Economics

‘ทอท.’ ไฟเขียวเดินหน้า ‘เทอร์มินอล 2’ ชงทำใหญ่กว่าเดิม!!

บอร์ด ทอท. ไฟเขียวกลับมาดัน ‘เทอร์มินอล2’ ต่อ ด้านสายการบินเชียร์ขยายขนาดให้ถึง 40 ล้านคนต่อปี ส่วน ‘ดวงฤทธิ์’ ยืนยันจะคงค่าออกแบบ 329 ล้านบาทจนกว่า ทอท. จะได้ข้อสรุป

รายงานข่าวจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า วันนี้ (19 ธ.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. มีมติรับทราบความคืบหน้าแนวทางดำเนินงาน โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Terminal 2) บริเวณด้านทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A (Concourse A) ในสนามบินสุวรรณภูมิ ตามที่ฝ่ายบริหารเสนอ

แต่บอร์ดขอให้ฝ่ายบริหารไปหารือกับสภาที่ปรึกษาสนามบิน (Airport Consultants Council: ACC) ซึ่งประกอบด้วยสายการบินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการการบินก่อน เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของขนาดโครงการ จากนั้นให้ ทอท. นำข้อมูลดังกล่าวมาประกอบการพิจารณากำหนดแนวทางในการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ให้สอดคล้องกับความต้องการของสายการบินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

สุวรรณภูมิ

 

‘ไอซีเอโอ-สายการบิน’ ไฟเขียวเทอร์มินอล 2

มติบอร์ดดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากฝ่ายบริหาร ทอท. ได้รายงานความเห็นของผู้เกี่ยวข้องและองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ในฐานะผู้จัดทำผังแม่บท (Master Plan) สนามบินสุวรรณภูมิฉบับปี 2552 และปี 2554 ให้ที่ประชุมบอร์ดรับทราบ

สำหรับส่วนของไอซีเอโอนั้น ทอท. ได้ส่งหนังสือสอบถามความเห็นเรื่องการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 และการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณด้านทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A ไปเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561

จากนั้นไอซีเอโอได้ส่งหนังสือตอบกลับมาในวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า ไอซีเอโอไม่สามารถประสานหาคำตอบเรื่องการปรับลำดับและกำหนดระยะเวลาในการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิระยะต่าง ๆ ตามที่ระบุในแผนแม่บทฉบับเดือนมีนาคม 2554 ได้ในระยะเวลาที่จำกัด

แต่ไอซีเอโอได้ยืนยันว่า โครงการพัฒนาอาคารผู้โดยสารทางเลือก (Optional Terminal) ตามแผนแม่บทฉบับปี 2552 และโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารเทียบเครื่องบิน A ขนาดย่อม (Concourse A Anex) ตามแผนแม่บทปี 2554 สามารถพัฒนาได้บนที่ดินแปลงเดียวกัน หรือแปลว่าโครงการพัฒนาทั้ง 2 โครงการ เป็นอาคารเดียวกัน

นอกจากนี้ ทอท. ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บริษัท  การบินไทย จำกัด (มหาชน) สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association : IATA) คณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบิน (Airline Operators Committee : AOC) และ Board of Airline Representatives Business Association (BAR) ร่วมประชุมเรื่องการดำเนินการโครงการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิในวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา

โดยที่ประชุมมีมติรับทราบเรื่องการพัฒนาที่ดินแปลงด้านทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A เป็นอาคารผู้โดยสาร และมีความเห็นสอดคล้องกับ ทอท. ในการดำเนินการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 บริเวณด้านทิศเหนือว่า จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ดำเนินการได้รวดเร็วและส่งผลกระทบน้อยที่สุด

สนามบินสุวรรณภูมิ

 

ชงทีโออาร์ ‘ดิวตี้ฟรี’ เข้าบอร์ดเดือนหน้า

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า หลังจากบอร์ดมีมติรับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 แล้ว ทอท. ก็จะไปรับฟังความเห็นจากสภาที่ปรึกษาสนามบิน เพื่อสรุปแนวทางการพัฒนาอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ต่อไป

สำหรับการเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์และพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี (Duty Free) ในสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อทดแทนกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ที่กำลังจะหมดสัญญาในวันที่ 27 กันยายนนั้น นายนิตินัยยืนยันว่า จะยื่นร่างเงื่อนไขการประมูล (TOR) เข้าบอร์ด ทอท. ภายในเดือนมกราคม 2562 จากนั้นคาดว่าจะได้ตัวผู้ชนะการประมูลในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2562

คิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิ
ร้านคิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิ

เบื้องต้นทีโออาร์ได้ตัดพื้นที่อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ออกจากการประมูลแล้ว ส่งผลให้พื้นที่ประมูลเหลือแต่บริเวณอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 1 ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน และอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (satellite) ซึ่งประเด็นหลักที่จะต้องเสนอให้บอร์ดพิจารณาในเดือนมกราคมนี้ คือ

