Opinions

ไม่มีอะไรฟรี! ‘ราคา’ที่ต้องจ่ายของการละเมิดลิขสิทธิ์

Avatar photo
927

การส่งข้อมูลดิจิทัลที่รวดเร็วช่วยให้การเข้าถึงคอนเทนท์ละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์สามารถทำได้อย่างง่ายดาย ในหมู่ผู้ใช้งานบางกลุ่มมีความคิดประมาณ “หาดูฟรีได้ทำไมต้องจ่าย” ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากยุคอินเทอร์เน็ต ทำให้คุณค่าของผลงานจากศิลปิน นักดนตรี ผู้กำกับ นักแสดง และคนอื่นๆที่อยู่ในอุตสาหกรรมบันเทิงนั้นด้อยค่าลง

ระบบนิเวศน์ของเทคโนโลยีการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือความผิดทางอาญา การละเมิดลิขสิทธิ์คือการกระทำขององค์กรอาชญากรรม โดยได้รายได้อย่างมากมายมหาศาล จากการจัดหาคอนเทนท์ที่ถูกขโมยมา หลายองค์กรอาชญากรรมและตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระจายคอนเทนท์ละเมิดลิขสิทธิ์แบบขายส่งมักมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมอื่นๆ และมีความเป็นไปได้สูงที่เงินส่วนหนึ่งจากอาชญากรรมนี้ถูกนำไปก่ออาชญากรรมประเภทอื่นๆ

บริการสตรีมมิ่งโดยละเมิดลิขสิทธิ์เว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น (APK) เป็นวิธีที่นิยมใช้ในปัจจุบันในการสร้างรายได้จากคอนเทนท์ที่ถูกขโมย จากงานวิจัยล่าสุดที่ดำเนินการโดย YouGov จากสหราชอาณาจักรพบว่ามีการใช้อุปกรณ์สตรีมมิ่งผิดกฎหมาย (Illicit Streaming Devices, ISDs) หรือเป็นที่รู้จักในอีกชื่อกล่องแอนดรอยด์ หรือกล่อง IPTV เป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่ผู้บริโภคคนไทย

ภาพจาก pixabay
ภาพจาก pixabay

งานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนโดยหน่วยงานที่ชื่อว่า พันธมิตรเพื่อการต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ (Coalition Against Piracy หรือ CAP) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ สมาคมอุตสาหกรรมวิดีโอแห่งเอเชีย (Asia Video Industry Association หรือ AVIA ) จากผลการสำรวจล่าสุดพบว่า 45% ของผู้บริโภคไทยใช้กล่อง ISDs ในการเข้าถึงคอนเทนท์ที่เป็นช่องทีวีและวิดีโอออนดีมานด์ ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้ใช้ 21% คนยอมรับว่าได้ยกเลิกบริการแบบบอกรับสมาชิกแบบถูกกฎหมายในเวลาต่อมา

กล่องสตรีมมิ่ง (ISD) คือ กล่องทีวี ที่ถูกกำหนดค่าด้วยแอพพลิเคชั่น (APK) ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถสตรีมมิ่งคอนเทนท์จากเซิร์ฟเวอร์สตรีมมิ่งที่ผิดกฎหมายได้การกำหนดค่ากล่องทีวีด้วยวิธีนี้ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงคอนเทนท์ทีวีแบบพรีเมียม เช่น รายการกีฬาและภาพยนตร์ด้วยการจ่ายเงินเพียงครั้งเดียวเป็นค่าอุปกรณ์และบ่อยครั้ง บวกค่าสมาชิกหนึ่งปี รายได้ก็หมุนไปสู่กระเป๋าของอาชญากร ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบองค์กรหรือบุคคลที่หากำไรจากอาชญากรรมดังกล่าว

จากความง่ายในการใช้ กล่อง ISD ทำให้ความนิยมในการบริโภคคอนเทนท์ที่ไม่ได้รับอนุญาตที่หาดูได้ฟรีหรือราคาถูกมาก บวกกับกล่อง ISD หาซื้อได้ง่ายจากห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ หรือร้านค้าออนไลน์ ทำให้กล่องเหล่านี้ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นสำหรับคนไทย

ความเสียหายต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่เกิดจากการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นไม่อาจโต้เถียงได้ อย่างไรก็ตามเพิ่งจะมีการรับรู้ความเสียหายที่มีต่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นผลอันเนื่องมาจากความเกี่ยวข้องระหว่างคอนเทนท์ละเมิดลิขสิทธิ์กับมัลแวร์เมื่อเร็วๆนี้ (ก.ย. 2561) สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรปได้ออกรายงานเกี่ยวกับมัลแวร์ที่พบบนเว็บไซต์หลายเว็บที่คาดว่าละเมิดลิขสิทธิ์และได้ข้อสรุปว่าเว็บไซต์ดังกล่าว “แพร่กระจายมัลแวร์ประเภทต่างๆ โดยการหลอกล่อให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดและเปิดไฟล์”

งานวิจัยชิ้นนี้ซึ่งได้ร่วมงานใกล้ชิดกับศูนย์อาชญากรรมไซเบอร์แห่งยุโรปที่ยูโรโพล (Europol) ได้ข้อสรุปว่า “ภัยคุกคามของมัลแวร์ที่แพร่กระจายผ่านเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์นั้นมีความซับซ้อนกว่าที่เราเห็น”

ผู้บริโภคชาวไทยจำนวนมากกำลังประสบปัญหาในการใช้อินเทอร์เน็ตที่ไม่มีกฎหมายใดควบคุม รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานที่โตมาในยุคเทคโนโลยี บริษัทที่ดูแลด้านความปลอดภัยไซเบอร์ชื่อ Bitdefender กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่ติดอันดับ 11 ของโลกในด้านการโจมตีทางไซเบอร์

