได้รับเลือกให้เป็นผู้ดำเนินการต่อ จะสามารถสร้างความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มีการหยุดชะงักในการผลิต รวมทั้งสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับภาครัฐได้มากกว่า

นายสมพร กล่าวว่า การประมูลในแหล่งบงกช บริษัทมีแผนจะเข้าประมูลร่วมกับผู้ร่วมทุนรายเดิม คือ บริษัท โททาล อีแอนด์ พี ไทยแลนด์ เนื่องจากเป็นพันธมิตรการลงทุนที่ดี สามารถใช้ความรู้และเทคโนโลยีที่มีร่วมกันในการพัฒนาแหล่งบงกชได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพิ่มสัดส่วนลงทุนเอราวัณ

สำหรับแหล่งเอราวัณ ปตท.สผ.มีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนจากเดิม โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ดำเนินการปัจจุบัน (เชฟรอน) และเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าร่วมประมูลในกรณีที่ไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้

ส่วนหลักเกณฑ์ใน TOR ที่ภาครัฐเตรียมจะออกประกาศเชิญชวนประมูลนั้น ปตท.สผ.ขอดูในรายละเอียดต่อไป โดยเชื่อมั่นว่าภาครัฐจะพิจารณาจากการสร้างผลประโยชน์ที่ดีที่สุดแก่ประเทศเป็นหลัก และเชื่อว่า ภาครัฐสามารถรักษาสมดุลโดยพิจารณาองค์ประกอบหลาย ๆ ด้าน เพื่อดึงดูดให้บริษัทน้ำมันเข้าร่วมการประมูล และสามารถคัดเลือกผู้ชนะการประมูลที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างความต่อเนื่องทางพลังงานให้แก่ประเทศ

แย้มทีโออาร์‘เอราวัณ-บงกช’ เข้ากพช.วันนี้

กพช.คาดแผน PDP ฉบับใหม่แล้วเสร็จ ส.ค.นี้

 

 

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK