CEO INSIGHT

ฟังแนวคิด ‘นพ.ศุภชัย ปาจริยานนท์’ GDP สร้างได้ ถ้ามีนวัตกรรมและสตาร์ทอัพ

ถือเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจทีเดียวสำหรับผู้ชายคนนี้ “หมอคิด – นายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์” ผู้ก่อตั้ง RISE สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร ที่ออกมาประกาศว่า เป้าหมายและภารกิจของ RISE นั้นคือการขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศไทย และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตให้ได้อีก 1% ด้วยการเสริม “นวัตกรรม” ให้กับองค์กรต่าง ๆ และหน่วยงานภาครัฐ

นายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์ ผู้ก่อตั้ง RISE 3
นายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์ ผู้ก่อตั้ง RISE

โดยประเด็นสำคัญของการเปลี่ยน คือการเน้นสร้างนวัตกรรม ไม่ว่าจะมาจากภายในองค์กร และการดึงนวัตกรรมจากภายนอกองค์กรเข้าไป ซึ่งทั้งหมดนี้มาจากการเปลี่ยนแปลงในโลกของปลา ที่ปัจจุบัน เชื่อว่าหลายคนคงได้ยินกันจนคุ้นหูไปแล้วกับสำนวนปลาเร็วกินปลาช้า ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็กอีกต่อไป และน่านน้ำต่อไปที่เหล่าปลาจะมาว่ายวนเวียน ทั้งเป็นฝ่ายกินและตกเป็นเหยื่อ ก็คือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีประเทศไทยตั้งอยู่ใจกลางนั่นเอง

ทำไมถึงเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้?

คำตอบของข้อนี้ในมุมของหมอคิดคือ จำนวนประชากรที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอยู่ไม่น้อยหน้าใครกว่า 600 ล้านคน แม้จะด้อยกว่าจีนที่มีจำนวนประชากร 1.4 พันล้านคนอยู่มาก แต่ตลาดจีนนั้นก็เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นตลาดปราบเซียน หลาย ๆ แบรนด์ที่เข้าไปแล้วถูกแบรนด์จีนตีจนย่อยยับ ต้องพับฐานกลับบ้านก็ปรากฏอยู่เนือง ๆ

01 1

ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ จีนไม่ใช่ตลาดราคาถูก หรือมีสินค้าราคาประหยัดให้เลือกจับจ่ายได้อีกต่อไป ทุกวันนี้ค่าครองชีพในจีนถีบตัวขึ้นในระดับที่เมืองใหญ่ ๆ ของโลกยังต้องจับตา และคนจีนจำนวนไม่น้อยก็หนีมาหาประเทศที่มีค่าครองชีพถูกกว่า เช่น ประเทศไทย เพื่ออยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือน่านน้ำของการเติบโต ถ้าหากองค์กร หรือหน่วยงานภาครัฐในไทยไม่เข้มแข็ง ก็ไม่ต่างอะไรจากปลาช้า ที่พร้อมจะตกเป็นเหยื่อปลาเร็วในที่สุดนั่นเอง

แนวทางสร้าง “ปลาเร็ว” ของ RISE

04 1

สำหรับแนวทางของ RISE ในการช่วยผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ ก้าวข้ามไปสู่การเป็นปลาเร็วให้ได้นั้น ประกอบด้วย 4 แกนหลัก ได้แก่

แกนที่ 1 – Accelerator ปัจจุบัน RISE ร่วมมือกับเหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่ จัดโครงการในส่วนของ Accelerator ขึ้นมามากมาย เช่น โครงการ Krungsri RISE, PTT D-NEXT, Startup Fast Track – Go Inter with DEPA เป็นต้น จุดสำคัญของ Accelerator คือทำให้ RISE มีสตาร์ทอัพในมือมากกว่า 1,000 ราย จาก 20 ประเทศทั่วโลก และในปีหน้า ทาง RISE มีแผนจะเปิด AI Accelerator ขึ้นอีกหนึ่งโครงการด้วย

แกนที่ 2 – Corporate Innovation Academy ในจุดนี้คือพื้นที่สำหรับ Mindset Transformation ให้กับคนในองค์กร โดยเฉพาะผู้บริหารระดับ C-Level ตัวอย่างโปรแกรมของเวิร์คชอป อาทิ เช่น Design Thinking ที่ได้หลักสูตรมาจาก D School, Stanford University เป็นต้น ซึ่งปีที่ผ่านมามีผู้บริหารระดับสูงเข้าอบรมในเวิร์คชอปของ RISE กว่า 1,000 คน และทุกไตรมาส RISE จะมี Immersive Trip ที่เชิญเหล่าผู้บริหารไปเยี่ยมชมบริษัทผู้นำด้านนวัตกรรมเช่น Apple, Facebook, Google, และ Silicon Valley Bank ที่ซิลิคอนวัลเลย์ สหรัฐอเมริกาด้วย

แกนที่ 3 – Joint Venture โดย RISE ทำหน้าที่เป็น Venture Builder ที่จะจับมือกับทางฝั่งองค์กรและฝั่งสตาร์พอัพ เพื่อสร้าง Venture ให้เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบัน RISE ได้ร่วมกับบริษัทเอกชนลงทุนสร้าง Joint Venture ไปแล้ว 2 แห่ง

แกนที่ 4 – สร้างคอมมูนิตี้ ปัจจุบัน RISE ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับทั้งหน่วยงานภาครัฐ และมหาวิทยาลัยทั่วโลก เช่น Saigon Innovation Hub, Enterprise Singapore, The Department for International Trade (DIT) ของสหราชอาณาจักร

ส่วนทำไมต้องมีถึง 4 แกนนั้น นายแพทย์ศุภชัยชี้ว่า

เพราะสตาร์ทอัพ SEA  นั้น “คนละแนว” กับซิลิคอนวัลเลย์

02 2

จากข้อมูลของสไลด์ด้านบนจะเห็นได้ว่า 60% ของการลงทุนในประเทศไทยมาจากนักลงทุนที่เป็นกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ และ 43% ของสตาร์ทอัพก็อยากให้องค์กรขนาดใหญ่เป็นนักลงทุนให้ตัวเอง

ในจุดนี้ แสดงให้เห็นถึงจริตของสตาร์ทอัพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่แตกต่างกับสตาร์ทอัพในซิลิคอนวัลเลย์ จึงทำให้รูปแบบการบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพของสองภูมิภาคนี้ต้อง “แตกต่างกัน” ตามไปด้วย

“สตาร์ทอัพในซิลิคอนวัลเลย์เกิดขึ้นมาเพื่อมุ่งจะ Disrupt คอร์เปอเรท เช่น การเกิดขึ้นของอูเบอร์ หรือ Airbnb แต่สตาร์ทอัพในเอเชียไม่ใช่ ภาพของสตาร์ทอัพในเอเชียคือการทำงานร่วมกันกับรัฐบาล และองค์กรเอกชน เห็นได้จากการลงทุนในสตาร์ทอัพของเอเชีย มาจากงบประมาณภาครัฐและองค์กรเอกชนขนาดใหญ่แทบทั้งสิ้น” ซึ่งนายแพทย์ศุภชัยมองว่า นี่คือภาพของการโตไปด้วยกันทั้งองค์กรยักษ์ใหญ่และสตาร์ทอัพ ไม่ใช่การเกิดมาเพื่อ Disrupt กันและกันแบบในซีกโลกตะวันตกนั่นเอง

03 3
ตัวอย่างการลงทุนของ CVC ในสตาร์ทอัพของภูมิภาค

นอกจากนั้น สตาร์ทอัพยังมีจุดอ่อนบางประการที่ทำให้พวกเขาไม่ได้ไปต่อ นั่นคือไม่มีลูกค้า ซึ่งหากมีคนจับคู่ดี ๆ พาสตาร์ทอัพเหล่านี้ไปหาองค์กรขนาดใหญ่ที่ไม่มีนวัตกรรมแต่มีลูกค้าได้ ก็ถือว่า Win-Win ทั้งสองฝ่ายนั่นเอง

แต่การจะสร้างประเทศไทย และองค์กรในประเทศให้ไปสู่จุดนั้นได้ ด้วยวิสัยทัศน์ของ RISE มองว่าต้องเกิดจากหลักสำคัญ 3 ข้อ ประกอบด้วย

  • ต้องไม่บล็อกการแข่งขัน หรือที่นายแพทย์ศุภชัยเรียกว่า Open Innovation ในจุดนี้ มาจากความเล็กของประเทศ ที่หากมองจากในไทย เราอาจมีบางธุรกิจที่ดูแสนจะยิ่งใหญ่ หรือมีเส้นสายของตระกูลดังจนได้เปรียบในการทำธุรกิจมากกว่าคนอื่นมายาวนาน แต่ความใหญ่นี้ เทียบไม่ได้เลยกับความใหญ่โตของอาลีบาบา หรือเจดีดอทคอม ยักษ์ใหญ่จากจีนที่พร้อมจะบุกเราทุกเมื่อ ดังนั้น ธุรกิจต้องเปิดกว้าง และให้โอกาสสตาร์ทอัพทำงานกับคู่แข่งของตนเองด้วย
  • ผู้บริหารระดับสูงต้องเปลี่ยน Mindset ก่อน
  • องค์กรต้องพร้อมยอมรับการเปลี่ยนแปลงระยะยาว เพราะหลังจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากผู้บริหารมองว่าการทรานสฟอร์มองค์กรคือการจ่ายเงินเข้าคอร์สสักคอร์สก็พอ แต่ไม่ได้นำมาปฏิบัติจริงจัง หรือไม่มีทีมงานฟูลไทม์รองรับ ก็แน่นอนว่า องค์กรอาจไม่สามารถก้าวพ้นการเป็นปลาช้าไปได้อย่างแน่นอน

Avatar photo