  1. ทอท. จะแบ่งงสัญญาสัมปทานตามหมวดหมู่สินค้า (Concession by Category) หรือไม่ ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นระบุว่า การแบ่งหมวดหมู่สินค้ามีแนวโน้มทำให้สินค้าบางกลุ่มเกิดความสุ่มเสี่ยงด้านธุรกิจในระยะยาว
  2. การประมูลจะรวมพื้นที่สนามบินกี่แห่ง โดยปัจจุบันสัญญาสัมปทานและสัญญาดิวตี้ได้รวมพื้นที่ 4 สนามบิน ได้แก่ สุวรรณภูมิ, ภูเก็ต, เชียงใหม่ และหาดใหญ่ ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นก็ระบุว่า ถ้าหากแยกสัญญาสนามบินขนาดเล็กออกไปประมูลแบบเดี่ยวๆ ก็จะไม่คุ้มค่าและไม่มีผู้ประกอบการสนใจ เพราะสนามบินสุวรรณภูมิสร้างรายได้ถึง 80% จากรายได้ทั้งหมด แต่สนามบินหาดใหญ่ ซึ่งเป็นสนามบินขนาดเล็กที่สุด สร้างรายได้เพียง 0.4%

อย่างไรก็ตาม ทอท. ยังไม่ได้สรุปทีโออาร์ทั้งหมด เพราะต้องเสนอผลการศึกษาให้บอร์ดตัดสินใจก่อน ในเดือนมกราคมนี้

‘ดวงฤทธิ์’ ส่งใบยืนราคาค่าออกแบบถึงเดือน มี.ค. 62

นายดวงฤทธิ์ บุนนาค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด ในฐานะแกนนำนิติบุคคลร่วมทำงานดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก หรือ ‘กลุ่มดวงฤทธิ ‘ ผู้ชนะการประกวดออกแบบอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ในสนามบินสุวรรณภูมิ เปิดเผยว่า ทางกลุ่มยืนยันจะคงราคาค่าจ้างออกแบบไว้ที่ 329 ล้านบาทเท่าเดิม โดยใบยืนยันราคาฉบับเดิมมีอายุ 3 เดือนและกำลังจะหมดอายุลงในเดือนธันวาคมนี้

ทางกลุ่มจึงได้ส่งใบยืนยันราคาฉบับใหม่ไปแล้ว เพื่อยืนยันราคาไว้ที่ 329 ล้านบาทถึงเดือนมีนาคม 2562 และจะยืนยันราคาไว้เท่าเดิมจนกว่า ทอท. จะได้ข้อสรุป เนื่องจากการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 เป็นโครงการสำคัญและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ จึงต้องการให้โครงการดำเนินได้ต่อไป เพราะถ้าหากต้องประกวดแบบใหม่ ก็ต้องเสียเวลาอีกมาก

ขณะเดียวกันถ้าหาก ทอท. เปลี่ยนแปลงแบบหรือรายละเอียด ทางกลุ่มก็พร้อมจะปรับแบบและรายละเอียดตาม เนื่องจากแบบที่ใช้ในการประกวดก็เป็นเวลาประมาณ 1-2 ปี ซึ่งก็ค่อนข้างเก่าแล้ว และทางกลุ่มก็พร้อมปรับแบบตามความต้องการของผู้ใช้

ดวงฤทธิ์ 1

สายการบินเชียร์ขยายเทอร์มินอล 2 เพิ่มเป็น 40 ล้านคน

รายงานข่าวจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วันนี้ (19 ธ.ค.) ที่ประชุมบอร์ด ทอท. ได้เห็นชอบอัตราค่าจ้างนายนิตินัย สมรรถการ ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. เป็นสมัยที่ 2 และจะเสนอเรื่องให้กระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป โดยอัตราค่าจ้างของนายนิตินัยในสมัยที่ 2 ได้ปรับสูงขึ้น เพราะผลการประเมินและผลงานในสมัยที่ 1 อยู่ในระดับที่ดี

นิตินัย ศิริสมรรถการ
นิตินัย ศิริสมรรถการ

นอกจากนี้ บอร์ด ทอท. ได้เห็นชอบให้ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ต่อไป โดยให้ ทอท. ไปหารือกับสภาที่ปรึกษาสนามบินเรื่องขนาดอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 และให้เสนอเรื่องกลับเข้าบอร์ดภายในเดือนมกราคม 2562

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีสายการบินและผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบินบางกลุ่ม ได้เสนอให้ ทอท. ขยายความสามารถในการรองรับของอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 เพิ่มจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 35-40 ล้านคนต่อปี เพราะเห็นว่าอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ในปัจจุบันมีความแออัดมาก อีกทั้งการลงทุนอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ก็ล่าช้ามาระยะหนึ่งแล้ว จึงควรขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ให้ใหญ่ขึ้นและเพียงพอกับการขยายตัวในอนาคต

โดย ทอท. ได้รับความเห็นดังกล่าวไว้พิจารณา แต่ยังต้องประมวลผลและสรุปเรื่องอีกครั้ง เพราะสายการบินและผู้เกี่ยวข้องก็ได้ยื่นข้อเสนออื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้าหาก ทอท. รับข้อเสนอเรื่องขยายอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 เป็น 35-40 ล้านคนต่อปี ก็คงต้องปรับแบบอีกครั้ง

 

Avatar photo