นอกจากนี้บริษัทพลาโตอัลโตเน็ตเวิร์คยังกล่าวว่า ไทยยังเป็นประเทศที่อยู่ในจุดเสี่ยงสำหรับมัลแวร์ที่ใช้สำหรับขุด cryptocurrency ด้วยไทยมีฐานผู้ใช้งานที่ชอบ “คลิกเพื่อรับชม” (click happy) ทำให้เว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์และ APK ถูกใช้มากขึ้นในการแพร่กระจายมัลแวร์ที่เป็นอันตรายดังกล่าว

เว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่ได้รับความนิยม ซึ่งรวมถึง Pirate Bay ถูกพบว่าได้มีการฝังซอฟต์แวร์หรือสคริปต์ในการทำเหมือง (สำหรับขุดสกุลเงินคริปโต) ไว้ในเว็บไซต์เพื่อใช้ CPU ของผู้ใช้ในการสร้างรายได้ให้แก่เจ้าของเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์

ปีที่แล้ว Netflix APK ปลอมถูกพบโดยผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์ซึ่งฝังอยู่พร้อมกับโทรจันควบคุมระยะไกล (Remote Access Trojan, RAT) ซึ่งสามารถควบคุมอุปกรณ์ของผู้ใช้รวมถึงกล้องวิดีโออีกด้วย APK ปลอมที่ถูกพบดังกล่าวถูกดาวน์โหลดจากแหล่งที่ไม่ใช่แหล่งถูกกฎหมายประเภท Google Play ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อถ่ายวิดีโอหรือรูปถ่ายของเหยื่อ รวมถึงการขโมยพาสเวิร์ด รายชื่อเพื่อนในอีเมล์รวมถึงอ่านข้อความในเครื่องของเหยื่อ

ในเดือนมีนาคมปีนี้ พบว่ามีแฮ็กเกอร์ฝังสปายแวร์ RAT ไวรัสที่ติดตั้งไว้ในโปรแกรมซับไทเทิลของภาพยนตร์ที่สามารถดาวน์โหลดได้ผ่านกล่อง ISD ที่ใช้โปรแกรมมีเดียเพลเยอร์ที่เรียกว่า “Kodi” โปรแกรมเล่นวิดีโอที่ใช้ในกล่อง Kodi มีความเสี่ยงต่อการติดมัลแวร์และมักตกเป็นเป้าหมายของแฮ็กเกอร์

เจตนาหลักของของผู้ปล่อยมัลแวร์เหล่านี้ คือเพื่อเป็นการเยาะเย้ย ล่อหลอก รวมถึงการทำให้เหยื่อ ซึ่งส่วนมากเป็นหญิงสาวอับอาย กิจกรรมอันชั่วร้ายนี้มักนำไปสู่การกรรโชกทรัพย์และการข่มขู่ในเรื่องเพศ (sextortion) แตกต่างจากกล่องที่ผลิตโดยแพลตฟอร์มถูกกฎหมาย ซึ่งมีกล่อง ISD ไม่มากที่มีกลไกในการอัพเดทซอฟต์แวร์ของกล่องเมื่อมีการตรวจพบมัลแวร์ต้องสงสัย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ากล่อง ISD เถื่อนเป็นกับดัก RAT สำหรับผู้บริโภคเลยก็ว่าได้

ภัยคุกคามของมัลแวร์และแฮ็กเกอร์ที่มุ่งเป้าไปที่ระบบนิเวศน์ของการละเมิดลิขสิทธิ์กับผู้ใช้งานที่พร้อมจะคลิกทุกอย่างเพื่อรับชมคอนเทนท์ที่ต้องการนั้นต้องอาศัยความเข้าใจจากภาครัฐและผู้มีส่วนได้เสีย ดังคำกล่าวที่ว่ารักษาสุขภาพให้แข็งแรงดีกว่าต้องมารักษาตัวในยามเจ็บป่วย ดังนั้นครอบครัวไทยควรได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนก่อนการตัดสินใจและสามารถป้องกันตัวเองและครอบครัวจากภัยมืดของอินเทอร์เน็ต

โดยควรติดตั้งแอพและ add-on บนอุปกรณ์จากแหล่งที่น่าเชื่อถือเท่านั้น ตรวจสอบให้แน่ใจว่าซอฟต์แวร์บนอุปกรณ์โดยเฉพาะแอนตี้ไวรัสและ firewall ได้รับการอัพเดท รวมถึงควรปิดเลนส์กล้องวิดีโอไว้เมื่อไม่ได้ใช้งานและสุดท้ายหลีกเลี่ยงเว็บละเมิดลิขสิทธิ์และ APKs เพราะเพียงพริบตาที่ผู้ใช้เข้าไปยังเว็บไซต์ที่เสนอคอนเทนต์ละเมิดลิขสิทธิ์ “ฟรี” หรือเพียงจ่ายค่าสมัครถูกๆ ผู้ใช้ก็มีความเสี่ยงที่จะติดมัลแวร์สูงมาก

บางครั้งการดาวน์โหลดหรือสตรีมมิ่งคอนเทนท์ที่ “หาดูฟรีได้ทำไมต้องจ่าย” อาจมาพร้อมกับราคาอย่างอื่น ซึ่งมัลแวร์มักเป็นราคาที่ซ่อนมากับการละเมิดลิขสิทธิ์

บทความโดย นีล เกน ผู้จัดการทั่วไปของพันธมิตรเพื่อการต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ (CAP) ภายใต้สมาคมอุตสาหกรรมวิดีโอแห่งเอเชีย (Asia Video Industry Association,AVIA)