Economics

ปตท.เท 3,000 ล้านพัฒนา EECi เปิดต่างชาติเช่าพื้่นที่ต่อ

บอร์ด ปตท.เตรียมพิจารณางบลงทุน 3,000 ล้านบาท 21 ธันวาคมนี้ เพื่อใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ในเขต  นวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ( EECi )  ปั้นเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีระดับประเทศและอาเซียน พร้อมเปิดโรดโชว์นักลงทุนต่างประเทศครั้งแรก ภายในครึ่งแรกของปี 2562 ในงาน Dinner Talk พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ เน้นกลุ่มเป้าหมายบริษัทเอกชนที่ปตท.เคยซื้อสิทธิบัตรเกี่ยวกับนวัตกรรมใน 10-20 ประเทศ ชูประเทศได้ประโยชน์จากลดขาดดุลการซื้อสิทธิบ้ตร พร้อมช่วยดึงนักวิจัยไทยในต่างประเทศ กลับมาสร้างนวัตกรรมในประเทศไทย

ชาญศิลป์ ปตท.
ชาญศิลป์ ตรีนุชกร

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวรายละเอียดว่า นอกจากเงินลงทุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ EECi  ที่จะขออนุมัติบอร์ดวงเงิน 3,000 ล้านบาทแล้ว  ทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จะร่วมลงทุนอีก 1,000 ล้านบาท เพื่อสร้างอาคารต่างๆ รองรับ คาดว่าใช้เวลาก่อสร้างอีกประมาณ 2-3 ปีจะแล้วเสร็จ

สำหรับความคืบหน้าของการพัฒนา EECi นั้น ขณะนี้เริ่มชัดเจนแล้ว ดังนั้น ปตท.จะเริ่มโรดโชว์ในรูปแบบ Dinner Talk เพื่อเปิดให้นักลงทุนมาเช่าใช้พื้นที่สำหรับตั้งโรงงานวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของแต่ละบริษัท โดยสามารถใช้เครื่องมือวิจัยส่วนกลางร่วมกันได้

ปตท.คาดว่าจะเริ่มโรดโชว์ครั้งแรกในช่วงไตรมาสที่ 1 หรือ ไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 เป็นต้นไป โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายประมาณ 10-20 บริษัททั่วโลก อาทิ สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้

การโรดโชว์จะเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2562-2568 เพื่อให้นักลงทุนไทย และต่างชาติได้เห็นความก้าวหน้าในการพัฒนาพื้นที่ EECi กว่า 3,500 ไร่

พื้นที่แบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย

  1. Community Zone 
  2. Innovation Zone
  3. Education Zone

นายชาญศิลป์ กล่าวด้วยว่า หากโครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จ จะช่วยให้ไทยลดการขาดดุลการค้า กรณีต้องซื้อสิทธิบัตรการใช้นวัตกรรมของต่างประเทศ เปิดโอกาสให้นักวิจัยของไทยกลับเข้ามาสร้างสรรค์นวัตกรรมให้ประเทศตนเอง สร้างงานสร้างรายได้ให้คนไทยต่อไป

EECi ถือเป็นทิศทางกลยุทุธ์ของ ปตท. ที่มุ่งสู่ New S-Curve ด้วย Innovation บนพื้นที่ที่มีความเหมาะสม สามารถมาพัฒนาเป็นเขตนวัตกรรม โดยมีสถาบันการศึกษา 2 แห่งที่ปตท.ร่วมจัดตั้ง ประกอบด้วย สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS)  ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และโรงเรียนมัธยม เปิดดำเนินการอยู่แล้วในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2556 ปัจจุบันได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและนานาชาติ

นอกจาก EECi จะอยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง และมีการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์มารองรับอย่างเป็นระบบแล้ว บริเวณใกล้เคียงยังมีศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ 351 ไร่ ซึ่งปตท. เริ่มดำเนินการในปี 2558 เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่รวบรวมองคค์วามรู้จากประสบการณ์การดำเนินโครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ทั่วประเทศ และได้รับการขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (T-VER) สาขาป่าไม้

Avatar photo