Finance

บจ.แห่โกยหุ้นก้อนโตเข้าพอร์ตเสริมแกร่งธุรกิจ

ในรอบปี 2561 ดัชนีราคาหุ้นไทยผันผวนแรง และราคาหุ้นส่วนใหญ่ปรับลดลง  ดังนั้น จึงเป็นจังหวะเหมาะสม หากบริษัทจดทะเบียนจะต้องเข้ามาลงทุน เพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นเพิ่มขึ้น จนมีบริษัทบางแห่งเข้ามาซื้อหุ้นในสัดส่วนที่สูงขึ้นจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ภายหลังจากการทำรายการในครั้งนี้

ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ในแบบรายงานได้มาและจำหน่ายหลักทรัพย์ ตั้งแต่ต้นปี 2561 พบว่า มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย 6 บริษัทได้ทำรายการซื้อหุ้นขนาดใหญ่ จนทำให้การถือครองหุ้นเกินระดับ 5%  หรือบางแห่งอาจส่งผลให้มีสัดส่วนการถือครองหุ้นเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ใน 5  ประกอบด้วย

บจ.ที่ทำรายการซื้อหุ้นก้อนโต 01

บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA รายงานการซื้อหุ้นของบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือBAFS จำนวน 9.47% ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นเป็น 9.50% ซึ่งหากพิจารณาจากโครงสร้างผู้ถือหุ้นจะเห็นว่า BAจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ของBAFS

บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN รายงานการซื้อหุ้นของบริษัท บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC จำนวน 22.93% ส่งผลให้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ของหุ้น DTC

บริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) หรือ FNS รายงานการซื้อหุ้นของบริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) หรือ MK จำนวน 5.89% ทำให้การถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 16.32% และมีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2

บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPI ทำรายการซื้อหุ้นบริษัท สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน) หรือSCG จำนวน  4% ทำให้สัดส่วนถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 20.88% ซึ่งยังคงรักษาสัดส่วนการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ไว้

บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD ทำรายการซื้อหุ้นบริษัทเงินทุน กรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน) หรือ BFIT และปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทเงินทุน ศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน)  จำนวน 8.39% ทำให้สัดส่วนถือหุ้นเพิ่มเป็น 45.34%

บริษัท ไทยลักซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TLUEX ทำรายการซื้อหุ้นบริษัท สตาร์ ซานิทารีแวร์ จำกัด (มหาชน) หรือSTAR ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท สตาร์ ยูนิเวอร์แซล เน็ตเวิร์ค จำกัด (มหาชน) จำนวน 1.73% สัดส่วนถือหุ้นเพิ่มเป็น 11.67%ซึ่งกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2

บริษัท ระยองไวร์ อินดัสตรีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ RWI ซื้อหุ้นบริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน) EMC จำนวน 0.18% ถือหุ้นเพิ่มเป็น 15.12%

ทั้งนี้  บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ถือเป็นบริษัทที่มีการทำรายการซื้อหุ้นเกินระดับ 5% มากที่สุดในปี 2561 โดยเริ่มจากรายงานการซื้อหุ้นบริษัท ทรีซิกตี้ไฟว์ จำกัด (มหาชน) หรือ TSF จำนวน 0.94% ทำให้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 5.74%

set30

ต่อมาซื้อหุ้นบริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ U จำนวน 17.52% ทำให้สัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 38.96%

ถัดมาซื้อหุ้นบริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ VGI จำนวน 0.48% ทำให้สัดส่วนถือหุ้นเพิ่มเป็น 70.10% และรายงานการซื้อหุ้นบริษัท บางกอก เดค-คอน จำกัด (มหาชน) หรือ BKD จำนวน 6.69% ทำใหสัดส่วนถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 8.42%

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ในปีนี้ การที่ BTS ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่ง เนื่องจากต้องการนำไปต่อยอดธุรกิจให้ครบวงจร โดยเฉพาะธุรกิจสื่อโฆษณา ขณะเดียวกันเป็นการสร้างรายได้ในธุรกิจอื่นๆเพิ่มเติมนอกจากรายได้ที่มาจากธุรกิจรถไฟฟ้าเท่านั้น ซึ่งผลของการเข้าไปลงทุนจะเริ่มทยอยเห็นในอนาคต รวมถึงเป็นการเพิ่มมูลค่าหุ้น BTS อีกด้วย

บล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุว่า BTS น่าจะมีคุณสมบัติเป็นหุ้น Defensive ที่มีการเติบโตกว่า 30% ต่อปี เนื่องจากแนวโน้มจากนี้ ผลกำไรระดับไตรมาส คาดยกตัวขึ้น 15-30% ซึ่งฝ่ายวิจัยประเมินทิศทางกำไร จะยกระดับจาก 300 – 400 ล้านบาทต่อไตรมาสไปเป็น 400 – 500 ล้านบาทต่อไตรมาสได้ เนื่องจากการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายตอนใต้ในเดือนธันวาคม 2561 คาดจะเร่งรายได้การดำเนินงานและการบำรุงรักษา หรือ O&M อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเป็นส่วนที่ยาวถึง 12.8 กิโลเมตร และ วงเวียนใหญ่ฯ 5.3 กิโลเมตร และ อ่อนนุชฯ 5.3 กิโลเมตร

set25 1

ขณะที่ฤดูกาลการโฆษณาในช่วงปลายปี และรวมถึงการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า และกลุ่มบริษัทใหม่ที่ BTS VGI และ MACO เข้าไปร่วมถือหุ้น จะเริ่มส่งกำไรย้อนกลับเข้ามาเต็มที่ ขณะที่โครงสร้างสัมปทานรถไฟฟ้าเส้นใหม่ที่กำลังก่อสร้างนั้น เป็นโครงการที่ภาครัฐสนับสนุนเงินก่อสร้างบางส่วน (Subsidy) ทำให้ระหว่างนี้ในทางบัญชี BTS จะมีรายได้ดอกเบี้ยค้างรับหล่อเลี้ยงงบกำไรขาดทุนทำให้ไม่เป็นภาระระหว่างนี้

บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุว่า แม้กลุ่ม บริษัทร่วมทุน BSR (BTS+STEC) จะแพ้ประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน  แต่ฝ่ายวิจัยฯยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มที่ดีขึ้นในระยะยาวของ BTS จากโครงการที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงยังคงคำแนะนำซื้อลงทุน

“ฝ่ายวิจัยคงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มที่ดีขึ้นในระยะยาวของ BTS จากโครงการที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยรวมแล้วคาดว่าธุรกิจรถไฟฟ้าของของ BTS จะยังคงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกำไรของบริษัท ยังคงประมาณการกำไรปี 2562 –  63 เอาไว้ที่ 2.72 พันล้านบาท และ 3.99 พันล้านบาท ตามลำดับ สะท้อนถึงพัฒนาการด้านบวกของ platform ของ BTS”

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight