Media

ถึงคิว!! ‘ไทยรัฐ’ประกาศลดคน เปิดสมัครใจลาออก

หลังจากมีกระแสข่าวช่วงต้นเดือนนี้ ว่าสื่อสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่ “ไทยรัฐ” เตรียมปรับลดพนักงานสื่อหนังสือพิมพ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในอุตสาหกรรมสื่อปัจจุบัน

ไทยรัฐ

ล่าสุด นางยิ่งลักษณ์ วัชรพล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วัชรพล จำกัด เจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้ออกประกาศลงวันที่ 6 ธันวาคม 2561 เรื่องโครงการลาออกด้วยความสมัครใจ โดยได้รับความช่วยเหลือ

โดยเนื้อหาของประกาศระบุว่า ด้วยปัจจุบันสถานการณ์สิ่งพิมพ์ของ บริษัท วัชรพล จำกัด ต้องเผชิญกับความท้าทายต่อสภาวะเศรษฐกิจและพฤติกรรมการบริโภคสื่อของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้สภาพทางธุรกิจของบริษัท ไม่เป็นไปตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าบริษัทจะได้พยายามประคับประคองธุรกิจสิ่งพิมพ์ในทุกวิถีทางอย่างถึงที่สุดแล้วก็ตาม บริษัทมีความจำเป็นต้องลดโครงสร้างและอัตรากำลังคน เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินการต่อไปได้

บริษัทจึงมีนโยบายให้พนักงานสมัครเข้าโครงการลาออกด้วยความสมัครใจ โดย โดยได้รับความช่วยเหลือ มีรายละเอียดตามประกาศ ดังนี้

ไทยรัฐ

วัตถุประสงค์ของโครงการ

  • เพื่อให้บริษัทสามารถบริหารอัตรากำลังภายในองค์กรของแต่ละสาย/ฝ่าย อย่างเหมาะสมมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับนโยบายของบริษัท
  • เพื่อปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนบุคลากร และลดภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรโดยรวมในระยะยาว

หลักการของโครงการ

  • เป็นความประสงค์และสมัครใจร่วมกันทั้งสองฝ่าย ระหว่างบริษัทกับพนักงานที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ
  • เป็นสิทธิ์ฝ่ายเดียวของบริษัท ในการอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้พนักงานลาออกตามโครงการ โดยเฉพาะตำแหน่งงานหลัก (Key Position) และตำแหน่งงานสำคัญ (Critical Position) ที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์และใช้ความรู้และประสบการณ์เฉพาะที่ไม่สามารถหาผู้ปฏิบัติงานแทนได้ และหรืออาจส่งผลเสียต่อธุรกิจของบริษัท
  • กรณีที่มีผู้เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก จนทำให้มีค่าใช้จ่ายเกินกว่างบประมาณที่ได้รับอนุมัติ บริษัทสงวนสิทธิ์ที่จะพิจารณาคัดเลือกตามเกณฑ์ที่บริษัทกำหนด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่บริษัท ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
  • บริษัทจะไม่รับพนักงานที่ได้รับอนุมัติเข้าร่วมโครงการกลับเข้าทำงานในฐานพนักงาน หรือลูกจ้างของบริษัท รวมทั้งบริษัทในเครืออีก
    คุณสมบัติของพนักงานที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ
  • พนักงานสังกัดบริษัทวัชรพล จำกัด ทุกระดับ ที่ได้รับการบรรจุเป็นพนังงานประจำ

วิธีการดำเนินการ

  • พนักงานที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ ให้กรอกรายละเอียดในแบบฟอร์มหนังสือและแสดงความประสงค์ ได้ที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ตั้งแต่วันที่ 17-30 ธันวาคม 2561
  • ฝ่ายทรัพยากรบุคคล จะพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติพนักงาน ที่ยื่นความประสงค์เข้าร่วมโครงการและจัดทำรายชื่อ เพื่อนำเสนอในการพิจารณาของสายบังคับบัญชา ตามขั้นตอนต่อไป
  • ผลการพิจารณาอนุมัติจากประธานกรรมการบริหาร ให้ถือเป็นที่สิ้นสุด

ไทยรัฐ

ผลประโยชน์ตอบแทนตามโครงการ
เงินช่วยเหลือตามอายุงาน โดยให้นับอายุงานตั้งแต่วันที่เข้าทำงานกับบริษัทจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2562  และเงินช่วยเหลือพิเศษอีก 30 วัน

  • อายุงานครบ 120 วันขึ้นไป แต่ไม่ครบ 1 ปี เงินช่วยเหลือเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
  • อายุงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี เงินช่วยเหลือเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
  • อายุงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี เงินช่วยเหลือเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
  • อายุงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี เงินช่วยเหลือเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน
  • อายุงานครบ 10 ปีขึ้นไป เงินช่วยเหลือเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน

พนักงานที่ได้รับการพิจารณาอนุมัติให้ออกตามโครงการ จะได้รับเงินช่วยเหลือในวันที่ 30-31 มกราคม 2562 และกำหนดให้พ้นสภาพการเป็นพนักงานในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562

โฆษณาหนังสือพิมพ์

สื่อสิ่งพิมพ์ 10 ปีเม็ดเงินหาย “หมื่นล้าน”

สถานการณ์สื่อสิ่งพิมพ์เผชิญการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาและพฤติกรรมผู้บริโภค ที่เสพสื่อดั้งเดิมรวมทั้งหนังสือพิมพ์ลดลง จนทำให้เม็ดเงินโฆษณาหดตัวตลอดช่วง 10 ปีนี้

หากพิจารณามูลค่าโฆษณากลุ่มสื่อสิ่งพิมพ์ ที่รายงานโดย นีลเส็น ประเทศไทย และการคาดการณ์ปี 2561-2562 และการคาดการณ์ของ สมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย  MAAT  ทั้งหนังสือพิมพ์และนิตยสาร  ช่วง 10 ปีนี้  พบว่าปี 2553 โฆษณา “หนังสือพิมพ์” มีเม็ดเงินโฆษณาแตะ 15,000 ล้านบาท เติบโต  6.01%  โดยปี 2556 มีมูลค่าสูงสุด 15,258 ล้านบาท  เติบโต 0.49%

แต่นับจากปี 2557 ที่สื่อโซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลในอุตสาหกรรมโฆษณา จากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นระดับ 40 ล้านคน รวมทั้งอุตสาหกรรมสื่อมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ จากการเกิดขึ้นของ “ทีวีดิจิทัล” ช่องใหม่ 24 ช่อง และเหลือ 22 ช่องในปัจจุบัน  ส่งผลต่อทั้งพฤติกรรมผู้ชมทีวี ที่กระจายตัวทั้งทีวีดิจิทัลช่องใหม่และสื่อออนไลน์ ทำให้เม็ดเงินโฆษณาสื่อดั้งเดิมชะลอตัวลง

งบโฆษณาสื่อสิ่งพิมพ์ ตั้งแต่ปี 2557 ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด  โดยโฆษณาหนังสือพิมพ์ มูลค่าอยู่ที่ 13,166  ล้านบาท  ลดลง 13.7%   ปี 2558  มูลค่า 12,332 ล้านบาท ลดลง 6.45%  ปี 2559  มูลค่า 9,843 ล้านบาท ลดลง 20.12%  และปี 2560 มูลค่า  7,706 ล้านบาท ลดลง 21.82%

สำหรับปี 2561  MAAT คาดการณ์โฆษณาหนังสือพิมพ์อยู่ที่ 6,100 ล้านบาท ลดลง 21%  และปี 2562  มูลค่าอยู่ที่ 4,575 ล้านบาท ลดลง 25%

จากสื่อโฆษณาที่ครองอันดับ 2 ของอุตสาหกรรมโฆษณามากว่า 20 ปี  หากเป็นไปตามคาดการณ์ของ MAAT  ปี 2562 โฆษณาหนังสือพิมพ์ จะร่วงไปอยู่อันดับ 7 รองจาก ทีวี, อินเทอร์เน็ต, สื่อกลางแจ้ง, สื่อในโรงภาพยนตร์ ,สื่อที่ใช้ในการเดินทาง และสื่อวิทยุ

สถิติมูลค่าโฆษณาหนังสือพิมพ์ที่เคยสูงสุดในปี 2556 ที่ 15,258 ล้านบาท และทิศทางยังอยู่ในช่วง “ขาลง” ในปี 2562 จะเห็นได้ว่าช่วง  10 ปีนี้ เม็ดเงินโฆษณาหายไปกว่า “หมื่นล้านบาท”

ปี 2562 โฆษณาสื่อหนังสือพิมพ์และนิตยสารยังคงลดลงต่อเนื่องในอัตรา 25-30% ขณะที่สื่อโฆษณาอื่นๆ เริ่มฟื้นตัว

ที่ผ่านมาสื่อสิ่งพิมพ์ ได้มีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ด้วยการขยายไปยังช่องทางออนไลน์ แต่เนื่องจากรายได้จากโฆษณาออนไลน์ยังอยู่ในอัตราต่ำ เมื่อเทียบกับสื่ออื่นๆ  และยังมีต้นทุนสูงจากสื่อดั้งเดิม หลังจากนี้ยังคงเห็นการปรับตัวของสื่อสิ่งพิมพ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างโอกาสหารายได้และอยู่รอด!!

Avatar photo